คอลัมน์ ถนนวรรณกรรม เคยนำเสนอสำนักพิมพ์หลายแห่งที่พิมพ์หนังสือแปลจากประเทศญี่ปุ่น และแน่นอนว่าจะขาดสำนักพิมพ์นี้ไม่ได้เลย นั่นคือ สำนักพิมพ์ไดฟุกุ มีเจ้าสำนักคือ อลีน เฉลิมชัยกิจ ทายาทสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ที่ผลิตหนังสือแนวธรรมปรัชญาและภูมิปัญญาจีน อลีนเคยได้รับทุนไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นนานห้าปี เธอเรียนจบด้านวัฒนธรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว จึงมีความสนใจในภาษา ปรัชญา และวัฒนธรรมญี่ปุ่น หลังจากช่วยงานธุรกิจที่บ้านได้ระยะหนึ่ง ก็ตัดสินใจตั้งสำนักพิมพ์เอง มุ่งทำหนังสือแปลญี่ปุ่นตามความชอบ เปิดตัวด้วยหนังสือแคแรกเตอร์บุ๊ก มีตัวการ์ตูนน่ารักที่คนไทยคุ้นเคย เช่น รีลัคคุมะ ซุมิกโกะ มาเมะโกมะ ซึ่งสะท้อนชีวิตและนำเสนอธรรมะในสไตล์น่ารักๆ แบบฉบับญี่ปุ่น ตามมาด้วยหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนจากนักเขียนชื่อดัง ฮิงาชิโนะ เคโงะ ตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 40 ปก และเปิดตลาดสู่หนังสือแปลญี่ปุ่นแนวอื่นๆ ต่อไป อาทิ how-to สุขภาพ และจิตวิทยา
จุดเริ่มต้นและปณิธานของสำนักพิมพ์
หลังเรียนจบอลีนทำสำนักพิมพ์สุขภาพใจกับพี่สาว (โชนรังสี) เกือบสิบปี หนังสือธรรมะที่เป็นหมวดหลักเริ่มหาฟังได้ฟรีทางออนไลน์ ยอดขายจึงลดลง อลีนอยากนำเสนอธรรมะรูปแบบใหม่ จึงเริ่มซื้อลิขสิทธิ์แคแรกเตอร์บุ๊ก เช่น ซุมิกโกะ รีลัคคุมะมาเมะโกมะ ชิตตะกะทำเป็นรู้กับบุตตะ ตัวการ์ตูนของญี่ปุ่นเหล่านี้เหมือนนำธรรมะสีเข้มมาผสมให้กลายเป็นสีพาสเทล เคี้ยวง่าย กลืนง่าย แถมอ่านแล้วอมยิ้มตาม เช่น ภาพรีลัคคุมะพักผ่อน นอนเกลือกกลิ้งที่พื้น ทิ้งทิชชูเกลื่อนอยู่รอบตัว แล้วมีสายตานกสีเหลือง ผู้คุมกฎจับจ้องทำนองว่ารกมาก เอาแต่นอนอีกแล้ว และมีคำพูดสั้นๆ ว่า “จะมองเห็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองสินะ” สะท้อนว่าคุมะนอนสบาย ส่วนนกสีเหลืองเครียด แม้อยู่ในที่เดียวกันแต่เห็นต่างกัน หนังสือแคแรกเตอร์เหล่านี้ได้รับการผลิตจากทีมนักคิดนักวาดระดับโลก มีเนื้อหาให้วิเคราะห์ต่อยอดได้ และยังไม่มีแนวนี้ในไทยเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน เพราะค่าลิขสิทธิ์สูง แฟนคลับยังเป็นกลุ่มเล็กๆ เนื่องจากราคาหนังสือสูงกว่าการ์ตูนทั่วไป การเปิดตลาดเลยต้องใช้พลังมาก ห้าปีต่อมาเราย้ายการลงทุนไปทำนิยายสืบสวนที่ตลาดใหญ่กว่า
ปณิธานสำนักพิมพ์ไดฟุกุไม่ต่างจากสำนักพิมพ์สุขภาพใจที่คุณพ่อก่อตั้ง คือ “เพื่อชักชวนให้ผู้คนสนุกกับการมองเห็นและเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องนามธรรม รากฐานชีวิต สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา”
