ด.ช.ตุ้ม : เรื่องราววัยเด็กสู่วรรณกรรมเยาวชนดีเด่น เซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด 2565

-

ด.ช.ตุ้ม ทำให้เรานึกไปถึงแบบเรียนวิชาภาษาไทยสมัยประถม เรื่องราวของตัวละครที่เป็นเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งเติบโตไปพร้อมกับเรา หากเราเรียนอยู่ประถมหนึ่ง เขาก็เรียนประถมหนึ่งด้วย เมื่อเราโตขึ้นสู่ประถมสอง เขาก็จะขึ้นประถมสองตาม แม้ว่าสภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ของตัวละครกับของเราจะต่างกันมาก แต่กลับอินเสมือนเพื่อนกลุ่มเดียวกัน คอยเอาใจช่วย ดีใจ-เสียใจด้วย ซึมซับจนกลายเป็นเพื่อนในจินตนาการที่ผูกพัน  ด.ช.ตุ้ม เล่าเรื่องราวของ ‘ตุ้ม’ ตั้งแต่เริ่มเรียน ป.1 – ป.4 ต้องจากบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติๆ เพื่อเรียนหนังสือ จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกทั้ง เหงา เศร้า ซุกซน ใสซื่อ ค่อยๆ เติบโต ผ่านวีรกรรมและอุปสรรค ตามประสาเด็ก ซึ่งกลายเป็นบทเรียนแก่ตุ้มและคนอ่านด้วย

เรื่องราวของตุ้มอิงจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน สุรศักดิ์ กฤษณมิษ สถาปนิกผู้ไม่คาดคิดว่าจะเขียนหนังสือ ถ่ายทอดความทรงจำอันมีค่าของตน พร้อมกับสอดแทรกสาระความรู้ที่อยากมอบให้เยาวชน  ด.ช.ตุ้ม ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทวรรณกรรมเยาวชน  การประกวดหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2565

ประวัติคร่าวๆ ของผู้เขียน

ผมเป็นสถาปนิก จบสถาปัตย์ จุฬาฯ แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ กลับมาตั้งใจทำงานออฟฟิศ  เผอิญติดพันงานออกแบบบ้านใหม่แม่ พอใกล้จะเสร็จเพื่อนขอให้ช่วยออกแบบอพาร์ตเมนต์ จากนั้นก็มีคนจ้างให้ออกแบบคอนโดฯ โรงงาน ต่อเนื่องไป เลยไม่ได้ทำงานออฟฟิศตามที่คิด กลายเป็นตั้งบริษัทของตัวเองแทน จนปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ออฟฟิศสถาปนิกทุกที่ในไทยไม่มีงานเลย ตัวผมก็งานลดลง จึงไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมตามคำชักชวนของเพื่อน ก็ไปเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ 5 ปี  จากนั้นมีเพื่อนชวนไปเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ เขาต้องการคนมีประสบการณ์ในสายงานจริงมาให้แนวคิด สอนได้สักพัก ที่นั่นเปลี่ยนนโยบาย ผมก็กลับไปเป็นอาจารย์พิเศษที่ศรีปทุม และราชมงคลด้วย

ช่วงโควิด-19 งานน้อยลง ประกอบกับผมอายุมากขึ้น 60 ปีแล้ว ลูกค้าเก่าๆ ที่เคยจ้างอายุมากเช่นกัน ก็เกษียณไปเยอะ เราคงถึงเวลาเกษียณแล้วไปทำอย่างอื่นเหมือนกัน ผมเลยทำสวน ปลูกต้นไม้ไปตามประสา

