ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบันนี้ มิใช่เป็นเพียงเรื่องของอุดมการณ์ความคิด หากแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่นระหว่างวัยด้วย คนต่างรุ่นต่างก็มีชุดความคิดคนละชุด ชุดความคิดหนึ่งของคนรุ่นเก่าคือให้ความสำคัญแก่องค์รวม ส่วนคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญแก่ความเป็นปัจเจก ดังนั้น แม้จะกระทำสิ่งเดียวกันหรือพูดถึงคำคำเดียวกัน เช่น เสรีภาพ คนสองกลุ่มก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน
ดั่งใจปรารถนา นวนิยายของซูซานนา ตามาโร แปลจากภาษาอิตาลี โดย สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ หรือ “ครูก้า” (บุสก้า) ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งในสายวิชาการและสายศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์ผีเสื้ออิตาลีจัดพิมพ์เป็นหนังสือพกพาขนาดเล็ก ตัดขอบมน ปกเป็นภาพที่ถ่ายจากผ้าปัก เป็นงานหัตถศิลป์ที่สวยหวาน จึงเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งนอกจากอ่านเพื่อความรื่นรมย์ใจแล้ว ยังเหมาะแก่การเก็บสะสมในห้องสมุดของคนรักหนังสือ
นวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องในรูปแบบของบันทึกจากยายถึงหลานสาวผู้ไป “ค้นหาตัวเอง” ที่ประเทศอเมริกา การจากลาครั้งนี้มิได้ราบรื่นชื่นบาน หากแต่ซ่อนความปวดร้าวช้ำใจ ความไม่เข้าใจกัน และความโหยหาอันเนื่องมาจากความรักที่ยื้อยุดอยู่กับคำว่าเสรีภาพ หลานสาวต้องการอิสรเสรี ฝ่ายยายกลับคิดว่าการอดทนไม่ทักท้วงก็คือการให้เสรีภาพแก่สาวน้อย ทั้งยายและหลานต่างก็มีเกราะป้องกันตนเอง หลานสาวมีเกราะที่เริ่มเป็นรูปร่างแข็งแรง ส่วนยายมีเกราะที่ขาดวิ่นเพราะชีวิตเหมือนใบไม้ที่กำลังจะปลิดปลิว ดังที่ยายบอกว่า “ชีวิตเราอยู่บนต้นเดียวกัน แต่ในฤดูกาลที่ต่างกันเช่นนี้เอง” (หน้า 37) โครงเรื่องของนวนิยายที่เดินเรื่องด้วยหญิงชราผู้หงอยเหงาไม่น่าสร้างความรื่นรมย์แก่ผู้อ่านมากนัก แต่ “สาร” ในตัวเรื่องที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในโลกที่อ้างว้าง กลับทำให้ ดั่งใจปรารถนา ติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดในประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ.2537 และครองอันดับอยู่เนิ่นนาน ต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 30 ภาษา รวมทั้งมีผู้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อีกด้วย