ที่มาของชื่อสำนักพิมพ์
ที่ตั้งชื่อ “ไดฟุกุ” เพราะตั้งใจให้คนไทยจำง่ายและมีกลิ่นอายญี่ปุ่น อีกทั้งตัวอักษรคันจิของคำว่าไดฟุกุ 大福 แปลว่าสมบัติอันยิ่งใหญ่ ความหมายดีงามเลยเลือกชื่อนี้
แนวหนังสือของสำนักพิมพ์
ไดฟุกุเน้นผลิตหนังสือนิยายคุณภาพดี มีรางวัลการันตีความสนุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวสืบสวนดราม่า นิยายดีๆ ทุกเล่มล้วนสร้างเสริมประสบการณ์และจินตนาการอันสวยงาม ยิ่งวิกฤติยิ่งต้องการจินตนาการหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตต่อไป แม้ทุกข์ยากเพียงใด มุมมองที่สวยงามเป็นกำลังใจให้ก้าวต่อไปได้เสมอ
กระบวนการผลิตหนังสือแต่ละเล่ม
เริ่มจากค้นหาหนังสือที่ผู้อ่านสนใจ มีหนังสือมากมายในตลาด เราเลือกจากหนังสือที่ได้รับรางวัลหรือได้รับการจัดอันดับในญี่ปุ่น จากนั้นติดต่อเอเจนซี่ว่าลิขสิทธิ์เล่มนั้นว่างหรือไม่ ขอไฟล์หนังสือมาอ่านดู ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาอ่านทั้งเล่ม ต้องอ่านรีวิวออนไลน์เป็นหลัก เมื่อตัดสินใจว่าเล่มนี้ดีสำหรับผู้อ่านแน่นอน ก็ตกลงทำสัญญา จ่ายค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้า เริ่มหานักแปลที่เหมาะสม
ช่วงเวลาแปลอยู่ที่ 2-3 เดือน หรือมากกว่านั้น เป็นปีก็มี จากนั้นก็ตรวจแก้ต้นฉบับโดยนักแปลท่านอื่น เพื่อตรวจสอบว่ามีประโยคไหนตกหล่นหรือแปลไม่ตรง ใช้เวลาตรวจแก้ประมาณ 1 เดือน ระหว่างนี้ก็คิดชื่อหนังสือและคำโปรยปกหน้า ปกหลัง คำโฆษณา เมื่อตรวจแก้สำนวนแล้ว ส่งไปพิสูจน์อักษร จากนั้นบรรณาธิการอ่านตรวจสอบรอบสุดท้ายก่อนส่งไปจัดทำอาร์ตเวิร์กเนื้อในและปก บรรณาธิการต้องคิดว่าจะนำเสนอรูปแบบปกอย่างไรให้โดนใจคนอ่าน ชื่อหนังสือเมื่อมองผ่านปราดเดียวแล้วต้องดึงดูดความสนใจ เพราะเราต้องแข่งกับสื่อออนไลน์ แต่ถึงกระนั้นเนื้อหาหนังสือยังสำคัญที่สุด
เมื่อจัดอาร์ตแรกเรียบร้อยก็ตรวจสอบการตัดคำในทุกบรรทัด เช่น พยายาม คำว่า ยาม ต้องไม่ถูกตัดไปอยู่อีกบรรทัด เพื่อให้อ่านลื่นไหล ตรวจแก้อาร์ตกันอีกหลายรอบก่อนส่งทำเพลต ตรวจสีหน้าแท่นพิมพ์ แล้วหนังสือก็จะออกมาเข้าคลังสินค้า กระจายไปตามร้านหนังสือทั่วประเทศ ช่วงโควิดแนวโน้มการซื้อหนังสือออนไลน์โดยตรงจากสำนักพิมพ์มากขึ้น แต่การขายหนังสือที่ร้านยังเป็นช่องทางหลักของไดฟุกุ
จุดเด่นของสำนักพิมพ์ที่แตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่น
ถ้าพูดเรื่องเนื้อหา เรารวมผลงานอาจารย์ฮิงาชิโนะ เคโงะ อัจฉริยะนักเขียนนิยายสืบสวนของญี่ปุ่นไว้มากที่สุดถึง 50 ปก พิมพ์ออกมาแล้วกว่า 40 ปก ปีนี้ทยอยออกอีกประมาณ 10 ปก มีผู้ติดตามและสนับสนุนให้เราไปต่อได้ แต่ไม่ถึงกับสบาย ถือว่ายังต้องปากกัดตีนถีบอยู่