จากสายสถาปัตย์สู่งานเขียนวรรณกรรมเยาวชนได้อย่างไร

ผมเขียนเรื่องสั้นลงหนังสือของสันติอโศก เขียนให้เด็กๆ อ่าน เรื่อง ด.ช.ตุ้ม เนี่ยแหละ ว่างเมื่อไหร่ก็เขียน ลงฟรี ไม่มีข้อผูกมัด ช่วงคุมสอบนักศึกษา ผมว่างเลยเขียนเล่นๆ เก็บไว้ พอดีภรรยาของผมเขียนลงนิตยสารพลอยแกมเพชร คนที่ดูแลบอกว่าให้ลองส่งดูเผื่อได้ลง ผมเอาเรื่องที่เขียนไว้ 20 ตอนมาเกลา แล้วลองส่ง ไม่คิดว่าจะได้ลงทันที เลยเขียนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ช่วงนั้นยุ่งมากเพราะเป็นรายปักษ์ แรกๆ ก็ไหลรื่นเพราะเกี่ยวกับชีวิตเรา แต่เขียนไปชักกินเวลามาก เพราะหมดเรื่องเล่า

เรื่องสั้นในเล่มมาจากประสบการณ์จริงทั้งหมดไหม

ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ คือเรื่องจริง มีแต่งเติมบ้างเพื่อความกลมกล่อม เพราะชีวิตคนเราคงไม่น่าสนใจขนาดนั้น  อย่างไรก็ตาม พยายามอิงกับเหตุการณ์จริง เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องจินตนาการมากเกินไป ผมไม่ได้อยากเขียนเรื่องแต่ง แต่อยากเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยเด็ก

เรื่องสั้น ด.ช.ตุ้ม ตีพิมพ์ในพลอยแกมเพชร ปี 2556-2557 เหตุใดจึงเพิ่งรวมเล่ม

พอตัดสินใจยุติการเขียน บก.พลอยแกมเพชรเสนอจะรวมเล่มให้ อยู่ในขั้นตอนทำอาร์ตเวิร์กกัน ทว่าเศรษฐกิจช่วงนั้นไม่ดีมากๆ ประกอบกับสมาร์ตโฟนได้เปลี่ยนพฤติกรรมคนอ่าน ธุรกิจประเภทนิตยสารเจอผลกระทบหนัก ส่งผลให้พลอยแกมเพชรปิดตัวลง เรื่องสั้นของผมเลยรวมเล่มไม่สำเร็จ จนปีสองปีที่ผ่านมา แม่ของผมป่วยเป็นอัลไซเมอร์อยู่โรงพยาบาล แล้วเรื่องสั้นชุดนี้มีเขียนถึงแม่อยู่ 3-4 เรื่อง จึงเกิดความคิดที่อยากพิมพ์เป็นเล่ม เตรียมไว้ล่วงหน้าเมื่อแม่เสียชีวิต จะได้แจกในงานศพแม่ ผมออกค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ เขียนคำนำ รวบรวมเนื้อหา มีแต่งเพิ่มบ้าง เช่น ตอนจบ และเรียงลำดับเป็น ป.1 – ป.4 เพื่อให้อ่านลื่นไหล ตั้งใจพิมพ์จำนวน 500 เล่ม แต่พิมพ์แค่นี้ไม่คุ้ม ราคาแพง เลยต้องเพิ่มเป็น 2,000 เล่ม เผื่อไว้ขาย ขายไม่ได้ก็แจกห้องสมุด

ทำไม ด.ช.ตุ้ม ต้องจบที่ ป.4

ตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่ต้องจากพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด มาเรียนในกรุงเทพฯ ผมอาศัยกับญาติห่างๆ ก็เหมือนอยู่กับคนแปลกหน้านั่นแหละ ต้องปรับตัวเยอะ บ้านที่ไปอาศัยเขาเป็นครอบครัวใหญ่ ลูกๆ โตหมดแล้ว ผมเป็นเด็กเล็กที่จู่ๆ แทรกเข้าไป ไม่มีที่นอน ไม่ได้รับการดูแลนัก แถมต้องย้ายบ้านที่ไปอาศัยทุกปี คนก็สงสัยทำไมผมจำเรื่องสมัยเด็กแม่นจัง เพราะชีวิตช่วงนั้นกดดัน ผมฉี่รดที่นอน ถ้าเป็นบ้านเราก็ไม่มีปัญหา แต่นี่เป็นบ้านคนอื่น สร้างความลำบากทั้งเราและเขา พอขึ้น ป.5 ผมก็ย้ายกลับไปอยู่กับป้า โตพอจะขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนเองได้ ชีวิตก็สบายขึ้น

