โควิด-19 โรคร้ายของมวลมนุษยชาติ

-

จู่ๆ ประเทศไทย และเกือบทุกประเทศทั่วโลก ต้องเจอกับมหันตภัยครั้งใหม่ของมวลมนุษยชาติ คือเชื้อโรคโคโรนาไวรัส (coronavirus) สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เรียกย่อๆ ว่า โรคโควิด-19 (COVID-19) สำหรับคนทั่วไปแล้ว ไม่น่าจะมีใครคาดคิดมาก่อน ว่าจะมีโรคระบาดรุนแรงถึงขั้นติดต่อแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วโลกในเวลาไม่กี่เดือน และคร่าชีวิตผู้คนไปนับหมื่นแล้ว ทั้งยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าการระบาดของโรคนี้จะยุติลงเมื่อไร ต่อให้ปิดเมืองปิดประเทศกันก็ตาม

โรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบในมนุษย์มาก่อน แต่เพิ่งมีรายงานเมื่อ ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เชื้อซาร์ส โควี 2 (SARS-CoV-2 ย่อจาก Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus-2) ส่วนชื่อของโรคอันเกิดจากเชื้อไวรัสซาร์สโควี 2 จะเรียกว่า โรคโควิด-19

โรคโควิด-19 ได้ระบาดไปทั่วโลกจนมีผู้เสียชีวิตแล้วเป็นจำนวนมาก (ภาพเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ตัวเลขคือ จำนวนผู้เสียชีวิตต่อหนึ่งล้านคน)

เชื้อโคโรนาไวรัสเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปกติมักเจอในสัตว์ชนิดต่างๆ แต่บางครั้งพบว่าสามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้ เชื่อกันว่าเชื้อโคโรน่าไวรัสมีพาหะตามธรรมชาติคือค้างคาว แต่บางสายพันธุ์ก็พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อเมอร์สโควี (MERS-CoV ย่อจาก Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus) แพร่จากอูฐสู่คน ส่วนเชื้อซาร์สโควี 1 (SARS-CoV-1 ย่อจาก Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus-1) แพร่จากสัตว์จำพวกชะมดสู่คน แต่สำหรับเชื้อซาร์สโควี 2 นั้น ยังไม่มีการฟันธงว่ามาจากสัตว์ชนิดใดกันแน่

เมื่อเทียบระหว่างเชื้อซาร์สโควี 2 กับเชื้อโรคหวัดชนิดอื่นๆ  แล้ว พวกมันมีพันธุกรรมคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสซาร์สโควี 1 ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) เมื่อปลาย ค.ศ. 2002 ในประเทศจีน และได้ระบาดไปทั่วโลกถึง 33 ประเทศ มีผู้ป่วยเป็นจำนวนกว่า 8 พันราย ในเวลา 8 เดือน และมีผู้เสียชีวิตสูงถึงประมาณร้อยละ 10 ส่วนโรคโควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็วกว่ามาก มีผู้ป่วยชาวจีนถึง 7 พันราย ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนแรกของการระบาดในประเทศจีน (เดือนมกราคม 2020) และเพิ่มขึ้นกว่า 8 หมื่นรายในเดือนที่สอง (กุมภาพันธ์ 2020) จนมีผู้เสียชีวิตถึง 3 พันกว่ารายในเวลานั้น ค่าตัวเลขปัจจุบันของผู้ติดเชื้อจากโรคโควิด-19 ในปัจจุบันทั่วโลก ทะลุหลักแสนคนไปแล้ว

แม้จะเป็นเชื้อกลุ่มโคโรนาไวรัสเหมือนกัน แต่เชื้อซาร์สโควี 2 ก็มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเชื้อไวรัสโรคซาร์สเป็นอย่างมาก คือมีอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 2-3 เท่านั้น ดูเหมือนน้อยก็จริง แต่การที่เชื้อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จึงยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค หรือยาที่ใช้รักษาโรคโดยเฉพาะ (ไม่เหมือนไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีวัคซีนให้ฉีด) แถมยังติดต่อระหว่างคนสู่คนได้อย่างง่ายดายมาก เนื่องจากพวกเรายังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้ จากข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้เชื่อกันว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นได้ 2-3 คน และส่วนมากแพร่ผ่านละอองน้ำลายที่ออกมาจากทางเดินหายใจเมื่อไอหรือจาม

