Decision to Leave เป็นหนังเกาหลีใต้ที่ได้รับรางวัลในหลายเวทีประกวดของเทศกาลหนังปีก่อน ทั้งจากฝั่งเอเชียและตะวันตก เช่น สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Cannes Film Festival
หนังสืบสวนที่ผสานความโรแมนติกเคลือบบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจ พระเอกชื่อ แฮจุน เป็นตำรวจสายสืบที่เก่ง มีปัญหานอนไม่หลับ ต้องเข้าไปสืบสวนคดีชายสูงอายุตกเขาตายขณะปีนเขา โดยมีนางเอกชื่อ ซง ซอเร ภรรยาชาวจีนของผู้ตายเป็นผู้ต้องสงสัย แต่ระหว่างที่แฮจุนสืบสวนอยู่นั้น เขาเริ่มเห็นใจเธอ
ความเห็นใจเริ่มตั้งแต่รู้ว่า ซอเรเคยถูกสามีทำร้ายร่างกายจนเป็นแผลที่ต้องซ่อนไว้ ไม่มีใครรู้นอกจากหมอที่เคยตรวจรักษา พบว่าผิวหนังของเธอนั้นถูกตีตราด้วยสัญลักษณ์ KDS ซึ่งก็คือคำย่อชื่อของสามี เหมือนข้าวของต่างๆที่สามีจะสลักชื่อตัวเองเป็นคำย่อเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ
ด้วยความเห็นใจ เขาตามเฝ้าเธอเพื่อหาเบาะแสเพิ่มเติมแล้วกลายเป็นหมกมุ่น และถลำใจไปรักเธอในที่สุด
แฮจุนมีภรรยาแล้ว เป็นความสัมพันธ์ทางไกลเพราะภรรยาอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆชื่ออิโป ซึ่งเขาจะแวะไปหาแค่ช่วงสุดสัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเขาเริ่มมีใจให้ซอเร เขาก็ต้องหักห้ามไว้ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวที่เป็นคนมีครอบครัวแล้ว และในแง่หน้าที่การงานที่ไม่ควรมีความสัมพันธ์กับผู้ต้องสงสัย
นำไปสู่พล็อตแบบรักต้องห้ามและการสืบสวนคดี (ที่อาจเป็น) ฆาตกรรม
หนังสืบสวนหรือทริลเลอร์ที่ได้รับความนิยม ถ้าไม่เด่นที่พล็อตก็เป็นการเดินเรื่องตื่นเต้นฉับไว แต่จุดแข็งของ Decision to Leave คือการเล่าเรื่อง ด้วยมาตรฐานระดับสูงของผู้กำกับพัค ชาน อุค
แม้จังหวะเดินเรื่องจะค่อนข้างช้าแต่หนังตรึงคนดูได้ เพราะมีรายละเอียดให้คิดตามตลอดเวลาโดยไม่ต้องพรรณนาตรงๆ แต่ผ่านการเล่าเรื่องด้วยภาพ
เช่น หนังสื่อให้เรารับรู้ “ความหมกมุ่นจนลุ่มหลง” ด้วยเทคนิกทางภาพยนตร์ที่เริ่มโดยถ่ายให้เห็นว่าแฮจุนกำลังเฝ้าส่องซอเรในฐานะผู้ต้องสงสัย เขาใช้กล้องส่องจากลานจอดรถขึ้นไปที่ห้องของเธอในอพาร์ตเมนต์ แต่ไม่กี่นาทีต่อมา เราคนดูก็จะเห็นแฮจุนอยู่ในห้องพูดคุยกับซอเรเสมือนว่ากำลังอยู่ต่อหน้า แต่จริงๆแล้วซีนนั้นคือการคุยผ่านโทรศัพท์ ทว่าหนังต้องการถ่ายทอดภาพแบบนี้เพื่อย่นระยะความใกล้ชิดที่แฮจุนเริ่มหมกมุ่นและลุ่มหลงในตัวซอเร
เราเห็น “ความรู้สึกนอกใจ” แบบไม่ซื่อตรงตั้งแต่แรกแล้วเมื่อภรรยาสังเกตว่าแฮจุนใจลอยตอนมีเซ็กส์แล้วสงสัยว่าทำคดีอะไรอยู่ แฮจุนเล่าให้ภรรยาฟังว่ากำลังทำคดี “หญิงจีนตกเขาเสียชีวิต” มีสามีแก่ๆเป็นผู้ต้องสงสัยแล้วเขาเห็นใจตัวสามี (นี่คือการโกหกที่ไม่จำเป็นต้องโกหกด้วยซ้ำ) จนช่วงท้ายที่ภรรยาไปเจอซอเรครั้งแรก แล้วภรรยารู้ว่าซอเรคือหญิงจีนที่สามีเสียชีวิตจากการตกเขา ก็เหมือนจับได้ว่าสามีเคยโกหกสลับคน การโกหกที่ไม่จำเป็นต้องโกหกนั้น บอกพิรุธอะไรบางอย่างที่อยู่ในใจ
หรือ “การหลงใหลและตกหลุมรัก” ก็บอกว่าทำไมทั้งคู่ถึงคลิกแล้วเข้ากันได้ดีผ่านซีนสั้นๆ เช่น การเช็ดโต๊ะอาหารหลังจากกินซูชิหมดที่ทั้งคู่ช่วยกันคนละไม้คนละมือเหมือนเป็นทีมที่รู้ใจกันมานาน ทั้งที่เพิ่งแค่แรกพบ เห็นว่าในห้องของแฮจุนมีตำราเรียนภาษาจีน ฯลฯ
หรือการเปรียบเปรยสัญลักษณ์ภูเขากับทะเล ถูกสอดแทรกอยู่ในหนังไม่ว่าจะผ่านรูปภาพ (เช่น วอลล์เปเปอร์ในห้องซอเร ซีนสุดท้ายที่ไปทะเล ฯลฯ) หรือผ่านคำพูดตัวละคร (พระเอกตะโกนว่าเป็นลูกทะเล แล้วภรรยาก็ตกใจว่านึกครึ้มอะไรถึงได้พูดเพ้อเจ้อเพราะเจ้าตัวเกิดที่โซล) รวมถึงโลเคชั่นที่เป็นฉากสำคัญของความสัมพันธ์คือเริ่มต้นที่ภูเขา (เกลียด) และจบลงที่ทะเล (รัก)
