ชีวิต คือ การดำเนินไปของเหตุการณ์ต่างๆ
อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่อาจจะสะดุด เพราะมีความแตกต่าง
เช่น ดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขอยู่ดีๆ แต่กลับมีคลื่นชีวิตที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป
เหมือนสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา หลายคนสูญเสียงาน สูญเสียกิจการ สูญเสียบ้าน รถ หรือแม้แต่คนที่รักไป
เป็นสถานการณ์ที่โลก และชีวิตเรา ต้องเผชิญกับความแปลกแตกต่าง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
เดินทางข้ามจังหวัด ข้ามประเทศกันไม่ได้ ห้ามอยู่ใกล้ๆ กัน ทุกคนต้องสวมใส่ หน้ากากอนามัย ใช้ชีวิตอยู่กับที่ ด้วยการ Work From Home เรียนทาง online
บริษัทใหญ่โตนับร้อยๆ ปี ต้องปิดกิจการ บางอาชีพที่มั่นคงและเป็นที่ต้องการสุดๆ ก่อนหน้านี้ เช่น ในธุรกิจการบิน กลับต้องตกงานกลางอากาศ
ทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบใหม่ New Normal เพื่อความปลอดภัยและอยู่รอด
แล้วเราจะอยู่ต่อไปอย่างไร ถ้าโควิดหายไป หรือยังอยู่ เหมือนรอยต่อของความต่าง จะเชื่อมโยงให้มันต่อเนื่องกันอย่างไร
วิธีการนั้นอยู่ที่ความคิด ถ้าตราบใดวันนี้ เรายังมีชีวิต มันก็ต้องมีทางไป
“เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่ล่มสลาย
มันอาจเป็นจุดที่พังทลาย
หรือเป็นจุดที่เราจะเริ่มต้นใหม่
ให้ชีวิตก้าวต่อไป ไม่เหมือนเดิม”
ขณะที่บางคน อับจนสิ้นปัญญา หมดหนทางไป คิดว่าสิ่งที่สร้างมาตลอดชีวิตวันนี้ มันแทบไม่เหลืออะไร ก็คิดได้
แต่บางคน กลับเอาเหตุการณ์ร้ายๆ ครั้งนี้ มาเป็น ขวัญ กำลังใจ เอามาเป็น จุดเปลี่ยน (turning point) ให้ได้
ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ คิดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผลที่ได้ คือชีวิตแตกต่างไปจากเดิม เพราะ เมื่อเปลี่ยนที่วิธีการ ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยนแปลง
นี่คือหนึ่งในวิธีการ สร้างรอยต่อในความแตกต่าง
หรือบางที เวลาผมไปบรรยายให้องค์กรต่างๆ จะได้รับข้อมูล Training Need หลายครั้งที่เหมือนกัน คือ
องค์กรตอนนี้ มีคนหลาย Generation มาก มีทั้งพนักงานที่รับมาใหม่ และพนักงานที่ใกล้จะเกษียณ บางทีการทำงานร่วมกันอาจเกิด ช่องว่างความไม่เข้าใจ และเกิดปัญหาในการทำงานเป็นทีมกันบ่อยครั้ง
รอยต่อของช่วงวัย หรือ Generation Gap จะเกิดขึ้นได้ถ้าขาดความเคารพและเข้าใจกัน
ถ้าภายในของคนทั้งสองวัย แค่ในใจมีความรู้สึกที่ดีเป็นตัวนำ ปัญหาต่างๆ ก็สามารถลดลงได้
คนที่มีวัยวุฒิ น้อยกว่า แม้มีตำแหน่ง เงินเดือนสูงกว่า คนที่อาวุโส ถ้ามีใจคิดสักนิด ว่าอายุคนที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ใช่แค่เพียงตัวเลข แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาตามอายุงาน คือประสบการณ์ที่คนคนนั้นสั่งสมมาตลอดชีวิต
ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ บางทีก็ไม่มีในตำรา ทั้งนอก ในประเทศ ทั้งปริญญาเอก ปริญญาโท
บางคนทำงานผ่านสิ่งต่างๆ มา จนแทบสามารถเอาไปเขียนเป็นตำราได้เลยก็มี
แล้วประสบการณ์และอายุเป็นสิบๆ ปี จะขึ้นมาทันทีก็ไม่ได้ มันต้องใช้เวลา
แต่คนที่อาวุโสน้อย สามารถเรียนลัด ข้ามเวลา ด้วยการปรึกษา ขอความรู้ คำชี้แนะจากคนที่มีประสบการณ์การทำงานมามากมายเหล่านี้
คิดอย่างนี้ได้ จะไม่มัวแต่คอยดูถูกว่าอีกฝ่ายเก่าแก่เป็น Dead Wood ล้าสมัย ใช้แต่วิธีการเดิมๆ
ส่วนผู้อาวุโสทั้งหลาย ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก็ให้เปิดใจ เปิดตาดู เปิดหูรับฟัง อะไรใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ แล้วพร้อมจะปรับเปลี่ยนแก้ไข ถ้ามันทำให้ประสิทธิภาพของงานก้าวหน้า ไม่ใช่เอาแต่คิดว่า ของเดิมมันจะดีเสมอมา เพราะว่าทำมานาน
ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือเรื่องเพศ วัย วุฒิการศึกษา ย่อมจะมีอะไรที่แตกต่างทุกอย่าง ไม่ได้ราบเรียบเสมอไป
สิ่งที่จะเชื่อมรอยต่อความแตกต่างได้ คือ การให้ความรัก ความเข้าใจ และปรารถนาดีจากใจ ให้รอยต่อต่างๆ นั้น ไม่ห่างออกไปและกลับมาเชื่อมต่อใหม่ได้ดังเดิม
คอลัมน์: ก้าวไกลไปข้างหน้า
เรื่อง: จตุพล ชมภูนิช
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์