ลักษณะเด่นของเชื้อโคโรน่าไวรัส ซาร์สโควี 2 คือ มีหนามออกมารอบตัว คล้ายใส่มงกุฎ

เชื้อไวรัสยังสามารถตกค้างอยู่บนพื้นผิววัสดุต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดหรือมือจับเปิดปิดประตู ได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง อย่างกรณีของกล่องกระดาษนั้น พบว่าเชื้อสามารถอยู่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแต่ละสถานที่ด้วยว่าจะสูงพอจนทำให้เชื้อเสียสภาพได้หรือไม่ (ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อโรคผ่านพัสดุไปรษณีย์)

ระยะเวลาฟักตัว (incubation period) ตั้งแต่แรกได้รับเชื้อไวรัสจนถึงเริ่มแสดงอาการของโรคนั้น โรคโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 2-14 วัน ส่วนใหญ่แล้วเชื้อสามารถติดต่อระหว่างคนได้ เมื่อคนคนนั้นเริ่มแสดงอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ไอ แต่ในบางกรณีก็พบว่ามีการติดต่อจากผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการของโรคด้วย

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 มักไม่มีอาการรุนแรงนัก แค่เป็นไข้ ไอจาม หายใจขัด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย แต่บางรายมีอาการรุนแรงมากขึ้น คือ ปอดอักเสบรุนแรง หายใจลำบากเฉียบพลัน ร่างกายติดเชื้อ และเกิดภาวะช็อคเนื่องจากการติดเชื้อ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคมะเร็ง) เพราะมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติดังกล่าวได้ แต่ในเด็กกลับไม่ค่อยแสดงอาการของโรค หรือเป็นแค่เล็กน้อย มีเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้นที่เกิดอาการรุนแรง

แล้วทำอย่างไรเราถึงจะสามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคนี้ได้? เชื้อโคโรนาไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ จมูก ปาก หรือแม้แต่ดวงตา ผ่านการหายใจเอาละอองน้ำลายที่มีเชื้อโรคเข้าไป หรือผ่านการจับต้องโดนน้ำลายเสมหะจากผู้ที่ติดเชื้อ แล้วเผลอเอามือที่เปื้อนนั้นมาโดนหน้าโดนตา ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการจับต้องใบหน้าของเราด้วยมือที่ไม่สะอาด ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที หรือฆ่าเชื้อโรคบนมือของเราด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อซึ่งผสมแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นมากพอ นอกจากนั้น เรายังควรที่จะอยู่ให้ห่างจากคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือเริ่มมีอาการคล้ายจะเป็นหวัด อย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากละอองน้ำลาย

อาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งลักษณะทั่วไปและลักษณะไม่ทั่วไป รวมทั้งอาการรุนแรง

สำหรับหน้ากากอนามัยนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่ติดเชื้อแล้ว ก็ควรต้องใส่หน้ากากอนามัยชนิดสำหรับผ่าตัด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อโรคไปสู่คนอื่น แต่ถ้าคุณไม่ได้ป่วยอะไรและไม่น่าจะติดเชื้อ นอกจากหน้ากากอนามัยจะไม่ได้ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายอย่างที่หลายคนเชื่อกันแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคเสียอีก เพราะมันทำให้มือเรามาสัมผัสกับใบหน้ามากขึ้น แถมเรายังประมาทคิดว่าปลอดภัยจากเชื้อโรคแล้ว

สถานการณ์ของโรคโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง อาจหลายเดือนหรือเป็นปี มวลมนุษยชาติในทุกๆ ประเทศจะต้องพยายามต่อสู้ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างเต็มที่ จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนาไวรัสเลย ส่วนการพัฒนาวัคซีนเฉพาะโรคโควิด-19 นั้น คงต้องใช้เวลาอีกเป็นแรมเดือนแรมปีก่อนที่วัคซีนซึ่งมีประสิทธิภาพจริงและปลอดภัยต่อการใช้งาน จะสามารถใช้ฉีดป้องกันโดยทั่วถึงได้


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!