วิกฤติกับการลงทุน

-

‘วิกฤติ’ จะส่งผลกระทบอย่างไรย่อมแล้วแต่บริบท วิกฤติที่เหล่านักลงทุนรู้จักกันดีคือการตกต่ำอย่างฮวบฮาบของราคาหุ้น หากเป็นวิกฤติขนาดเล็ก ราคาหุ้นอาจตก 30% แต่ถ้าเป็นวิกฤติขนาดใหญ่ ราคาหุ้นอาจตกกว่า 50% ได้เลยทีเดียว

วิกฤติจึงเป็นของแสลงอย่างยิ่งในตลาดหุ้น แต่ในอีกแง่ ช่วงเวลาที่ตลาดตกต่ำมากก็เป็นโอกาสในการซื้อหุ้นที่ถูกจนเหลือเชื่อ เศรษฐีผู้เป็นต้นตำรับการลงทุนหลายคนต่างก็ก่อร่างสร้างตัวจากช่วงเวลาอันแสนยากลำบากดังกล่าว

วิกฤติด้านการลงทุนมีหลายแบบ การลงทุนก็มีหลายแบบเช่นกัน

  1. วิกฤติตลาดหุ้น

วิกฤติตลาดหุ้นหรือภาวะตลาดหุ้นตกต่ำอย่างรุนแรงมักมีความสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับสภาพเศรษฐกิจ ตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นที่เรารู้จักกันดี เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำกว่า 50% เหมือนกัน

วิกฤติแบบนี้มักเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ต่อให้เป็นคนที่ไม่ได้ลงทุน หรือไม่ได้สนใจด้านการลงทุนก็ยังทราบประเด็นดังกล่าว เพราะสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นตกหนักก็เกิดจากภาคเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาหนี้ผิดนัดชำระ การลอยตัวค่าเงิน 

ลักษณะของวิกฤติตลาดหุ้นคือหุ้นตกพร้อมกันทั้งตลาด และตกโดยไม่มีข้อยกเว้นแม้ว่าหุ้นนั้นจะดีหรือถูกแค่ไหน การป้องกันที่ดีคือการถือเงินสด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วกลับเป็นสิ่งที่คาดเดายากมาก เพราะต่อให้เรามีเงินสดอยู่ แต่เมื่อเราตัดสินใจซื้อหุ้น เราอาจจะตัดสินใจผิดจังหวะและราคาหุ้นอาจตกต่ำลงไปอีกก็ได้

ทางเลือกที่น่าสนใจคือการปรับพอร์ตจากหุ้นเดิมที่มีอยู่ในพอร์ต สนใจแต่ราคาปัจจุบันกับมูลค่าพื้นฐาน หากนักลงทุนสามารถขจัดอคติทางจิตวิทยาเรื่องต้นทุนจมได้ การปรับพอร์ตในภาวะวิกฤติจะช่วยสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น นักลงทุนสามารถเลือกเปลี่ยนจากการซื้อหุ้นที่ถูกน้อยเป็นหุ้นที่ถูกกว่าเดิม

  1. วิกฤติอุตสาหกรรม

วิกฤติอุตสาหกรรมคือภาวะที่หุ้นในอุตสาหกรรมตกต่ำเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมอื่น ตัวอย่างเช่น วิกฤติหุ้นท่องเที่ยวช่วงม็อบราชประสงค์ วิกฤติหุ้นโทรคมนาคมช่วงประมูลสี่จี วิกฤติหุ้นพลังงานช่วงราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ลักษณะเด่นคือหุ้นในอุตสาหกรรมนั้นตกมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นหรือตลาดหุ้น

ทางเลือกที่น่าสนใจคือการปรับพอร์ตย้ายกลุ่มหุ้นจากอุตสาหกรรมที่ปรกติไปยังอุตสาหกรรมที่มีวิกฤติ การรับมือวิกฤติแบบนี้ค่อนข้างง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการตกต่ำของทั้งตลาด 

แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจสภาพอุตสาหกรรมนั้นอย่างถ่องแท้จริง เพราะถ้าอุตสาหกรรมย่ำแย่จริง การย้ายไปซื้อหุ้นทั้งที่ราคาตกต่ำมากก็อาจทำให้ขาดทุนได้ ถ้าอุตสาหกรรมนั้นย่ำแย่อย่างถาวร

  1. วิกฤติหุ้นรายตัว

วิกฤติหุ้นรายตัวคือภาวะที่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งมีราคาลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับตลาดรวม โดยทั่วไปมักเกิดในภาวะที่บริษัทได้รับผลกระทบรุนแรง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของบริษัทถดถอยและราคาหุ้นก็ต่ำลงอย่างรวดเร็ว เช่น FSMART กับปัญหาพฤติกรรมผู้บริโภค CBG กับปัญหาการเจาะเข้าตลาดต่างประเทศช้ากว่าที่คิด MALEE กับปัญหาการหายไปของคำสั่งผลิตน้ำมะพร้าว

ทางเลือกที่น่าสนใจคือการวิเคราะห์หุ้นที่ราคาลดลงฮวบฮาบอย่างละเอียด หากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเพียงชั่วคราว การเข้าซื้อหุ้นในช่วงวิกฤติจะสร้างผลตอบแทนได้อย่างมาก แต่ในทางตรงกันข้าม หากเข้าซื้อหุ้นในบริษัทที่เป็นปัญหาถาวร พอร์ตของเราก็อาจเป็นปัญหาถาวรได้เช่นกัน

การรับมือวิกฤติตลาดกับวิกฤติรายอุตสาหกรรมและรายตัวจึงต่างกัน

วิกฤติตลาดวิเคราะห์พื้นฐานบริษัทได้ง่าย เพราะส่วนใหญ่พื้นฐานธุรกิจมักไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ราคาลดลงมามาก การเลือกซื้อหุ้นจะไม่ยากในเชิงวิเคราะห์พื้นฐานรายตัว แต่จะยากในเชิงการบริหารพอร์ตและเงินสดที่มีในมือ ถ้าปลดเปลื้องต้นทุนจมในอดีตไปได้ก็จะสร้างผลตอบแทนในช่วงวิกฤติ

วิกฤติรายอุตสาหกรรมและรายตัวเน้นการวิเคราะห์พื้นฐานกิจการ ปัญหาที่ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำถึงกว่า 50% มักจะเป็นปัญหาที่ใหญ่และร้ายแรงพอจนคนจำนวนมากเห็นพ้องว่าควรจะขายหุ้นทิ้งวิกฤติแบบนี้แหละที่ตาดีได้ตาร้ายเสีย วิเคราะห์ผิดก็อาจขาดทุนหนักได้ เพราะราคาที่ทรุดลงนี้มักลงอย่างมีเหตุผลรองรับ 

สิ่งสำคัญยิ่งคือการใช้ความรู้และสติเพื่อเผชิญปัญหา

วิกฤติอาจเป็นความเลวร้ายของผู้ถือ แต่ก็อาจเป็นโอกาสชั้นเยี่ยมของผู้ที่ตัดสินใจเข้าซื้อในช่วงเกิดมรสุมเช่นกัน


คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน

เรื่อง: ‘ลงทุนศาสตร์’

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!