ซ้อนกลจระเข้

-

“ไอ้เข้ ไอ้โขงมะโรงไม้สัก” คนไทยเรารู้จักมักคุ้นกับจระเข้มาช้านาน แต่เนื่องจากพฤติการณ์และลักษณะนิสัยอันลึกลับซับซ้อนของมันไม่เป็นที่ประทับใจ จระเข้จึงถูกเปรียบเปรยแง่ลบในสำนวนไทย เช่น ตะเข้ขวางคลอง ลูกเสือลูกตะเข้ ล่อตะเข้ และ น้ำตาจระเข้ เป็นต้น

นิทานจระเข้ที่ชาวเรารับรู้แพร่หลายคือเรื่องไกรทอง ซึ่งมี “ชาละวัน” เป็นดาวร้าย ตามตำนานพญาจระเข้แห่งเมืองพิจิตร ในบทเสภาขุนช้างขุนแผนมีจระเข้เถรขวาด ก่อเหตุไล่งับผู้คนอยู่แถวป่าโมก แขวงเมืองอ่างทอง นอกจากนี้ยังมีตำนานสถานที่หลายแห่งที่เกี่ยวกับจระเข้ ได้แก่เรื่อง “แม่น้ำจระเข้สามพัน” สุพรรณบุรี และ “เจ็ดเสมียน” ราชบุรีซึ่งเล่ากันมาว่า ในแม่น้ำช่วงนั้นมีประชากรจระเข้หนาแน่นจนต้องจ้างเสมียนนับจำนวนถึงเจ็ดคน

ตอนสายๆ วันหนึ่ง กระผมมีภารกิจต้องไปที่ถ้ำเขาหลวง เพชรบุรี ครั้นถึงที่จอดรถบริเวณดังกล่าว ก็ต้องแปลกใจเมื่อเห็นรถที่จอดอยู่ก่อนหลายคัน บนหลังคามีจระเข้ตัวเขื่องๆ ประดิษฐ์ด้วยผ้าแบบเหมือนจริง นอนอ้าปากอย่างน่าเกรงขาม

ก็แลพื้นที่รอบๆ เขาหลวงทั้งในถ้ำนอกถ้ำเป็นที่ชุมนุมของฝูงลิงเจ้าถิ่น รถราที่ไปจอดทั้งคุ้นถิ่นแปลกถิ่น มักถูกพลพรรคลิงเจ้าถิ่นป่ายปีนรื้อค้นทำลายข้าวของเสียหาย เจ้าของรถคุ้นถิ่นที่มีความเชื่อว่า “ลิงกลัวจระเข้” จึงหาจระเข้ปลอมไปวางหลอกลิงไว้บนหลังคารถ จากการสอบถามปรากฏว่าได้ผลชะงัด รถคันที่วางจระเข้ไม่มีลิงตัวไหนกล้าเข้าไปตอแย

รหัสเหตุที่ลิงไม่วางใจในพฤติการณ์ร้ายกาจของจระเข้มีเล่าไว้ในนนทุกปกรณัม นิทานโบราณของเปอร์เซียและอินเดียซึ่งแพร่หลายและมีการแปลเป็นภาษาไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่องมีว่า

“กาลก่อนมีสระอันกว้างยาวได้โยชน์ ๑ ตั้งอยู่ ณ หิมวันตประเทศ แทบใกล้อาศรมพระฤษี แลในเขตรข้างอาศรมนั้นมีพฤกษาอันทรงผลต่าง ๆ ยังมีเศวตชาติวานรตน ๑ มีบริวาร ๕๐๐ อาศรัยอยู่แทบสระนั้น มีกุมภีล์สวามีภรรยาเปนใหญ่กว่ากุมภีล์ทั้งปวง มองคอยจับวานรกินเปนอาหารทุกวันๆ ครั้นเศวตชาติวานรเห็นดังนั้น ก็บัญชาสั่งฝูงวานรทั้งปวงว่า ผู้ใดกินผลผลาหารอย่าให้เหลือเศษตกลงให้กุมภีล์ได้กินเดนได้ ถ้ากุมภีล์ได้กินเดนแล้วก็จะเปนอริแก่วานรทั้งปวง ฝ่ายปรกติวานรไซร้ แม้นว่าเจ้านายบัญชาอย่างไรก็บมิเสียจารีตเลย 

อยู่มาวัน ๑ ฝูงวานรได้ผลขนุนมากินแล้ววิ่งชิงกัน เศษขนุนนั้นตกลงกุมภีล์ได้รับประทานกินท่อน ๑ ครั้นกุมภีล์ได้พบรสขนุนแล้วก็เอาไปฝากภรรยาท่อน ๑ ภรรยาจึงถามว่า ท่านได้มาแต่ที่ใด กุมภาสามีจึงบอกว่าวานรทั้งปวงเอามากินตกลง เราเห็นว่ามีรสอร่อยเราจึงเอามาฝาก นางกุมภีล์ก็รำพึงว่า แต่เศษอาหารที่วานรกินแลเราได้กินครั้งเดียวสิยังมีรสยิ่งนัก ถ้าว่าดวงหฤทัยวานรนั้นจะมีรสฉันใด คิดดังนั้นแล้วจึงว่าแก่สามีว่า ไฉนท่านจะเอาหฤทัยมาให้ข้ากินได้ สามีจึงว่า อันวานรนี้ย่อมอยู่ถึงยอดพฤกษา ทำไฉนพี่จึงจะเอามาได้ นางกุมภีล์ภรรยาจึงว่าชายแสนโหดหาปัญญามิได้ วิสัยการทั้งปวงจะปราถนาสิ่งใดๆ ก็อาศรัยด้วยล่อลวง เปนมิตรไมตรีให้ท่านเชื่อแล้วเราจึงจะสมคิด


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน  ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!