จุดเด่นด้านทีมงาน เราทำงานแบบครอบครัวมากๆ ทีมงานช่วยเหลือกัน เหนียวแน่น อบอุ่น ต่อให้วิกฤติยังไงก็สู้ไปด้วยกัน คนรุ่นพ่อแม่น้าอายังอยู่ คนรุ่นใหม่ก็เข้ามาเรียนรู้ จากรากฐานแนวคิดการทำงานแบบช่วยเหลือกันนำไปสู่หนังสือคุณภาพที่มุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน ช่วงเวลาที่อ่านหนังสือ เป็นช่วงที่เนิบช้า นิ่งลง และผ่อนคลาย จึงอยากชวนคนให้มาอ่านหนังสือกันมากขึ้น แม้จะรู้สึกช้าในช่วงแรก แต่พอเริ่มสนุก เริ่มติด ก็จะวางไม่ลงแน่นอน คุณค่าของเรื่องราวทรงเสน่ห์มากๆ
เศรษฐกิจไทยอาจยกระดับขึ้นได้ด้วยการอ่านนิยายสนุกของไดฟุกุนะ อ๊ะ ยังไง ในเมื่อเอสเอ็มอีคือกลุ่มบริษัทส่วนใหญ่ในไทย ถ้าเอสเอ็มอีรอด ประเทศก็ไปต่อได้ ปัญหาหลักของเอสเอ็มอีคือ การสร้างคนไม่ไวพอกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ในเมื่อรัฐไม่ได้สนับสนุนเอสเอ็มอี แต่สนับสนุนบริษัทยักษ์ใหญ่ หน้าที่ของคนส่วนใหญ่ในไทยก็คือผลักดันตัวเองขึ้นมาจนเห็นทางรอดให้ได้ วิธีการทำงานประจำวันเราอาจไม่พัฒนาเท่าเกาหลี ญี่ปุ่น เพราะนโยบายการศึกษาของรัฐ แต่ถ้ามองให้กว้างไกล เรามักทำงานตามความคุ้นเคยของสมอง เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ไม่ทัน ไม่ค่อยกล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย การอ่านนิยายช่วยดึงให้เราได้เข้าไปอยู่ในชีวิตแปลกใหม่ของคนไม่ซ้ำกันทุกเล่มทุกบท ผู้ชอบอ่านจะบ่มเพาะตัวเองให้กลายเป็นคนสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ได้ง่าย ชอบความท้าทาย ส่งผลถึงการยอมรับวิธีใหม่ๆ ในการทำงาน การใช้ชีวิต เพื่อให้รอดปลอดภัยในยุคการเปลี่ยนแปลงเชี่ยวกรากนี้ได้
อุปสรรคและข้อได้เปรียบของสำนักพิมพ์เล็ก
อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจใหญ่ จุดนี้พลอยทำให้การดำเนินงานเป็นเรื่องยาก ผู้บริหารไม่อาจโฟกัสกับการเดินไปข้างหน้าได้เต็มที่ เพราะต้องบริหารงานด้วย สอนและสร้างคนทำงานด้วย เรียกว่าผู้บริหารสำนักพิมพ์เล็กต้องทำทุกขั้นตอนเอง ตั้งแต่เลือกหนังสือ เลือกกระดาษ เลือกโรงพิมพ์ จนถึงอบรมพนักงาน สอนงาน ดูอาร์ต ดูโฆษณา และเมื่อฝึกคนเก่งขึ้นแล้ว ก็มีแนวโน้มจะออกไปเป็นฟรีแลนซ์หรือไปบริษัทที่ใหญ่กว่า เป็นธรรมชาติเรื่องกำไรและเรตค่าแรงที่มีสัดส่วนต่างกัน ส่วนข้อได้เปรียบคือ มีเรื่องอะไรด่วนผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้ไว ปรับตัวไว กระบวนการทำงานมีขั้นตอนรวบรัดกว่า
สิ่งที่ยากที่สุดของการทำสำนักพิมพ์
