ซีรีส์ Death’s Game มีตัวเอกเป็นชายหนุ่มชื่อชเวอีแจ เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย ใน 30วินาทีสุดท้ายก่อนตาย เขารำพึงว่า
“ฉันมองไม่เห็นความหวังใดๆทั้งนั้น”
“การมีชีวิตคือสิ่งที่ฉันกลัว”
“ความตายเป็นแค่เครื่องมือกระจอกในการหยุดความเจ็บปวดของฉัน”
เหตุผลที่คิดจะตาย
หนังช่วยให้เราเข้าใจอีแจมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องจากมุมมอง (point of view) ของเขาเองหลังจากเรียนจบและตกงานอยู่หลายปี เป็นหนี้เงินกู้ เจอวิกฤติโควิด เห็นคนอื่นมีงานทำหรือได้แต่งงาน แต่เขากลับมีชีวิตจำเจจนมองไม่เห็นอนาคตที่ดีกว่านี้ เงินเก็บก้อนสุดท้ายหมดกระเป๋าเพราะโดนเพื่อนหลอกเอาไปปั่นหุ้น มองแฟนตัวเองแล้วรู้สึกด้อยเพราะแฟนก้าวหน้ากว่าแถมมีหนุ่มรวยๆ มาจีบ เขาจึงตัดสินใจบอกเลิกเพื่อให้เธอเป็นอิสระ ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้อยากเลิก และฟางเส้นสุดท้ายในการดำรงชีวิตก็ขาดสะบั้น เมื่อได้รับข้อความตอบกลับว่าไม่ผ่านการสมัครงานครั้งล่าสุด
ทุกสิ่งที่อีแจเจอและเล่าให้คนดูฟัง ชวนให้เราคล้อยตามได้ว่าเขาไร้ความหวังและการมีชีวิตนั้นเจ็บปวด เพราะคนดูติดตามเรื่องราวผ่านมุมมองของเขา เราเห็นโลกแบบเดียวกับที่อีแจเห็น แต่โลกเป็นแบบนั้นจริงๆ ไหม หรือเป็นเพียงภาพหลอนที่มองผ่านสายตาของความสิ้นหวัง
คำตอบอยู่หลังความตาย
เพราะการตายของอีแจไม่ใช่ตอนจบของชีวิต อีแจได้พบกับหญิงสาวที่เรียกตัวเองว่า Death ในโลกหลังความตาย
Death ไม่เพียงบอกว่าโทษของอีแจคือการนิยามความตายว่า ‘กระจอก’ แต่เธอยังบอกว่า “นายผิดที่มาหาฉัน ก่อนที่ฉันจะไปหานาย” นั่นหมายถึงการที่เขาฆ่าตัวตายแทนที่จะใช้ชีวิตไปตามปกติจวบจนวาระสุดท้าย
Death ลงโทษให้เขาต้องกลับไปเกิดใหม่อีก 12 ชีวิตในช่วงเวลาก่อนตาย เพื่อเผชิญความตายอีก 12 ครั้ง
กติกาของเกมนี้คือ ถ้าอีแจสามารถเอาตัวรอดในชีวิตใดชีวิตหนึ่งสำเร็จ เขาจะได้มีชีวิตต่อในร่างคนคนนั้น
โอกาสในการใช้ชีวิตอีก 12 ครั้ง นอกจากเป็นบทลงโทษให้ทรมานแล้ว ยังช่วยให้อีแจได้สติและเริ่มตระหนักรู้ถึงเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ต่อไป
1) เขาทรมานจนอยากตายเพราะเขาไม่เห็นจุดมุ่งหมาย (purpose) ในการใช้ชีวิตต่อ – แต่ในชีวิตหนึ่งที่อีแจได้เข้าไปใช้ชีวิต ขณะกระโดดจากเครื่องบินแบบไม่มีร่มชูชีพเพื่อแลกกับเงินก้อนโต เขาเลือกได้ที่จะเปลี่ยนใจ ไม่เสี่ยงดิ่งลงพื้นโลก แต่เขามีความหวังว่าจะได้เงินรางวัล จึงเลือกเสี่ยงชีวิต, หรือการไปอยู่ในร่างมหาเศรษฐี เขากลัวที่จะตาย เพราะอยากอยู่รอดไปมีชีวิตเป็นเศรษฐีมากกว่า หรือในร่างลูกน้องมาเฟีย เขาต้องการเงินที่ซ่อนไว้ เขาพร้อมกัดฟันสู้กับทุกอุปสรรคที่ขัดขวาง ฯลฯ
จุดมุ่งหมายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรายังคงดิ้นรนต่อสู้กับความทุกข์ต่อไปด้วยการหล่อเลี้ยงความหวังให้คงอยู่
ทว่าในชีวิตก่อนตายของอีแจ เขามองแต่ความล้มเหลวและผิดหวัง ทั้งที่เขายังมีเวลาในชีวิตเหลืออีกมาก และหลงลืมไปว่าชีวิตยังมีจุดมุ่งหมายอื่นนอกจากการมีงานทำ เช่น การอยู่ดูแลและเป็นเพื่อนแม่ การเคียงข้างและสนับสนุนแฟนที่รักเขา ฯลฯ แต่เมื่อเขาเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จ เขาจึงรู้สึกไร้ค่าและสิ้นหวัง
