Daily Table ร้านของชำขวัญใจคนจน

-

ดั๊ก เราช์ (Doug Rauch) เคยเป็นประธานบริษัท Trader Joe’s ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาที่มีสาขามากถึง 500 สาขา

ในปี 2015 ดั๊กขณะมีอายุ 50 กว่าตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำสิ่งที่เขาเห็นว่าท้าทายและมีคุณค่ามากกว่า

ดั๊กพบว่า 1 ใน 6 ของคนอเมริกันนั้นกินข้าวไม่อิ่มท้อง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา เมื่อได้ศึกษามากขึ้นดั๊กจึงพบว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องมีอาหารไม่พอกิน แต่คนที่ฐานะยากจนนั้นสามารถซื้อกินได้แต่ของถูกๆ จึงมักจำใจต้องกินอาหารขยะหรือ junk food นั่นเอง

ในอีกมุมหนึ่ง อาหารเหลือทิ้งหรือ food waste นั้นก็เป็นปัญหาใหญ่ อาหารอย่างน้อยร้อยละ 30 ที่ผลิตขึ้นมาในอเมริกานั้นไม่ได้ไปถึงปากท้องของประชาชน แต่โดนส่งไปที่กองขยะหรือไม่ก็ถูกนำไปถมที่ เศษอาหารเหล่านี้จะปล่อยก๊าซมีเธน (methane) ออกมาและสร้างสภาวะเรือนกระจกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า ถ้าพิจารณาอาหารเหลือทิ้งในแง่นี้ อเมริกาก็จะเป็นรองแค่จีนในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก

 

 

นอกจากนี้อาหารเหลือทิ้งส่วนใหญ่ยังไม่ใช่อาหารที่เน่าเสียด้วย บางทีก็เป็นแค่แครอทที่หน้าตาไม่สวยงามและโดนคัดทิ้งก่อนบรรจุลงกล่อง หรืออาหารกระป๋องที่ยังเก็บได้อีก 4 เดือนก่อนจะหมดอายุ แต่ก็ไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าไหนยอมซื้อไปขาย

แม้ว่าในอเมริกาจะมีโครงการอย่าง Food Stamp ซึ่งช่วยสงเคราะห์ค่าอาหารให้แก่คนที่ฐานะยากจน แต่มากกว่า 1 ใน 3 ของคนที่ใช้ฟู้ดแสตมป์ก็ยอมรับว่าพวกเขารู้สึกอับอายที่ต้องใช้ฟู้ดสแตมป์เวลาจ่ายเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต

“เป้าหมายของผมคือการสร้างร้านขายของชำในราคาที่พวกเขาจับจ่ายได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย” ดั๊กกล่าว

 

 

ดั๊กจึงก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Daily Table ที่รับซื้ออาหารเหลือทิ้งในราคาต่ำ แล้วนำมาขายต่อในราคายุติธรรม ประชาชนรายได้ต่ำจึงมีทางเลือกที่จะได้กินอาหารอันมีคุณค่าทางโภชนาการ สาขาแรกตั้งอยู่ในเมืองดอร์เชสเตอร์ (Dorchester) ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนรายได้ต่ำ

และเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายคือคนที่รับงานหลายจ๊อบเพื่อให้มีเงินเพียงพอมาจุนเจือครอบครัว พวกเขาจึงแทบไม่มีเวลาเข้าครัว เดลี่เทเบิ้ลจึงมีครัวเพื่อทำอาหารจังก์ฟู้ดปรุงสุกแต่ละวันในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ

 

 

ในปี 2017 เดลี่เทเบิ้ลยังขาดทุนอยู่เดือนละ 1.5 ล้านบาท แต่ดั๊กเชื่อว่าเมื่อเปิดสาขาใหม่ๆ ต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉลี่ยจะลดลงและสามารถตั้งหลักได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค ณ ตอนนี้เดลี่เทเบิ้ลเปิดให้บริการแล้ว 3 สาขาและมีสมาชิกถึง 43,000 คน

นี่คือกรณีศึกษาของการนำความรอบรู้ทางธุรกิจมาแก้ปัญหาให้สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนครับ


คอลัมน์: มุมละไม

เรื่อง: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์

ภาพ : https://dailytable.org/


เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ LINE MAN Wongnai

ประวัติผู้เขียน 

รูปของผู้เขียน

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!