คนชอบอ่านหนังสือมีแนวโน้มใช้เวลาอ่านลดลง คนที่ชอบฟังหนังสือหรืออ่านอีบุ๊คก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาจนทดแทนกันได้ แน่นอนในระดับมหภาค สิ่งยากสุดคือทำอย่างไรให้มีนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการอ่านได้เต็มที่ สร้างปัญญาจากฐานรากสังคม งบประมาณไม่กี่สิบล้านสามารถสร้างสถาบันหนังสือเพื่อส่งเสริมให้คนไทยส่วนใหญ่มีโอกาสอ่านหนังสือดีได้มากขึ้นแบบโมเดลของประเทศอินเดีย อ.มกุฏ อรฤดี แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อเคยเสนอให้จัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติเมื่อกว่าสิบปีก่อน ผ่านไปถึงร่างกฎหมายกฤษฎีกาแล้ว แต่ลงท้ายก็ไม่ได้รับการสนับสนุน ประดุจว่าถ้าคนไทยอ่านหนังสือเก่งขึ้น จะทำให้เกิดความยุ่งยากหรืออย่างไร
แนวทางการตลาด
การตลาดหนังสือต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภค คือไม่ต้องทำการตลาดแข่งขันในน่านน้ำสีแดง เน้นเลือกหนังสือที่คนไทยชอบอ่าน และทำออกมาให้มีจำนวนมากพอรองรับผู้อ่านกลุ่มเดิมได้ต่อเนื่อง เน้นทำการตลาดออนไลน์สื่อสารให้ร้านหนังสือและคนอ่านรู้ถึงคุณค่า ความแปลกใหม่ ความลุ้นระทึกของแต่ละเรื่อง ถ้าเลือกหนังสือมาดี ทำปกให้ดึงดูด เนื้อหาด้านในตรงใจคนอ่าน จะมีคนอ่านแนะนำแบบปากต่อปาก โดยอ่านรีวิวออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ
แผนการผลิตหนังสือ
หมวดนิยายสืบสวนปีนี้วางแผนออกเดือนละ 3-5 ปก และยังมีหมวด how-to ธุรกิจ หมวดสุขภาพที่เข้าใจง่าย หมวดจิตวิทยา เราออกกระจายหมวด อาจมีข้อด้อยตรงแต่ละหมวดไม่แข็ง แต่ข้อดีคือมีความหลากหลาย ลูกค้าคนหนึ่งเมื่อซื้อนิยายแล้ว ยังสามารถหยิบ how-to สุขภาพ หรือจิตวิทยาได้อีกด้วย
กลยุทธ์เพื่อการยืนหยัดอยู่รอดในธุรกิจหนังสือ
เราไม่ตักตวงประโยชน์ไว้ฝ่ายเดียว แต่เปิดกว้างให้พันธมิตรทางธุรกิจได้รับประโยชน์ด้วย เช่น เราดูแลนักแปลอย่างดีเป็นพี่เป็นน้อง ดูแลโรงพิมพ์ดุจญาติมิตร ดูแลร้านหนังสือเหมือนเพื่อนคู่คิด เราจะไม่อยู่รอดคนเดียว การยืนหยัดอยู่ได้นั้นยังต้องอาศัยทีมงานที่อยู่กันมานาน ซึ่งเสียสละอดทนไปด้วยกัน เห็นแก่บริษัท เห็นแก่ส่วนรวม แล้วเรื่องประโยชน์ส่วนตัวจะตามมาเอง
ส่วนปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้อยู่รอดในธุรกิจคือ เนื้อหาที่นำเสนอ ยกระดับองค์ความรู้ เฉพาะทางมากขึ้น และแปลกใหม่ไม่เคยมี เช่น เลี้ยงลูกให้ฉลาดด้วยกระดาษแผ่นเดียว เป็นวิธีเลี้ยงลูกซึ่งใช้กระดาษสื่อสารสิ่งที่แม่ต้องการให้ลูกทำ ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะแต่ได้ผลดีเยี่ยม ยังไม่มีเล่มไหนหรือใครออกมาพูดหรือสอนจริงจัง ถ้าเป็นหมวดนิยายสืบสวน เน้นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องอ่านได้ แต่สร้างชุมชนที่เหนียวแน่นเป็นเพื่อนกัน ร่วมกันอ่าน
ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสำนักพิมพ์
ทำงานยากขึ้น ท้าทาย ช่วงโควิดบุกหนัก อลีนเกือบจะเป็นซึมเศร้า แต่ก็ฉุดตัวเองขึ้นมาได้เพราะหนี้สินไล่ล่าให้มีแรง (ฮา) หน้าที่ของเราคือต้องทำให้ครอบครัวพนักงานอยู่ได้ ธนาคารยังให้เครดิต โรงพิมพ์ ร้านกระดาษ นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ญี่ปุ่น ยังอยากทำงานกับเราไปเรื่อยๆ ในขณะที่การขายยากขึ้น เพราะการงดจัดงานหนังสือ และคนส่วนใหญ่ให้เวลาแก่การอ่านน้อยลง ไปใช้เวลากับสื่อออนไลน์ เกม หนังหรือซีรีส์ แต่ก็ยังมีแฟนจำนวนหนึ่งที่ยังเหนียวแน่น เขารู้ว่าความรู้สึกที่ได้จากการอ่านนั้นลึกซึ้งและหาจากสื่อเคลื่อนไหวไม่ได้
ส่วนแนวทางส่งเสริมการอ่าน คือต้องสื่อสารให้คนรู้ว่า หนังสืออ่านแล้วดียังไง ล้ำลึกยังไง ถ้าใช้เวลากับจอมากไป สมองจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง มีงานวิจัยออกมาเยอะเลยว่า สมองไม่ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ชอบ multi-tasking สมองชอบการจดจ่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าทำหลายอย่าง เช่น กินข้าวพลาง ดูทีวีพลาง สลับกันไปมา นานวันเข้าอาจกลายเป็นสมาธิสั้นได้
หนังสือของไดฟุกุที่อยากแนะนำ
- ซีรีส์ แมงกะพรุนไม่เป็นน้ำแข็ง
เขียนโดย อิจิคาว่า ยูโตะ
นักเขียนนิยายสืบสวนผู้ได้รางวัล Ayukawa Tetsuya รางวัลสำหรับนิยายสืบสวนที่มีความแปลกใหม่ เรื่องนี้ใส่ลูกเล่นที่ไม่เคยปรากฏ เช่นการวางตัวละครหลักคู่หู ตำรวจหญิงที่มุทะลุและนักสืบชายผู้สุขุม มีฉากต่อล้อต่อเถียงเหมือนได้อ่านมังงะตลกๆ ซึ่งนักเขียนรุ่นใหม่นิยมผสมนิยายสืบสวนดั้งเดิมกับมังงะ นอกจากนั้นยังเด่นเรื่องเทคโนโลยีย้อนยุคไปยังทศวรรษ 1980 เช่น เทคโนโลยี Smart Glass หรือกระจกที่ใช้ทำมือถือในปัจจุบัน ผนวกกับจุดเด่นคือเรื่องดราม่าแก้แค้นที่ดึงดูดให้เราลุ้นอยู่ตลอด
- กลลวงซ่อนตาย
เขียนโดย ฮิงาชิโนะ เคโงะ
อลีนแนะนำให้อ่านเล่มนี้เป็นเล่มแรก เพื่อเข้าสู่จักรวาลของอาจารย์เคโงะ อาจารย์ชอบเขียนแนวทดลอง ทุกเล่มจึงมีความแปลกใหม่ อย่าง กลลวงซ่อนตาย จะรู้ตัวฆาตกรตั้งแต่ต้นเรื่อง แล้วลุ้นไปกับการหาว่าฆาตกรทำอย่างไรให้ตำรวจหาหลักฐานจับกุมไม่ได้ พอเฉลยแต่ละเทคนิค โอ้โห คิดได้ยังไง ตัวเอกคนหนึ่งเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคณิตศาสตร์เลย และตัวเอกผู้มาไขคดีได้ฉายา ‘กาลิเลโอ’ เป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์