Delete : เมื่ออำนาจที่ยิ่งใหญ่ ไร้ความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

-

ไอเดียสำคัญในซีรีส์ Delete คือมือถือเครื่องหนึ่งที่ใช้ถ่ายรูปใครแล้วก็จะทำให้คนในรูปหายไปจากโลกทันที

คุณสมบัติของมือถือเครื่องนี้ทำให้ผู้ครอบครองมี “อำนาจทำให้คนสูญหายก็ไม่ต่างจากทำให้ตาย”เฉกเช่น Death Note ที่ผู้ครอบครองกำหนดให้ใครตายก็ได้เพียงเขียนชื่อลงสมุด หรืออำนาจดีดนิ้วแบบ Thanos ที่ทำให้ผู้คนสลายไปไม่เหลือแม้แต่หลักฐานทางกายภาพ

เรื่องย่อของ Delete เริ่มต้นที่มือถือเครื่องนี้ตกไปอยู่กับคู่หนุ่มสาวที่กำลังลักลอบแอบคบชู้กัน ฝ่ายชายเป็นนักเขียนที่กำลังโด่งดัง ฝ่ายหญิงเป็นภรรยาของเศรษฐีหนุ่มเจ้าของกิจการฟาร์ม ในเรื่องราวเล็กๆของความสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องอาชญากรรมอีนุงตุงนัง เมื่อมือถือเครื่องนี้กลายเป็นเครื่องมือขจัดปัญหาของตัวละคร

อำนาจในการทำให้สูญหายแบบ Delete อาจผูกเรื่องให้เห็นปัญหาภาคสังคมที่ชวนให้ถกเถียงแบบเดียวกับการตั้งคำถามใน Death Note หรือการกระทำของ Thanos ก็ได้ แต่เมื่อผูกเรื่องด้วยสเกลเล็กๆที่ว่าด้วยความรัก ก็สะท้อนปัญหาในแบบเดียวกันได้เช่นกัน

คือการแสดงเห็นว่าอำนาจใดๆ ที่ยิ่งมากล้น สามารถกระตุ้นให้คนเราฉ้อฉลหรือทำผิดได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าคนมีอำนาจสามารถใช้อำนาจนั้นโดยไม่ต้องหวั่นเกรงและรับผิดชอบผลที่ตามมา ยิ่งง่ายแก่การตัดสินใจทำผิดในครั้งถัดๆ ไป

แม้ผู้ครอบครองจะเป็นแค่นักเรียนคนหนึ่ง หรือเป็นแค่ชนชั้นกลางที่กำลังมีปัญหาชีวิตรัก ด้านมืดของจิตใจก็เพียงแต่อาศัยแรงสะกิดเล็กๆ กระตุ้นให้ทำเรื่องชั่วร้ายระดับฆ่าคน

 

ในซีรีส์  Delete กรณีทำให้คนสูญหายผ่านมือถือ มีสองแบบ

แบบแรก คือใช้อำนาจทำให้หายด้วยเจตนาดี หวังช่วยเหลือให้คนไข้ระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลที่ทรมานกับโรคหรือการรักษา ได้หายไปจากโลกใบนี้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการุณยฆาตรูปแบบหนึ่ง (mercy killing หรือ euthanasia)  

แต่อย่าลืมว่าในปัจจุบัน แม้มีผู้ประสงค์จะทำ euthanasia ก็ไม่อาจทำได้อย่างถูกกฎหมายในทุกประเทศ และแม้ในประเทศที่มีการอนุญาตให้ทำ ก็ต้องผ่านกระบวนการประเมินสภาพจิตใจหลายขั้นตอน ไม่ใช่ว่านึกอยากจะทำก็ทำได้เลย และไม่ใช่ว่าหมอหรือพยาบาลจะทำตัวเสมือนพระเจ้าผู้ทรงอำนาจเดินไปเลือกคนไข้แล้วเสนอความตายให้

ใน Delete พออำนาจนี้มาอยู่ในมือวัยรุ่น แม้จะเป็นเจตนาดีที่อยากช่วยคนป่วยให้พ้นทุกข์ผ่านการถ่ายรูปแล้วทำให้หายไป แต่เราก็เห็นว่าคนมีอำนาจไม่ได้ชั่งใจแต่อย่างใด เพียงเห็นผู้ร้องขอบ่นอยากตายก็พร้อมถ่ายรูปให้ ในขณะเดียวกันก็เห็นความลังเลชั่วขณะของคนถูกถ่าย คล้ายจะเปลี่ยนใจหรือจะพูดอะไรออกมาแต่ก็สายเกินไป ฯลฯ 

นั่นจึงชวนให้เกิดคำถามว่าแน่ใจมากแค่ไหนว่าการช่วยเหลือด้วยการเสนอถ่ายรูป (ทำให้สูญหาย/ทำให้ตาย) จะเป็นสิ่งดีสำหรับคนถูกถ่ายรูปจริงๆ เพราะในบางครั้ง ความต้องการตายหรือหายไปจากโลกมีเหตุจาก “ความทุกข์ขณะนั้นที่ทรมาน” แต่หากมีการรักษาที่ทำให้เจ็บหรือทุกข์น้อยลงก็ยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อ แต่เมื่อมีอำนาจแบบไม่ต้องรับผิดชอบก็ทำให้คนคนหนึ่งสามารถเลือกทำตัวเสมือนพระเจ้าผู้เดินไปชี้เป็นชี้ตายโดยไม่ต้องชั่งใจเลย