บันทึกของยายซึ่งป่วยหนักทั้งกายและใจถึงหลานสาวที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสพบหน้ากันอีกหรือไม่ ถ่ายทอดภาพของผู้หญิงถึงสี่รุ่น ยายเล่าเรื่องของแม่ผู้ร่ำรวยที่แต่งงานกับพ่อผู้มีบรรดาศักดิ์สูงโดยปราศจากความรัก หลังจากมีลูกสาวสืบตระกูล ทั้งสองก็ทะเลาะมีปากเสียงกันจนถึงบั้นปลายชีวิต ยายกับแม่ของยายมีเรื่องไม่ลงรอยกันตลอดเวลาเพราะความคิดไม่ตรงกัน ยายรู้สึกว่าตนอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ “ดีไม่มีที่ติ” ในสายตาของแม่ แม้ยายจะฝืนทำตามที่แม่ต้องการ แต่การไม่เป็นตัวของตัวเองทำให้รู้สึกว่าตนไร้ค่า และเก็บกดจนกลายเป็นเกลียดชัง ดังที่ยายบันทึกว่า “แม่จะสนใจแต่สิ่งที่ยายควรจะเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ยายเป็นจริงๆ เมื่อนั้นในมุมลับส่วนตัว ในห้องนอน และในหัวใจของยาย ก็เริ่มบังเกิดเกลียดชังแม่ขึ้น” (หน้า 71) พ่อของยายก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ เพราะพ่อคิดเช่นเดียวกับแม่ว่า “การมีลูกเป็นหน้าที่ทางสังคม” (หน้า 73) ทั้งพ่อและแม่จึงไม่สนใจเรื่องพัฒนาการทางจิตใจของลูกเท่ากับการฝึกให้มีระเบียบวินัย แถมพ่อมักมีคำพูดที่ทิ่มแทงให้เธอเจ็บปวดและฝังใจจำ การที่พ่อไม่รักอาจมีสาเหตุมาจากการที่ยายเกิดในวันตายครบรอบหนึ่งปีของพี่ชาย ยายจึงเป็นภาพเตือนที่สะกิดใจพ่อถึงความเจ็บปวดและความหวังที่จะมีลูกชายคนโตสืบสกุล ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวของยายจึงทบทวีขึ้นเรื่อยๆ จากเด็กจนโต อีกทั้งการทิ้ง “ตัวตน” เพื่อสร้างบุคลิกจอมปลอมทำให้จิตใจของยายต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วง เพราะ “อะไรบางอย่างที่อยู่ลึกๆ ในตัวยายคิดกบฏอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งต้องการเป็นตัวของยายเอง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งอยากปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของโลกเพื่อให้คนมารัก” (หน้า 122)
ยายแต่งงานกับผู้ชายที่ยายต้องตั้งคำถามว่า “นี่ยายรักเขาหรือ หรือว่า… เป็นเพียงความพลั้งพลาด” (หน้า 204) หลังจากแต่งงานแล้วยายเป็นแม่บ้านผู้โดดเดี่ยวเดียวดายและไร้ตัวตน การพบรักกับผู้ชายอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งงานแล้วจึงเป็นเสมือนทางออกของการแสวงหาตัวเองและความรักที่ยายไม่เคยได้รับและไม่เคยรู้สึก จนยายตั้งครรภ์กับเขา ยายจึงเลิกราจากคนรักที่เร้นลับอยู่ในโลกส่วนตัว เมื่อมีลูกสาวแล้ว ยายไม่ต้องการกำหนดแบบอย่างให้อิลาเรีย ผู้เป็นลูกสาวปฏิบัติตามเหมือนที่ยายเคยถูกกระทำ ยายจึงให้อิลาเรียมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ โดยลืมจุดอ่อนของตนเองคือความไม่มั่นใจ ความเปราะบาง และความอ่อนแอ ซึ่งทำให้ยายไม่กล้าปะทะ คัดค้าน หรือตักเตือนเมื่อเห็นว่าลูกสาวเดินผิดทาง เพราะเกรงว่าลูกจะไม่รัก เมื่อลูกสาวหัวขบถของยายไม่มีแม่ที่แข็งแกร่งให้ยึดเหนี่ยวพึ่งพา ก็กลับนำจุดอ่อนเหล่านี้มาใช้ในการทำร้ายจิตใจของยาย