การเกิดโควิดระบาดรอบสองพร้อมกับข่าวเรื่องโลกมีวัคซีนโควิดหลายตัวมาต่อกรด้วย ทำให้เราอุ่นใจขึ้นมาก คำถามที่ตามมาก็คือการมีวัคซีนโควิดคือการมีชัยเหนือโควิดอย่าง “แจ่มแจ้ง” ทันท่วงทีหรือไม่
ขณะนี้มีชาวโลกติดโรคโควิดจำนวน 80.3 ล้านคน เสียชีวิต 1.8 ล้านคน โดยมีไวรัสชื่อ SARS-CoV 2 เป็นต้นเหตุผ่านการกลายพันธุ์จากที่เคยอยู่ในตัวสัตว์มาอาศัยอยู่ในตัวมนุษย์ได้ ถ้าภูมิคุ้มกันพ่ายแพ้ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น หากอาการหนักจนปอดถูกทำลายร้ายแรงและขาดอุปกรณ์ช่วยเหลือก็อาจถึงแก่ชีวิต การคิดค้นวัคซีนจนสำเร็จจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่ง แต่ถึงกระนั้นก็มิได้หมายความว่าโลกจะเอาชนะโรคนี้อย่างเด็ดขาดทันทีด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
(1) การที่ประเทศหนึ่งจะได้วัคซีนมาฉีดให้ประชาชนของตนนั้น มิใช่เรื่องง่าย ประเทศรวยๆ ได้ไปก่อนเพราะกล้าจ่ายเงินให้บริษัททดลองก่อนจะสร้างวัคซีนสำเร็จโดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะเป็นรายแรกๆ ที่ได้วัคซีนไปใช้ นอกจากนั้นอิทธิพลทางการเมืองของประเทศก็มีบทบาทในการได้วัคซีนตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายตัวใน 7-10 ตัว (ที่ประกาศว่าสำเร็จแล้วกับที่ใกล้จะสำเร็จได้รับการรับรอง) มาฉีดให้ประชาชนของตนในปริมาณมากพอที่จะเป็นผล
วัคซีนที่ปราบโควิดมีอัตราป้องกันโรคได้ผลระหว่าง 70-95% ซึ่งหมายความว่า ณ ระดับ 90% หากประชาชนได้รับการฉีดเพียงร้อยละ 60 ของจำนวนประชากร ก็จะเพียงพอต่อการป้องกันโควิดทั้งประเทศ เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคถูกตัดตอน เมื่อไม่มีคนมากพอที่จะแพร่เชื้อต่อไป การระบาดก็จะลดลง
(2) วัคซีนในอดีตนั้น กว่าจะผ่านการคิดค้นและการรับรองต้องใช้เวลาเป็นปีๆ บางตัวอาจถึง 10 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าได้ผลและไม่เป็นผลเสียแก่ร่างกายในระยะสั้นและยาว โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการทดลองในมนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์จำนวนมาก เพื่อตอบคำถามว่ามีฤทธิ์ป้องกันได้ยาวนานแค่ไหน ช่วยลดความรุนแรงในการติดโรคและช่วยป้องกันโรคอย่างได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับวัคซีนของโควิดนั้นเราใช้เวลาสั้นมากเพียงไม่ถึงหนึ่งปี แต่ก็ต้องนำออกมาใช้เพราะนับวันมันระบาดหนักขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงมีหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
วัคซีนเหล่านี้เกือบทั้งหมดต้องฉีดสองเข็มจึงจะบรรลุผลสำเร็จในการป้องกันซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายของภาครัฐสูงขึ้น ทั้งยังต้องหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนถึงร้อยละ 60 อีกด้วย ดังนั้นโอกาสที่บุคคลซึ่งมีร่างกายแข็งแรงพอควรจะได้รับวัคซีนจึงไม่หนีปลายปี 2564 หรือในปี 2565
(3) ขณะนี้ SARS-CoV 2 กลายพันธุ์จนได้เวอร์ชั่นใหม่ของไวรัสนี้ และแพร่ในอังกฤษ มันสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิมเกือบเท่าตัว แต่ไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดีไม่มีใครรู้แจ้งเห็นจริงว่าวัคซีนเหล่านี้จะป้องกันเชื้อตัวใหม่นี้ได้หรือไม่ ถึงแม้นักวิชาการจะบอกว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่วัคซีนจะปราบเชื้อตัวใหม่นี้ “อยู่มือ” ขณะนี้เวอร์ชั่นใหม่ได้แพร่ไปใน 40 ประเทศแล้วและอาจกลายพันธุ์ได้ ดังนั้นความเเน่นอนในการปราบโรคด้วยวัคซีนเหล่านี้จึงเป็นปัญหา
(4) ทั้งโลกจะกำราบโควิดได้ชะงัดต้องมีการฉีดวัคซีนผู้คนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก หรือ 4,200 ล้านคน แต่เรายังไม่มีวัคซีนอย่างเพียงพอในปี 2564 หรือ 2565 และอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น ต้องมีระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งวัคซีนบางตัวซึ่งต้องอยู่ในที่เย็นจัดถึง –70 องศาฟาห์เรนไฮต์ และมีอายุใช้งานเพียง 6 เดือน
(5) วัคซีนทุกตัวมีคุณภาพไม่เท่ากัน และ ณ วันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าตัวใดปลอดภัยที่สุด หากเมื่อฉีดไปสักพักแล้วมีคนป่วยหรือตายสักคน (แต่ได้ผลดีแล้วเป็นแสนคน) ก็จะเกิดความรู้สึกในหมู่ผู้ต้องการจะฉีดว่ามันไม่ปลอดภัย และหากมีคนรู้สึกอย่างเดียวกันมากขึ้น วัคซีนตัวนั้นก็จะถึงความวิบัติ ประเทศใดจองหรือซื้อไว้ต้องเสียเงินไปฟรีๆ หลายพันล้านบาท ดังนั้นการซื้อวัคซีนหลายตัวมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่พึงทำโดยต้องใช้เงินมากมาย และเวลาที่ใช้ในการฉีดผู้คนถึงร้อยละ 60 จึงเป็นเรื่องน่าหนักใจ
การมีวัคซีนเป็นเรื่องดีมาก แต่มิได้หมายความว่าจะเอาชนะโควิดได้ทันทีอย่างเด็ดขาดเนื่องจากเหตุผลทางวิชาการแพทย์และทางการเงิน การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือบ่อยๆ จึงเป็น“วัคซีน” ที่ใช้ป้องกันโรคได้อย่างดียิ่ง อีกทั้งมีราคาถูก และไม่ต้องรอคอยคิวฉีดวัคซีนให้เสียความรู้สึกด้วย
คอลัมน์: สารบำรุงสมอง
เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
All magazine กุมภาพันธ์ 2564