การใช้อำนาจทำให้คนสูญหายแบบสองในซีรีส์ คือใช้ตามแรงผลักในใจ เช่น กลัวความผิดของตัวเองจะถูกเปิดเผย, โกรธที่ถูกขัดขวางการมีอิสระ, เกลียดหรือแค้นที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก ฯลฯ เป็นการบังคับสูญหายหรืออาจเรียกได้ว่าการฆ่า การใช้กล้องทำให้คนสูญหายจึงไม่ต่างกับการฆ่าคนตาย (เพราะคนถ่ายตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนถูกถ่ายจะกลับมาได้มั้ย)

 

เป็นการฆ่าคนตายที่คล้ายกับการอุ้มหายหรือฆ่าซ่อนศพ (ซึ่งในซีรีส์ก็มีซับพล็อตที่เป็นคดีฆ่าซ่อนศพ) มีระดับความชั่วร้ายหรือรุนแรงพอกัน เพียงแต่ “การไม่ต้องรับผิดชอบและไม่เห็นผลของการกระทำชัดๆ”  เช่น การถ่ายรูป สามารถจูงใจให้คนทำผิดได้ง่ายกว่าเพราะมันไม่เห็นเลือดเห็นเนื้อ, เลี่ยงการพูดถึงพฤติกรรมโดยไม่พูดตรงๆ ว่า “ฆ่า” แต่คนถ่ายอาจจะใช้คำว่า “ทำให้หายไป” เลยรู้สึกผิดน้อยลง, การถ่ายรูปก็เหมือนการฆ่าที่ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีแล้วไม่เหลือหลักฐานหลงเหลือให้ต้องกลัวและรู้สึกผิด

เราจึงเห็นตัวละครหลายตัวที่ไม่ใช่คนชั่วร้ายโดยชาติกำเนิด ถ้าให้ฆ่าคนคงไม่มีวันฆ่าคนตาย แต่ตัดสินใจ “ทำให้คนหาย” ง่ายๆ ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาหรือเธอทำคืออาชญากรรมเพราะเป็นการฆ่าคนเหมือนกัน

ไอเดีย “ทำให้สูญหาย” จากกล้องมือถือนั้นมีเจตนาให้สอดคล้องกับประเด็นสังคมกรณีอุ้มหาย เพราะการมีแบ็กกราวด์ข่าวจริงของคดีอุ้มหายทั้งกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร และ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แทรกเข้ามาในซีรีส์อย่างชัดเจน ก็เข้าใจว่าต้องการเอามาโยงประเด็นบังคับสูญหายซึ่งเกิดในซีรีส์  

ไม่ว่าจะบังคับสูญหายทั้งผ่าน “กล้อง” กับ “ฆ่าซ่อนศพ” สิ่งซึ่งทำให้คนใกล้ตัวของเหยื่อที่ถูกบังคับสูญหายทุกข์ใจหนักกว่ารู้ว่าเหยื่อตายไปแล้วก็คือ ทุกข์เพราะความไม่รู้ (เช่น ตัวละครครูที่ลูกสาวหาย) 

ญาติหรือคนรักของเหยื่อยังมีหวังว่าวันหนึ่งจะเจอตัวแม้ดูริบหรี่เพราะผ่านไปหลายปี เป็นความหวังที่ยังก้าวข้ามไปใช้ชีวิตต่อ (move on) ไม่ได้ ถ้ารู้ว่าตายไปแล้ว ต่อให้ทุกข์ใจก็รู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นและจะต้องทำอย่างไร แต่ “ทำให้สูญหาย” คือความไม่รู้ จะทำพิธีใดๆ ก็ไร้ร่าง ไม่อยากด่วนสรุปว่าสิ้นหวัง

การเหลือความหวังที่ไม่รู้อะไรเลยแบบนี้ ไม่เพียงทำร้ายเจ้าตัวเท่านั้น แต่ยังทำร้ายคนใกล้ชิด (เช่น ลูกชายของครู) ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เพราะแม่ไม่สามารถผ่านพ้นกระบวนการทำใจหลังสูญเสีย (grief process) ยังหัวอกหมกไหม้กับลูกสาวที่หายตัวไปเป็นสิบปีเสมือนการสูญเสียไม่เคยลดน้อยลงในแต่ละวัน

Delete คือซีรีส์จากไทยที่สามารถอวดต่างชาติใน Netflix ได้อย่างน่าชื่นชม มาตรฐานงานสร้างและกำกับอยู่ในเกณฑ์เนี้ยบเหมือนหนังใหญ่ สิ่งดีสุดคือวางโครงเรื่องได้วิเศษ ทีมเขียนบทสามารถจับโครงสร้างซีรีส์ยาว 8 ตอนได้อยู่หมัด รู้ว่าจะฮุกตอนไหนให้คนอึ้ง จบแบบทิ้งปริศนาพอเร้าใจให้คนติด แล้วไม่ทิ้งช่วงนานในการคลี่คลาย ก่อนจะเปิดปมใหม่เลี้ยงความอยากรู้คนดูไปได้จนจบ 


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!