ยายกับลูกสาวเป็นคู่ขัดแย้งกันทุกเรื่องเช่นเดียวกับคู่ของยายกับแม่ที่ไม่เคยเข้ากันได้ อิลาเรียใช้เสรีภาพตามอำเภอใจจนสร้างความเดือดร้อนใส่ตัว ทั้งการเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองตามกระแสของกลุ่มนักศึกษาในสมัยนั้น และความป่วยไข้ที่ทำให้เธอหันไปพึ่งจิตแพทย์ แล้วกลับถูกหลอกลวงจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมถึงการใช้ชีวิตเสรีทางเพศจนได้ลูกสาวที่ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ เมื่ออิลาเรียซมซานกลับมาให้ช่วยเหลือ ยายปฏิเสธเหมือนกับจะเป็นการสอนบทเรียนให้รู้ว่าการใช้เสรีภาพตามใจชอบนั้นสร้างหายนะแก่ชีวิตอย่างไร ทั้งนี้ยายอาจจะลืมไปแล้วว่าพ่อของยายก็ให้บทเรียนแบบนี้เช่นกันเมื่อยายดึงดันจะเรียนมัธยมปลายสายศิลป์ พ่อจำใจยอมตาม แต่เมื่อยายเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พ่อปฏิเสธเสียงแข็งที่จะพูดเรื่องนี้ ความขัดแย้งระหว่างยายกับอิลาเรียถึงจุดแตกหักเมื่อยายหลุดปากบอกความลับที่เก็บมาตลอดชีวิตว่าอิลาเรียไม่ใช่ลูกสาวของผู้ชายคนที่เธอคิดว่าคือพ่อแท้ๆ และในวันเดียวกันนั้น อิลาเรียประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ยายรับหลานสาวตัวน้อยมาอยู่ในความดูแล ยายเป็น “แม่ใหญ่” ที่ทุ่มเทความรักให้หลานสาวคนเดียว เมื่อหลานสาวยังเล็ก ทั้งสองคนมีชีวิตอบอุ่น มีความสุขใจ แต่ยิ่งหลานสาวโตขึ้น ช่องว่างระหว่างวัยก็ถ่างกว้างขึ้น จนต่างฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจกัน ต่างทำร้ายจิตใจสร้างความปวดร้าวให้แก่กัน ความหยิ่งยโส ความก้าวร้าวแสดงพลังเดือดพล่านขึ้นทุกที ในบ้านจึงราวกับวางกับระเบิดไว้ และแล้ววันหนึ่งหลานสาวก็ขอลาจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ อันน่าอึดอัด รวมทั้งตัวยาย ไปหาเสรีภาพของชีวิต
นวนิยายเรื่องดั่งใจปรารถนา บอกเล่าให้เราเห็นว่าความสุดขั้วทั้งเผด็จการหรือเสรีนิยมต่างก็พามนุษย์ไปสู่ห้วงเหวแห่งหายนะ เพราะเมื่อยึดมั่นในขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างล้นเกิน สิ่งนั้นก็ทำลายความรักอันเป็นพรศักดิ์สิทธิ์เพื่อเยียวยาจิตใจ สิ่งนั้นทำลาย “ตัวตน” ของแท้ให้เหลือเพียงบุคลิกปลอมๆ และเมื่อขาดความรักความมั่นใจที่มีให้กันแล้ว สายสัมพันธ์ในครอบครัวก็ขาดสะบั้น
ชีวิตขมขื่นไร้สุขของยาย ลูกสาว และหลานสาวเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน ทุกคนล้วนดิ้นรนแสวงหาความหมายของชีวิต การถูกกดดันด้วยจารีตสังคมในสมัยของยาย การต่อต้านสังคมและการเมืองในสมัยของอิลาเรีย และช่องว่างระหว่างเด็กสาววัยแย้มบานกับหญิงชราวัยร่วงโรยในสมัยของหลานสาว เป็นพลังให้แต่ละคนเลือกโบยบินไปสู่เสรีภาพโดยไม่ลังเลและขลาดกลัว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้คำตอบแท้จริงของชีวิต ในบั้นปลายยายไม่ต้องการให้ความรักของเธอเป็นคุกกักขังเสรีภาพของหลานสาว และขณะเดียวกันยายก็ได้แต่หวังว่าบันทึกของเธอที่หลานสาวจะได้อ่านหลังจากยายตายจากไปแล้วจะเป็นสิ่งประคับประคองใจให้หลานนึกถึงวันวารที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสดใสและอบอุ่น ยายให้กำลังใจหลานสาวให้ใช้เสรีภาพในชีวิตอย่างมีอิสระดั่งใจปรารถนา เพียงแต่เตือนสติให้รู้ว่าสิ่งที่ต้องทำคือทำความรู้จักตนเองให้ถ่องแท้ ยืนหยัดอย่างมั่นคงเช่นต้นไม้ที่มีราก กิ่งก้าน และใบที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ท่ามกลางสรรพสิ่งและให้อยู่เหนือสรรพสิ่งนั้น นั่นคือไม่ถูกพัดพาให้ลอยเปะปะไปตามกระแส และที่สำคัญก็คือเมื่อพบทางแยกของชีวิต ต้องไม่ใจร้อนมุทะเล แต่ต้องอดทน มีสติ รอคอยอย่างสงบและมั่นใจ แล้วจึง “คอยเงี่ยฟังเสียงหัวใจของหนู ถ้ามันพูดกับหนูเมื่อไร เมื่อนั้นแหละจงลุกขึ้น แล้วก้าวตามไปตามที่หัวใจนำทาง” (หน้า 326)
นวนิยายเรื่องนี้ที่ดูเหมือนว่าน่าเบื่อทั้งเนื้อหาและลีลาการเขียน จึงเป็นนวนิยายที่ต้องอ่านละเอียด อ่านอย่างครุ่นคิดพินิจนึก จึงจะอิ่มเอมกับ “สาร” ของเรื่องซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าความรักความสัมพันธ์ของมนุษย์มีความสำคัญเช่นไร เรากำลังอยู่ในโลกที่แยกมนุษย์ให้โดดเดี่ยว ไร้สิ่งยึดเหนี่ยว ขาดความมั่นคง การเรียกร้องเสรีภาพของตัวเอง การระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น การทำลายขนบเก่าเพื่อสร้างใหม่ ล้วนเป็นปฏิกิริยาเพื่อสร้างความหมายให้ตัวตนที่พร่าเลือนและสร้างความมั่นใจให้แก่หัวใจที่เปราะบาง นวนิยายเรื่องนี้เล่าจากมุมมองของยาย ไม่ว่ายายจะทำผิดพลาดในชีวิตมามากเพียงไร ทุกข์ใจขนาดไหน แต่ยายก็ยังศรัทธาในความรักและเชื่อมั่นในเสรีภาพ สำหรับนักอ่านสายธรรม อาจจะพอใจที่ยายผู้มาจากครอบครัวซึ่งพ่อและแม่บอกว่าไม่มีศาสนา ได้พบการเยียวยาจากหลักคำสอนที่ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนาว่า “ทุกข์เท่านั้นที่ทำให้เติบโตขึ้น…แต่ความทุกข์นั้นเราต้องเผชิญหน้ากับมันตรงๆ ใครเลี่ยงหรือใครมัวสงสารตัวเอง ผู้นั้นก็แพ้” (หน้า 291-292) ส่วนนักอ่านสายปรัชญาก็อาจจะพอใจในคำพูดง่าย ๆ แต่ต้องตีความหนัก เช่น “ หากนั่งอยู่ใต้ต้นโอ๊ค จงอย่าเป็นตัวเอง แต่จงเป็นต้นโอ๊ค อยู่ในป่าจงเป็นป่า อยู่ในทุ่งหญ้าจงเป็นทุ่งหญ้า อยู่ท่ามกลางมนุษย์จงอยู่กับมนุษย์” (หน้า 295-296) ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างกลมกลืน มีสติและสงบ ไม่อวดโอ่ หรือคิดว่าตนอยู่เหนือคนอื่น ข้อคิดดี ๆ แบบนี้มีทั้งที่อยู่บนบรรทัดและระหว่างบรรทัดตลอดทั้งเล่ม
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์