สังเกตว่าคุณตั้งใจใช้ภาษาที่เด็กสามารถอ่านง่ายด้วยใช่ไหม

ใช่ พยายามเขียนให้เหมือนเด็กเล่าเอง สังเกตว่าไม่มีศัพท์ที่เป็นบาลี-สันสฤต มีแต่คำไทยแท้โดดๆ คำยากในเล่มมีแต่ราชาศัพท์ เป็นตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จไปโรงเรียน ที่จริงผมเขียนด้วยคำสามัญแบบเด็กๆ แต่คนตรวจบอกไม่ได้ ต้องใช้ราชาศัพท์ เคยมีจดหมายของเด็กที่อ่านสมัยลงพลอยแกมเพชร พ่อเขาเขียนมาเล่า ลูกอ่านแล้วบอกว่า คนเขียนต้องอายุเท่าผมแน่ๆ (หัวเราะ) นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามให้เป็น

บางคนบอกว่าผมเล่าละเอียด ใส่รายละเอียดของเหตุการณ์เยอะ ผมเขียนด้วยแนวคิดของสถาปนิก ผมคิดเป็นภาพก่อน ดังนั้นภาพในหัวผมต้องชัดเจนมากๆ มีรายละเอียดครบ แล้วค่อยเล่าตามภาพในหัวา กล่าวคือ ผมไม่ได้ใช้ตัวอักษรบรรยายให้เห็นภาพ แต่ผมบรรยายภาพออกมาเป็นตัวอักษร

จะไม่มีเล่มต่อจากนี้แล้วเหรอ?

เคยอ่านโต๊ะโตะจังไหมครับ เล่มสองก็สนุกไม่เท่าเล่มแรก ทั้งที่มีเสียงตอบรับดีจนเกิดเล่มสอง ผมไม่มีคนสนับสนุนขนาดนั้น เล่มนี้ก็ทำเอง ลำบากไม่น้อย รางวัลไม่ช่วยเพิ่มยอดขายนัก แล้วเรื่องต่อจาก ป.4 ก็ยังไม่แจ่มชัดพอที่จะเขียน แต่ผมเห็นงานคุณ “จเด็จ กำจรเดช” ที่ชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด หมวดการ์ตูน ปีเดียวกับผม แล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากเขียนเป็นการ์ตูนบ้าง คุยกับเพื่อนที่วาดภาพประกอบ ว่าเขียนการ์ตูนกันไหม ผมเขียนเรื่องแล้วเขาวาดรูป เพราะผมวาดได้แต่ไม่ดี เขาก็สนใจ แต่ติดปัญหาสุขภาพอยู่ตอนนี้

มีสารอะไรที่อยากส่งผ่านผลงานเล่มนี้ไหม

ผมไม่ได้เขียนให้สนุกและชวนติดตามอย่างเดียว เด็กรุ่นนี้ครอบครัวอาจไม่ค่อยมีเวลา แล้วไม่มีใครสอนบางเรื่อง แต่ละตอนจึงมีสรุปที่เป็นข้อคิด เช่น ตอนที่พูดเรื่องขี้ๆ ผมเขียนถึงตอนผมท้องผูก เพราะอะไรล่ะ เพราะผมกินทุกอย่างแต่ไม่ยอมกินผัก เรื่องก็สรุปให้ว่าต้องกินผักด้วยนะ ไม่อย่างนั้นจะท้องผูกเหมือนผม หรือเรื่องที่ผมโดนหมากัด เพราะไม่เชื่อผู้ใหญ่ เดินเถลไถล ก็สรุปว่าทำไมถึงมีสำนวนว่า “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” หรือเรื่องที่ผมขโมยตุ๊กตาอุลตราแมน ความอยากได้ทำให้เราทำผิด พอได้มาแล้วยังไงต่อ เล่นคนเดียวก็ไม่สนุกเท่าเล่นกับเพื่อน แล้วจะเอาไปคืนก็ไม่ง่ายนะ ถ้าเพื่อนไม่เข้าใจและไปบอกคนอื่น เรากลายเป็นไอ้ขี้ขโมยเลย แต่ละตอนผมสอดแทรกเกร็ดให้เด็กๆ เรียนรู้

