ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ สิ่งที่ควรระวังประการหนึ่งคืออาชญากรรม การกระทำความผิดอาญา ทั้งในกรณีที่เราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพผู้ไม่หวังดี และในกรณีที่เราอาจจะกลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายหนุ่มที่ข้ามฝั่งไปยังประเทศลาว ที่ประสบปัญหาการกระทำความผิดจนถูกทางการบ้านเมืองของลาวลงโทษ หรือถูกหลอกลวง ล่วงละเมิดในกรณีต่างๆ การเรียนรู้ศัพท์เกี่ยวกับอาชญากรรมจึงมีประโยชน์ในเวลาจำเป็น
ເຈົ້າກຳ เจ้ากำ คือ ผู้กระทำความผิด หรือจำเลย คำว่า เจ้ากำนี้ แม้จะคล้ายกับคำว่าเจ้ากรรมนายเวร แต่ความหมายแตกต่างกัน ในกฎหมายอาญาลาวนิยามคำว่าเจ้ากำ ว่า คือผู้ลงมือกระทำความผิด และองค์ประกอบความผิดครบถ้วนจึงได้รับโทษ
ປຸ້ນ ปุ้น คือ ปล้น หมายถึงการใช้ความรุนแรงในการแย่งชิงเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นไปจนเกิดความเสียหาย เป็นคำเก่าในภาษาลาว-ไทยโบราณ
ມາບຂູ່ มาบขู่ คือ การข่มขู่ คำว่า มาบ หมายถึงการกดลง ข่มลงให้ราบกับพื้น เมื่อมาประสมกับคำว่าขู่ จึงหมายถึงการข่มขู่บังคับให้กระทำตามที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการโดยไม่ยินยอม
ຫຼຸລຸກ หลุลูก คือ การทำแท้ง คำว่า หลุ หมายถึงการเจาะทำลาย เจาะให้รั่ว เมื่อประสมกับคำว่าลูก จึงหมายถึงการทำให้ลูกเสียหาย ซึ่งก็คือการทำแท้งให้เด็กทารกตายและขับรั่วออกมาจากครรภ์
ຕັວະຍັວະ ตัวะยัวะ คือ การโกหกหลอกลวง เป็นคำประสมจากคำว่า ตัวะ คือการโกหก และ ยัวะ คือการหลอกลวง ล่อลวง รวมหมายถึงการโกหก หลอกลวง ต้มตุ๋น ด้วยข้อความอันเป็นเท็จให้หลงเชื่อ
ມິດສະຈານ มิดสะจาน คือ มิจฉาจาร หมายถึงการล่วงประเวณีโดยตัวเองมีสามีหรือภรรยาอยู่แล้ว หรือการคบชู้ ในกฎหมายอาญาลาว ความผิดเกี่ยวกับเพศและครอบครัวยังมีพื้นฐานจากศีลธรรมในพุทธศาสนาอยู่อย่างมาก นอกจากโทษอาญาเพราะคบชู้แล้ว ยังมีโทษอาญาหากพระภิกษุสามเณรละเมิดพระวินัยไปเสพเมถุนอีกด้วย
ປັບໃໝ ปับใหม คือ การปรับเงิน ตรงกับคำว่าปรับไหม หรือปรับสินไหม ของไทย คำว่า ใหม หมายถึงค่าปรับ และยังเป็นกริยาหมายถึงการปรับโทษเป็นทรัพย์สินมีค่าได้เช่นกัน
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญุสุข