วิธีอยู่ในความต่างอย่างเข้าใจ

-

แตกต่างไม่ใช่แตกแยก 

ความแตกต่างคือความสวยงาม 

จงมองความแตกต่างอย่างเข้าใจ 

ถ้าโลกนี้มีอะไรที่เหมือนกันไปหมด คงน่าเบื่อน่าดู เช่นทั้งโลกมีสีอยู่แค่สีเดียว ผู้คนหน้าตาเหมือนๆกัน สูงต่ำเท่าๆ กัน นิสัยใจคอก็เหมือนกัน 

ไม่ใช่เหมือนดูหนังเรื่องเดียวแต่ซ้ำกันไปมา แต่เหมือนกับ มีภาพนิ่งภาพเดียวต้องดูซ้ำๆ ไปตลอดชีวิต คิดดูว่าชีวิตจะน่าอยู่หรือไม่ 

แต่โลกจริงๆ ก็เต็มไปด้วยความแตกต่าง  

แม้บางอย่างอาจจะไม่ได้อย่างใจ  

แต่ถ้าเข้าใจ คืออยู่กับโลกใบนี้ไม่ยาก 

วิธีอยู่กับความแตกต่างอย่างเข้าใจมีดังต่อไปนี้ 

  1. ทำความเข้าใจ 

คือต้องเข้าใจก่อนว่าโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่ต้องเหมือนกันไปหมดทุกอย่าง 

คนก็รูปร่างหน้าตาต่างกัน รสนิยมความชอบ พฤติกรรม คำพูดก็แตกต่างกันไป ขนาดฝาแฝดเกิดพร้อมกัน เลี้ยงดูเติบโตมาพร้อมกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน นิสัยความนึกคิดยังไม่เหมือนกันเลย 

นับประสาอะไรกับคนที่ต่างพ่อต่างแม่ มาจากคนละที่จะให้มีอะไรเหมือนกับเราหรือเข้ากับเราได้ทั้งหมดนั้น เป็นไปไม่ได้ 

ดังนั้นเมื่อเห็นใครทำอะไรที่ต่างจากความคิดของเรา อย่ารีบตัดสินเขา แต่ให้พยายามทำความเข้าใจ 

  1. ลดความคาดหวัง 

ถ้าคาดหวังไว้ว่าต้องได้อย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา โอกาสผิดหวังเป็นไปได้มาก 

ทำไมเขาไม่คิดเหมือนเรา ทำไมเขาพูดแบบนั้น แต่งตัวอย่างนี้ได้ยังไง ใช้ชีวิตแบบนี้เมื่อไรจะสำเร็จ ถ้าเราคาดหวังว่าเขาต้องเป็นอย่างใจ พอเขาไม่ทำอะไรตามนี้ เราหวังไว้ก็จะผิดหวัง 

ฉะนั้น การลดความคาดหวังลงบ้าง จะทำให้เราอยู่กับความแตกต่างอย่างไม่ผิดหวังมาก 

  1. ฟังอย่างตั้งใจ 

ถ้าความคิดเห็นแตกต่างกันซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าแต่ละคนก็จะมีความคิดเป็นของตัวเอง 

เมื่ออยู่กับความคิดที่แตกต่างก็ให้ฟังกันอย่างตั้งใจ 

คือฟังว่าเขามีความคิดเห็นใดที่แตกต่าง เพราะอะไรเขาจึงคิดเช่นนั้น มีเหตุผลอะไรอยู่ในความคิดนั้น ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ดีก็ได้ ลองฟังอย่างตั้งใจดู 

ถ้ารับในบางเรื่องที่มีเหตุผลทีดีก็จะดีมาก เพราะบางเรื่องที่แตกต่างจากที่เราคิดไว้ เราอาจคิดไม่ถึง 

และขณะที่ฟังก็ให้มีปฏิกิริยาสนองตอบในทางบวก เช่น พยักหน้า มองตา ทบทวนใจความสำคัญ 

หรืออาจจะซักถามถ้าตรงไหนไม่เข้าใจ 

จงฟังเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อคิดว่าจะโต้แย้งกลับไปยังไง 

  1. หาจุดร่วม 

ท่ามกลางความแตกต่าง เราไม่จำเป็นต้องอยู่แบบไม่เห็นด้วยกับความต่างทั้งหมด 

แต่ให้ดูว่ามีอะไรที่เรารับได้ มีอะไรที่นำมาปรับใช้ประโยชน์ได้ก็ให้รับเอาไว้ 

เช่นถ้าเรามีทัศนคติคิดลบกับคนรวย เพราะคิดว่าคนรวยเห็นแก่ตัว คนรวยคิดแต่จะหาเงิน คนรวยมักทุจริต โกงเขามา 

แต่เขาเห็นต่างว่าไม่ควรรังเกียจคนรวย โดยเฉพาะคนที่รวยมาด้วยความสุจริต หรือรวยด้วยฝีมือตัวเอง self-made แต่ถ้าจะรังเกียจคนรวย ให้รังเกียจคนที่รวยขึ้นมาแบบไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีที่มาของแหล่งรายได้ที่ชัดเจน จนต้องตรวจสอบว่าเงินที่ได้มาถูกต้องหรือไม่ สุดท้ายพบว่ามาจากการค้ายาเสพติด หรือเจ้าของเว็บพนันออนไลน์ ถ้าเป็นคนรวยอย่างนี้น่ารังเกียจแน่ๆ 

พอเราฟังแล้ว มีเหตุมีผลว่าจะรังเกียจคนรวยเหมารวมทุกคนไม่ได้ ก็ให้เห็นด้วยกับเขาไป จะทำให้บรรยากาศ ความแตกต่างตึงเครียดลดลงได้ทันที  

  1. อย่าใช้อารมณ์ 

แน่นอนว่าถ้าเรามีคนเห็นต่าง  หรือเราเห็นความต่างจากที่เราคาดหวังหรือคิดเอาไว้  ย่อมจะไม่สบายใจเป็นธรรมดา 

แต่การใช้อารมณ์เมื่อไม่พอใจก็ไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นมา ยิ่งเอาตัวเองเป็นที่ตั้งโดยไม่สนใจความต่างใดๆ ก็จะกลายเป็นกระต่ายขาเดียว ยืนกรานไม่รับฟังความเห็นใดๆของใครทั้งนั้น 

และยิ่งมีอารมณ์ไม่พอใจ คำพูดจาก็ไม่น่าฟัง เพราะไม่มีเหตุผลเจือปน  หน้าตาดูแล้วก็ไม่น่าดุ เพราะขึงขังต้องการเอาชนะ จะส่งผลให้ความแตกต่าง เดิมเพิ่มขึ้นมาถึงความแตกแยกกันได้ในที่สุด 

การใช้อารมณ์ในการพิมพ์การพูดในโลกที่แตกต่างไม่ได้อย่างใจ ไม่ได้ช่วยให้เราอยู่ในโลกที่แตกต่างอย่างสงบ แต่มันจะเป็นสนามรบจนได้ 

อยู่กับโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างอย่าง รู้ทันและเข้าใจ เราจะอยู่ได้อย่างสบายเพราะความแตกต่างใดๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้เลย 


คอลัมน์: ก้าวไกลไปข้างหน้า

เรื่อง: จตุพล ชมภูนิช

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์ 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!