“เบิกเงินห้าหมื่นบาท ผมจะไปต่างประเทศด่วน เอาใส่ซองและเดินลงมาหน้าตึก ผมจะให้คนรถของเพื่อนแวะไปรับนะ” เสียงจากบอสผ่านสายโทรศัพท์มายังเลขานุการที่บริษัท เธอก็ทำตามโดยดีแต่หารู้ไม่ว่าคนที่โทร.มานั้นไม่ใช่บอสจริง ทว่าเป็น ‘ศิลปินลอกเลียนเสียง’ การต้มตุ๋นครั้งนี้จึงสำเร็จอย่างง่ายดาย อย่างไรก็ดีนั่นคือเรื่องเล่าในอดีต ปัจจุบันพวกต้มตุ๋นในโลกดิจิทัลไม่จำเป็นต้องหา ‘ศิลปิน’ เหล่านี้มาร่วมงานแล้ว หากแต่มีโปรแกรมเลียนแบบเสียงที่เหมือนต้นฉบับจนใช้ได้ผล อันตรายอันใหญ่หลวงนี้กำลังคุกคามสู่บ้านเราอย่างรวดเร็ว
การประยุกต์ AI ในกิจการต่างๆ รวมทั้งการต้มตุ๋นผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ลูกค้าและธนาคารจำนวนหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วกำลังเริ่มประสบภัย AI เลียนเสียงดังกล่าว
องค์ประกอบแห่งความสำเร็จของการต้มตุ๋นเกิดจาก 3 ปัจจัยนอกเหนือจากการมี AI คุณภาพดีแล้ว กล่าวคือ 1. มีต้นฉบับเสียงจากโลกไซเบอร์ของบุคคลหนึ่ง ซึ่งหาได้ไม่ยากหากเขาพูดในที่สาธารณะและมีผู้บันทึกเสียงไว้ 2. ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้น เช่น สถานที่ทำงาน หมายเลขบัญชีธนาคาร ชีวิตส่วนตัว งานอดิเรก ชื่อของภรรยา สามี และลูก ฯลฯ (3) ศิลปะการเสกสรรปั้นแต่งและการใช้อุบายในการตุ้มตุ๋นให้ดูแนบเนียน
ในมุมมืดในบางประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงไทยด้วย มีการซื้อขายข้อมูลใต้ดินของบุคคลที่เหมาะแก่การเป็นเป้าหมาย ข้อมูลเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการแฮ็กข้อมูล และอีกส่วนมาจากการสะสมข้อมูลที่มีการเปิดเผยและสามารถค้นหาได้จากโลกโซเชียล ทั้งหมดมีโจรที่ทำงานกันอย่างเป็นระบบ บางกลุ่มก็ขายข้อมูลอย่างเดียว บางกลุ่มก็นำข้อมูลที่ซื้อมาไปหากินตามเส้นทางของโจรต่อ เช่น ไปสืบหาข้อมูลให้ลึกซึ้งขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าและเอาไปขายต่อ บางกลุ่มก็ซื้อข้อมูลไปดำเนินการต้มตุ๋นเลย
ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นทุกขณะอย่างลับๆ เพราะมีคนที่จ้องจะแย่งชิงเงินทองของคนอื่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีมากและไร้เดียงสาในเรื่องดิจิทัล หรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือทั้งไร้เดียงสาและโลภด้วย
การเลียนแบบเสียงที่เรียกกันทางเทคนิคว่า deep fake นั้น ทำได้ง่ายดายเพียงเอาเสียงจริงผ่านเข้าไปในโปรแกรมซึ่งมีต้นแบบเสียงบันทึกไว้ก่อนแล้ว ก็จะได้คำพูดในเสียงใหม่ที่เหมือนต้นฉบับจนแทบแยกไม่ออกหากเป็นโปรแกรมคุณภาพดี (โปรแกรมพวกนี้มีขายในราคาและคุณภาพที่หลากหลาย)
งานที่ยากที่สุดก็คือการเสกสรรปั้นแต่งและสร้างบทพูดโต้ตอบเพื่อโน้มน้าวให้เหยื่อปฏิบัติตาม การคดโกงในลักษณะนี้เป็นศิลปะเชิงจิตวิทยาขั้นสูง การใช้เสียงพูดแบบหุ่นยนต์ในตอนต้นของการดึงดูดความสนใจมักไม่ได้ผล ดังนั้นการใช้เสียงเลียนแบบจึงได้ผลกว่า แต่ก็ต้องเป็นบทที่สามารถโต้ตอบได้อย่างน่าเชื่อถือด้วย
พล็อตเรื่องที่คาดว่าเสียงชนิดเลียนแบบจะนิยมใช้ก็คือ มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้เงิน จึงต้องรีบโอนเงินให้ทันที เช่น กำลังเจ็บป่วยจะเป็นจะตาย ประสบอุบัติเหตุ ประสบเหตุการณ์อื่นที่จำเป็นต้องใช้เงิน เช่น เงินประกันตนในชั้นศาล เงินติดสินบน ต้องเดินทางไปต่างประเทศด่วน เงินรักษาพยาบาลสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ บ่อยครั้งสั่งให้จ่ายเป็นเงินสดเพื่อไม่ให้เกิดความสงสัยชื่อบัญชีที่โอนไปให้
ในบ้านเราขณะนี้การต้มตุ๋นด้วยการเลียนเสียงผ่านโปรแกรมยังไม่เกิดขึ้น แต่มั่นใจได้ว่าจะมาถึงในเวลาอีกไม่นานนัก การเตรียมตัวไว้ก่อนย่อมเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการไม่เสียเงินและไม่เสียรู้ให้เจ็บใจ ปัจจุบันการต้มตุ๋นมักอ้างแต่เพียงว่าเป็นเพื่อนนักเรียนหรือเพื่อนร่วมงานหรือญาติที่เคยรู้จักกันมาก่อน และขอเงินเอาดื้อๆ บ้างขอยืมเงิน บ้างก็ชวนลงทุนผลตอบแทนสูง
การป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่เชื่ออะไรไว้ก่อน ตั้งหลักและใช้สติตัดสายที่พูดมาโดยไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น การโต้ตอบอาจนำไปสู่การรับรู้ข้อมูลและคล้อยตามซึ่งอาจทำให้เราเสียท่าได้
คอลัมน์: สารบำรุงสมอง
เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