ความรู้สึกเมื่อได้รางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด

ผมส่งประกวดโดยไม่คาดหวังรางวัล ตอนผมเป็นสถาปนิก ผมก็ส่งงานประกวด แต่ไม่ชนะ ไม่เป็นไร เพราะรู้ว่าจะชนะนั้นยาก ต้องถึงระดับที่สมควรได้จริงๆ เราส่งเพื่อให้รู้ว่างานของเราผ่านเกณฑ์เป็นที่ยอมรับไหม เพราะเราย่อมก็เข้าข้างงานเขียนของตัวเองอยู่แล้ว แต่ในสายตาคนนอกล่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทรงคุณวุฒิที่คร่ำหวอดในวงการ  เขามีความเห็นอย่างไรต่องานเรา ได้ที่สามก็พอใจแล้ว ทว่าพอได้ที่หนึ่งก็ดีใจมาก ผมทำหนังสือจึงได้รู้ว่าค่าแรงของคนทำงานแวดวงนี้น้อยมากๆ คนเขียนได้น้อยแล้ว คนแปลกลับได้น้อยกว่า แทบไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้  การที่เซเว่นฯ แจกรางวัลนี้ช่วยให้นักเขียนมีแรง อย่างน้อยก็เติมพลังให้เขาอยู่บนถนนสายนี้ต่อได้ ปีที่ผมไปงานรับรางวัล เขามอบโล่ให้ผู้ชนะปี 2564 และ 2565 รวมกัน จึงได้เจอนักเขียนมากมาย และเห็นว่าวงการนี้มีคนอยากทำ ยิ่งมีคนสนับสนุน มีกรรมการที่เป็นกลาง มันดีมากในความรู้สึกของผม

หากอยากเป็นเจ้าของหนังสือด.ช.ตุ้ม สามารถหาซื้อได้ผ่านช่องทางไหน

ผมให้เคล็ดไทยจัดจำหน่าย สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปครับ

ความประทับใจที่ได้จากการเขียนหนังสือ

นอกจากเขียนเพื่อให้ผู้อ่านมีความสุขและอินไปกับเรื่องของเราแล้ว ช่วงเวลาที่ได้ทบทวนความทรงจำแล้วเขียนนั้น เหมือนผมได้กลับไปทำความเข้าใจตัวเองอีกครั้ง กลับไปสัมผัสอารมณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ทบทวนสิ่งที่ดีและไม่ดี ซึ่งหล่อหลอมเป็นตัวเรา

ผมเคยเขียนหนังสือไม่เป็น แต่งกลอนก็ไม่ได้ แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าของบริษัท แล้วเราก็เป็น บริษัทเล็กๆ ต้องทำทุกอย่างเอง ร่างจดหมาย ทำเอกสาร เขียนบันทึกการประชุม ยิ่งตอนจดสิทธิบัตรยิ่งยาก ต้องเขียนอธิบายสิ่งที่เราทำให้กระจ่าง แล้วจินตนาการว่าถ้ามีคนทำสิ่งที่คล้ายกับเราในอนาคต เขาจะทำแบบไหน เราควรคุ้มครองอะไร อย่างไร จินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด ผมเขียนอยู่ 2 ปี ทุกวัน เริ่มจากเขียนไม่เป็นเลย และพัฒนาจนเขียนหนังสือได้ดี และพบว่า ถ้าเราพยายามอย่างตั้งใจจริง เราสามารถทำได้ทุกอย่าง


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!