2) เขาสิ้นหวังจนคิดตายเพราะเห็นว่าสู้ไปก็ไม่มีอะไรดี – แต่อีแจพบว่าหลายชีวิตซึ่งเขาไปอาศัยมีชะตากรรมอันรันทดยิ่งกว่าที่เขาเจอ เช่น การเกิดเป็นทารกที่ถูกทารุณกรรม เพราะนั้นแทบไม่มีทางสู้หรือหนีได้เลย หรือในร่างอื่นที่ในแต่ละวันเสี่ยงต่อการถูกฆ่าตายยิ่งกว่าชีวิตของอีแจ แต่เขาก็สู้จนรอดพ้นมาได้ เมื่อมองโลกจากมุมของเราที่กำลังทุกข์สาหัส เราก็จะเห็นว่าปัญหานั้นหนักและไร้ทางแก้ แต่ถ้านำไปเทียบกับชีวิตคนอื่นแล้ว ปัญหาของเขากลับสาหัสยิ่งกว่า และเราอาจพบทางออกก็เป็นได้ นั่นเพราะบางครั้ง ‘ความมืดมนเมื่อผจญปัญหา’ ไม่ใช่ความมืดแท้จริงอย่างที่เห็น มันเป็นเพียง ‘การรับรู้’ ว่ามืดมิดจากสายตาของเราที่ถูกความทุกข์ครอบงำ และทำให้รู้สึกสิ้นหวัง
แต่หากถอยห่างจากปัญหาเหล่านั้นสักพัก หยุดเปรียบเทียบกับโลกภายนอกชั่วคราว ออกจากโลกส่วนตัวไปพบเจอคนที่รักและห่วงใย ให้เวลาปล่อยวางกับปัญหาที่ยังไม่รู้วิธีสะสางจนกว่าจะมีตัวช่วยอื่น เราอาจพบว่ามันไม่ได้มืดสนิทอย่างที่รู้สึกในตอนแรก
3) เขาอยากตายเพราะตอนนั้นหมกมุ่นอยู่กับชีวิตตัวเอง – อีแจบอก Death ว่าการตายของเขาไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เขาฆ่าตัวตายไปทุกอย่างก็แค่จบ
Death ให้เขาลองใคร่ครวญว่าไม่มีใครเดือดร้อนจริงๆ อย่างที่เขาพูดหรือเปล่า อีแจก็ยังคิดไม่ออก
จนเมื่อเขามีโอกาสได้เห็นชีวิตของแม่และแฟนหลังเขาจากไป จึงรู้ว่าในเวลาที่มืดหม่น คนเรามักมองไม่เห็นสิ่งอื่นใดชัดเจนเท่าความทุกข์ทรมานที่ตัวเองเจอ ไม่เห็นความรักและความห่วงใยที่ดำรงอยู่ควบคู่กัน เหมือนในตอนท้ายที่หนังบอกคนดูว่า “ความตายก็เหมือนโรคระบาด เมื่อเราตายไป ความตายของเรายังค้างคาใจคนที่เรารัก”
ชีวิตที่เหลืออยู่ของคนที่เรารักคือการกล้ำกลืนความเจ็บปวดจากการสูญเสียนั้นต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ซีรีส์ Death’s Game มีวิธีเล่าเรื่องที่สนุกแบ่งโดยเป็นช่วงๆ 4 ตอนแรกให้คนดูลุ้นว่าอีแจจะไปเกิดเป็นชีวิตแบบไหน ลุ้นว่าจะเอาตัวรอดจากการตายอย่างไร แล้วค่อยๆ เชื่อมโยงชีวิตที่อีแจไปอยู่ในแต่ละร่างนั้นเข้าด้วยกันไม่ให้คนดูรู้ตัว จากนั้น 3 ตอนถัดมาเหมือนแอ็กชันทริลเลอร์ เน้นการประลองระหว่างอีแจกับบอสตัวร้าย และตอนสุดท้ายกลายเป็นดราม่าเรียกน้ำตาเต็มๆ
ในแง่แก่นเรื่อง Death’s Game มีการพูดถึงประเด็นฆ่าตัวตายและ ‘โอกาสในการย้อนกลับไปทบทวนชีวิต’ ที่ได้รับจากตัวแทนในโลกหลังความตาย คล้ายกับหนังคลาสสิกอย่าง It’s a Wonderful Life ซึ่งตัวละครที่ฆ่าตัวตายฉุกคิดได้ว่าในช่วงเวลาทุกข์สาหัสจนอยากตาย ก็เพราะความรู้สึกมืดแปดด้านทำให้เขาไม่สำเหนียกถึงความรักความห่วงใย ไม่เห็นความหวังที่ยังคงมี รวมถึงไม่สามารถตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง (หากยังมีชีวิตอยู่ต่อ)
สิ่งที่ดีมากในตอนสุดท้ายของ Death’s Game คือการสะท้อนชีวิตของแม่อีแจ หากชั่งน้ำหนักความทุกข์ในใจจากการสูญเสียลูกชายผู้ซึ่งเธออุทิศชีวิตให้มาตลอด คงไม่น้อยไปกว่าความทุกข์ของอีแจที่ตกงานและสูญเสียเงินเก็บ แต่แม่ของอีแจยังพยายามใช้ชีวิตต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่เหลือใครอีกแล้ว นั่นไม่ได้แปลว่าแม่ของอีแจเข้มแข็งกว่า และก็ไม่ได้แปลว่าอีแจอ่อนแอ
แต่การที่อีแจและคนดูได้เห็นหญิงชราผู้สูญเสียลูกชาย ยังพยายามประคับประคองชีวิตไว้ และตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงานที่ไม่ได้สะดวกสบาย แล้วก็หาเวลาไปเยี่ยมที่เก็บอัฐิลูกชาย และทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ นั่นก็คือการเชิดชู ‘การมีชีวิต’ ซึ่งบางครั้งไม่ได้มีคำอธิบายแค่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนั้นควรค่าแก่การที่เราจะรักษาไว้ และความทุกข์ทรมานใดๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราพึงหาทางอยู่ร่วมให้ได้
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )
ภาพ: อินเทอร์เน็ต