การเล่าเรื่องที่เก่งกาจอีกอย่างของพัค ชานอุค มาพร้อมกับบทหนังเหมือนเรื่องเก่าๆของเขาอย่าง The Handmaiden หรือ Old Boy ซึ่งแม้จะเหมือนเดาทางได้แต่หนังก็ทำให้เราประหลาดใจได้อยู่ดีถึงนาทีสุดท้าย หรือจังหวะที่หากเป็นทริลเลอร์เรื่องอื่น เรื่องราวในหนังเหมือนจะจบได้แล้ว แต่ปรากฏว่าหนังเพิ่งเข้าองก์สามและยังมีเรื่องราวที่ทำให้เราตื่นเต้นต่อไปได้อีก
ความสัมพันธ์แบบผิดศีลธรรมของแฮจุนกับซอเรดำเนินไปอย่างที่ทำให้เราเข้าใจแฮจุนได้ไม่ยากว่าเพราะเหตุใดเขาจึงหลงใหลในตัวเธอ แม้ผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะเป็นหายนะคือหน้าที่การงานต้องพัง (ถ้าเธอคือคนร้าย) หรือการที่หนังฉายภาพเขาพยายามหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ ก็คล้ายจะบอกว่าต่อให้หยอดเท่าใด แต่ความรักก็ยังคงทำให้เขาตามืดมัวมองไม่เห็นอะไรได้ชัดเจน ทั้งที่เขาเป็นนักสืบที่เก่งมากๆ ตั้งแต่ต้นเรื่องที่เราเห็นเขาจับพิรุธรวมถึงพบทริกต่างๆ ของคนร้าย ขอเพียงแค่เขาไม่ปล่อยให้ความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาพัวพัน
ซอเรช่วยให้แฮจุนนอนหลับสนิทได้เป็นคืนแรกในรอบหลายปี ชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่ส่วนการงานของเขาจึงเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เขาก็ช่วยเธอให้มีโอกาสพบคนดีๆ ในชีวิต อย่างที่เธอพูดในตอนท้ายว่าชีวิตนี้เธอคงไม่มีโอกาสที่จะได้พบคนดีๆ อย่างแฮจุน
สิ่งที่เรียกว่ารักแม้ไม่ได้เอ่ยออกมาจากปากของแฮจุน ก็คือความห่วงใยซึ่งเขามีให้อีกฝ่าย รวมถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อแสดงให้รู้ว่า การที่คนคนหนึ่งยอมทิ้งความนับถือตัวเองเพื่อคนอื่นนั้น นั่นก็เป็นเพราะรักอีกฝ่ายจนตัวเองยอมพัง
ความโรแมนติกอย่างยิ่งของหนังจึงน่าจะเป็นเรื่องของการเสียสละ ต่างฝ่ายต่างยอมสละสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต (อาชีพตำรวจของแฮจุน/หลักฐานสำคัญของซอเร) เพื่อให้อีกฝ่ายได้มีชีวิตที่ดีต่อไป
ไม่น่าแปลกที่หนังเรื่องนี้อาจเทียบได้กับหนังคลาสสิกอย่าง Vertigo ทั้งสองเรื่องเป็นหนังรักที่รู้สึกเศร้า และในขณะเดียวกันก็เป็นหนังฆาตกรรมที่มีทริกเจ๋งดี มีจุดแข็งสำคัญคือการเล่าเรื่อง (storytelling) อีกทั้งเป็นหนังที่สะท้อนสุุขภาพจิตของตัวละคร ( ใน Decision to Leave ตัวละครมีอาการนอนไม่หลับ [insomnia], บุคลิกเยี่ยงคนเจ้าระเบียบติดสมบูรณ์แบบ [OCPD], อาการนอนแล้วมีภาวะหยุดหายใจ [obstructive sleep apnea] แต่ ใน Vertigo ตัวละครมีอาการกลัวที่สูง [Acrophobia], มีปมรู้สึกละอายและผิดฝังใจ [shame & guilt])
ที่น่าสนใจมากๆ คือผู้หญิงในหนังทั้งสองเรื่อง ใน Vertigo นางเอกมีบุคลิกแบบ passive คือยอมทุกอย่างโดยหวังได้รักคืนมา ส่วน Decision to Leave นางเอกมีบุคลิก active กว่า เป็นคนที่ใจถึง ทำทุกอย่างเพื่อรักที่ขอแค่เพียงเป็นไปได้
และการแสดงของนักแสดงทั้งสองเรื่องก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้ตัวหนัง ถัง เหว่ยใน Decision to Leave มีการแสดงที่แนบเนียนสมบทบาทมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความรู้สึกอันละเอียดอ่อนผ่านกล้ามเนื้อใบหน้าของเธอ
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
(www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)