รู้จัก ‘ข้อมูลในหลืบมืด’

-

ข้อมูลเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ข้อมูลมิได้มีเพียงสิ่งที่เห็นชัดเจนเท่านั้น แต่ยังมีที่มองไม่เห็นซ่อนเร้นหรือถูกละเลยมองข้ามอยู่ด้วย การเข้าใจเรื่อง ‘ข้อมูลในหลืบมืด’ (dark data-DD) จะทำให้เราเข้าใจโลกและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในชีวิตประจำมี DD อยู่มากมาย เช่น 

(ก) หญิงชายถูกชะตากันถึงแม้จะไม่เคยพูดจากันเลย ถ้าฝ่ายหญิงส่งสัญญาณชอบพอมาโดยฝ่ายชายซื่อบื้อมองไม่เห็น DD นี้ก็จะแห้วไปโดยปริยายอย่างน่าเสียดาย 

(ข) เห็นว่าสถิติอาชญากรรมในเมืองที่ตนเองอยู่มีความเสี่ยงต่ำ จึงกล้าออกไปเดินเล่นข้างนอกเวลากลางคืน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครกล้าทำเช่นนั้นเลย แต่ก็ไม่สังเกตเห็นจึงกลายเป็นเหยื่อ ทั้งนี้เพราะไม่เข้าใจว่าตัวเลขสถิติอาชญากรรมนั้นมักต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ เนื่องด้วยมีเหตุร้ายจำนวนมากที่ปราศจากการรายงาน ดังนั้น DD จึงซ่อนเร้นอยู่ 

(ค) ก่อนเข้าประชุมเห็นเพื่อนร่วมงานไม่สบตาและพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่ก็ไม่สังเกตเห็นสัญญาณซึ่งเป็น DD นี้  เมื่อเข้าประชุมก็ถูกจวกอย่างนึกไม่ถึงและพูดไม่ออก ถ้ารู้ทันพฤติกรรมดังกล่าวแต่แรกก็คงไม่ช้ำใจขนาดนี้

(ง) ขณะสนทนากับผู้อื่นนั้นมัวฟังคำพูดแต่ไม่ได้ยิน และตาก็มองแต่ไม่เห็น นี่คือ DD ที่ซ่อนเร้นอยู่จึงทำให้ขาดการสื่อสารที่ดีและเสียโอกาส 

(จ) ในการลงคะแนนสรรหาผู้มีความสามารถมาร่วมงานโดยอาศัยกรรมการ 15 คน เป็นผู้พิจารณา ผลปรากฏว่านาย ก. ได้ 6 คะแนน  ข. ได้ 4 คะแนน และไม่มีผู้ออกเสียงว่าเลือกใคร 5 คะแนน ตามปกตินาย ก. จึงเป็นผู้ควรได้รับเลือก แต่กรณีนี้ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งถึง DD 5 คะแนนนี้ เพราะหาก 3 คะแนนหันไปเลือกนาย ข. เขาก็จะได้ 7 คะแนน ซึ่งสูงที่สุด แต่เราไม่มีทางรู้ว่า 5 คนนี้จะลงคะแนนอย่างไร   จึงเต็มไปด้วยความสงสัยอันนำมาซึ่งการใคร่ครวญผลการเลือกตามคะแนนที่ปรากฏ

(ฉ) เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ในสหรัฐอเมริกามีโครงการใช้ระบบดิจิทัลรายงานถนนช่วงที่เป็นหลุมเป็นบ่อได้อย่างยอดเยี่ยม กล่าวคือ เมืองสร้างแอปพลิเคชันให้พลเมืองดาวน์โหลด โดยแอปพลิเคชันเชื่อมต่อตัววัดความสั่นสะเทือนในเครื่องโทรศัพท์ขณะตกหลุมกับตำแหน่ง เมื่อรถที่มีโทรศัพท์อยู่ตกหลุม เครื่องก็รายงานไปยังศูนย์ซึ่งจะทราบทันทีว่ามีหลุมอยู่ที่ใดก็สามารถมาซ่อมแซมได้ทันการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการรายงานหลุมบนถนนเกิดขึ้นในบริเวณที่มีคนรวยอยู่ซึ่งมีโทรศัพท์ราคาแพงและมีรถยนต์ส่วนตัวใช้ ในพื้นที่คนจนกลับไม่มีรายงานเพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือและรถส่วนตัว ดังนั้นจึงซ่อมแต่ถนนช่วงบ้านคนรวย ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำยิ่งขึ้น ในที่นี้ข้อมูลที่มีเกี่ยวกับหลุมกลายเป็น DD ที่เอนเอียงอย่างไม่ตั้งใจ

สำหรับองค์กรก็มี DD อยู่เช่นกัน เช่น (ก) ข้อมูลความไม่พอใจเกี่ยวกับสินค้ามีแต่หลักฐานที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่กลับไม่ปรากฎคำบ่นหรือเสียงสะท้อน ข้อมูลที่ได้จึงเอนเอียงไม่สมบูรณ์ DD ซ่อนเร้นอยู่อย่างไม่ตั้งใจ (ข) องค์กรเก็บข้อมูลเป็นกระดาษไว้นาน ไม่แปลงเป็นดิจิทัลจนถูกละเลยในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจที่รอบด้านยิ่งขึ้น (ค) ข้อมูลจากอีเมล ความเห็นจากโซเชียลมีเดีย การกดไลก์ ฯลฯ จำนวนมากมิได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ องค์กรมักไม่รู้ว่าข้อมูลที่ถูกมองข้ามเหล่านี้คือ DD ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี ผู้บริหารมักหลงพิจารณาแต่ข้อมูลที่มีอยู่ในมือเท่านั้น โดยลืมไปว่าข้อมูลที่ ‘ไม่มี’ เหล่านี้ก็มีความสำคัญไม่น้อย

แนวคิดเรื่อง ‘ข้อมูลในหลืบมืด’ ทำให้ทุกคนต้องระวังการได้รับข้อมูลและตีความในชีวิตประจำวันส่วนองค์กรก็สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้ในการให้บริการประชาชนและลูกค้าผ่านการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่มีในมือนั้นสำคัญ  แต่บางครั้งข้อมูลที่ “ไม่มี” ก็ควรค่าแก่การใส่ใจเช่นกัน


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!