แท้ที่จริงแล้วครัวซองต์ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศส หากแต่พบการอบครัวซองต์ครั้งแรกในกรุงเวียนนา
ต่อมาใน ค.ศ.1770 เมื่อพระนางมารี อังตัวเน็ตต์ เจ้าหญิงจากออสเตรียอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ชาวปารีสจึงอบขนมนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระนาง และเรียกว่า “ครัวซองต์” ครัวซองต์จึงได้กลายเป็นอาหารหลักของร้านขนมต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970
ชื่อของ “ครัวซองต์” มาจากรูปทรงที่คล้ายพระจันทร์เสี้ยว (croissant ภาษาฝรั่งเศสแปลว่าจันทร์เสี้ยว) เป็นขนมปังที่ต่อมาได้รับความนิยมจากชาวฝรั่งเศสจนทุกวันนี้ เนื้อของขนมจันทร์เสี้ยวมีความแตกต่างจากขนมปังชนิดอื่นตรงที่เป็นแป้งชั้นบางๆ จำนวนมากเรียงซ้อนกัน โดยคั่นด้วยชั้นเนย แต่ละชั้นจึงแยกจากกัน และตัวขนมมีความหอมและฉ่ำเนย ครัวซองต์ที่ดีจะมีชั้นนอกที่กรอบ ขึ้นสีน้ำตาลสวย เมื่อใช้มือฉีก ชั้นนอกที่บางกรอบจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (ชาวฝรั่งเศสเคยบอกว่าครัวซองต์ที่ดีเมื่อบิแล้วเศษขนมต้องหกเรี่ยรายเช่นนี้) ชั้นในเป็นโพรงอากาศน้อยใหญ่อันเกิดระหว่างชั้นแป้ง เนื้อเบา มีความหอมมันจากเนย นิยมกินกับกาแฟเป็นมื้อเช้า หรือคู่กับการจิบชายามบ่ายก็เข้ากันได้ดี ครัวซองต์ยังมีอีกหลายแบบ ที่เห็นบ่อยคือครัวซองต์ไส้ช็อกโกแลต ครัวซองต์ไส้ถั่วอัลมอนด์ ครัวซองต์แฮมชีส ครัวซองต์ไส้แยม ฯลฯ ซึ่งล้วนถูกม้วนเป็นทรงกระบอกหัวท้ายแหลมเสมือนจันทร์เสี้ยว
ปัจจุบันครัวซองต์เป็นขนมปังที่เรียกได้ว่ากำลังฮิตในบ้านเรา มีหลากหลายราคาตามแต่คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ เช่น เนยแท้จากยุโรปอันแสนแพง หรือเนยท้องถิ่นซึ่งมีส่วนผสมของเนยจากน้ำมันพืชที่ราคาถูกกว่า จนกระทั่งมีโรงงานทำขนมบางแห่งได้ปั้นแบบแช่แข็ง พร้อมให้ลูกค้าเอามาอบเอง บ้างก็ไปเรียนหลักสูตรทำขนมปังค่าเล่าเรียนหลายแสนแล้วมาเปิดร้าน และรสชาติไม่ได้ต่างกับยี่ห้อดังจากเมืองนอกทั้งหลายเพราะใช้วัตถุดิบเหมือนของฝรั่ง หรือบ้างก็ไปซื้อแฟรนไชส์จากฝรั่งเศสมาเปิดร้านตามห้างใหญ่ ชนิดที่ทำแบบสดใหม่ทุกชั่วโมงตลอดวัน เมื่ออบเสร็จส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วยั่วน้ำลาย แม้ราคาชิ้นละเป็นร้อยแต่ลูกค้าสมัยนี้ก็ไม่พรั่น ทั้งนี้ขึ้นกับรสนิยมของลูกค้ากระเป๋าหนักที่ยอมจ่ายแพงเพื่อลิ้มรสต้นตำรับเหมือนนั่งกินอยู่ที่กรุงปารีส
เก็บความและภาพจาก :
WIKIPEDIA
Andre Domine, (Culinaria)
Larousse Gastronomique
ร้านเถียงนา
บางส่วนจากบทความ “รวม 100 เรื่องลับในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครรู้” โดย “วารยา” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (มีนาคม 2554)
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่องโดย: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี
All Magazine มีนาคม 2564