“…ในใจมีแต่ความหดหู่ รู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า ถ้าตายเสียได้ก็น่าจะดีกว่าอยู่อย่างนี้ ฟังคำสอนเรื่องการยอมรับและการทิ้งอัตตาแล้ว ดูเป็นนามธรรมที่ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าหากทำตามนั้นแล้วมันจะดีขึ้น”
โอเค หดหู่ซึมเศร้า เข้าวัดเข้าวาก็ไม่เก็ตเพราะมีแต่คำสอนที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ เรามาหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์กันดูนะ
วิทยาศาสตร์แสดงข้อมูลแน่ชัดแล้วว่า ขณะที่เรารู้สึกหดหู่อยู่ก็ดี กังวลอยู่ก็ดี เมื่อเจาะเลือดตรวจดูตอนนั้น จะพบสารเคมีกลุ่มหนึ่งเช่น คอร์ทิซอล อีพิเนฟริน หรือที่เราเรียกรวมๆ กันว่าฮอร์โมนเครียด (stress hormone) สูงขึ้นในกระแสเลือดเสมอ
งานวิจัยยังแสดงข้อมูลแน่ชัดด้วยว่า ขณะที่เราเกิดความรู้สึกดีๆ ผ่อนคลาย เบิกบาน เมื่อเจาะเลือดดู จะมีสารเคมีอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เอ็นดอร์ฟิน โดพามีน ออกซีโทซิน เมลาโทนิน เพิ่มขึ้นอย่างเป็นจังหวะจะโคนเสมอ แต่สารเคมีในกลุ่ม stress hormone กลับลดระดับลง
และงานวิจัยทางการแพทย์ก็แสดงข้อมูลแน่ชัดแล้วว่า กิจกรรมอะไรบ้างที่หากเราทำแล้วจะช่วยเพิ่มสารเคมีในกลุ่มเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งมีสามสี่กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
(1) การออกกำลังกายให้เต็มแรง คือเหนื่อยหอบแฮกๆ จนร้องเพลงไม่ได้
(2) การตากแดด หรือการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง (outdoor)
(3) การได้นอนหลับดีและพอเพียง
(4) การนั่งสมาธิ (meditation)
ทั้งสี่กิจกรรมนี้มีความเกี่ยวพันกันอยู่ เช่น หากเราออกกำลังกายจนเหนื่อยพอควร เราก็จะหลับง่ายขึ้น ถ้าเราขยันออกแดดเราก็จะหลับง่ายขึ้น
ดังนั้น ท่านจึงไม่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการไตร่ตรองตีความคอนเซปต์ “การยอมรับ” และ “การทิ้งอัตตา” แต่ขอให้ท่านลงมือทำสี่อย่างนี้ซึ่งมีงานวิจัยวิทยาศาสตร์สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอนว่าทำแล้วจะเกิดความรู้สึกดีๆ ที่ช่วยขจัดความรู้สึกหดหู่เอง
และที่ผมอยากให้ท่านทำอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อท่านทำกิจกรรมเหล่านี้ เช่นหลังการออกกำลังกายจนเหนื่อยพอควรแล้วเกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้น ให้ท่าน “ซึมซาบ” ความรู้สึกดีๆ นี้ไว้ให้นานเท่าที่จะนานได้ สัก 20 นาทียิ่งดี ให้ท่านรู้สึกจับใจอย่างลึกซึ้ง อย่างละเมียด ที่ผมแนะนำแบบนี้เพราะกลไกการเกิดความรู้สึกใดๆ ขึ้นในใจของเรานั้นเป็นผลจากการ “วนย้ำ” ความรู้สึกเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นกลไกปกติของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งวิทยาศาสตร์รู้จักและคุ้นเคยกันดี ทุกประสบการณ์คือการกรอเทปประสบการณ์ทั้งหลายในอดีต อุปมาเหมือนเวลาเราถ่ายวิดีโอแบบแพนกล้องไปเรื่อย ต้นไม้ ภูเขา ดอกไม้ ท้องฟ้า พอเราเอาไฟล์วิดีโอนั้นมากรอดู เราจะไม่เห็นอะไรโดดเด่น เพราะตอนกรอกลับเรากรอด้วยสปีดที่เร็วกว่าการฉายปกติเสมอ แต่ถ้าเราถ่ายวิดีโอนั้นแบบแพนกล้องไป พอมาถึงดอกไม้ เราก็จ่อกล้องค้างไว้ แบบที่พวกถ่ายหนังเขาเรียกว่าฟรีซเฟรม ก่อนแพนกล้องต่อไป พอกรอวิดีโอนั้นกลับเราจะเห็นดอกไม้โดดเด่นขึ้นมา เพราะเราแช่เฟรมอยู่ตรงนั้นครู่ใหญ่ตอนถ่ายวิดีโอ
คอลัมน์: สุขภาพ
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์