กลับมาระบาดอีกแล้ว โรคโควิด-19

-

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีแทนที่คนไทยและคนทั่วโลกจะได้เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันอย่างสนุกสนานมีความสุขเช่นทุกปี แต่คราวนี้บรรยากาศกลับเงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) จากเชื้อโคโรนาไวรัส (coronavirus) สายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งแม้จะซาลงไปบ้างในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่กลับมาแพร่ระบาดใหม่เป็นระลอกที่สอง ที่สาม ลามไปทั่วทุกทวีปของโลก ไม่เว้นแม้แต่ที่ขั้วโลกใต้

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ของประเทศจีน จากนั้นได้แพร่ระบาดไปยังประเทศอื่น จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้เป็นโรคระบาดระดับแพนเดมิก (pandemic) ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ปัจจุบันยอดผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ของทุกประเทศรวมกันสูงถึงประมาณ 80 ล้านราย แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะได้รับการรักษาหายแล้วราวร้อยละ 70 แต่ก็มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2 ล้านคน  และตัวเลขยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับในประเทศไทยเรานั้น มีรายงานครั้งแรกมาตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2563 แล้ว เป็นหญิงชาวจีนซึ่งมาจากเมืองอู่ฮั่น จากนั้นก็พบเป็นระยะๆ จำนวนไม่มาก ในผู้ที่เดินทางมาจากจีนหรือเคยพำนักในจีน ตลอดเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ จนเพิ่มขึ้นมากในช่วงเดือนมีนาคม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดจากสนามมวยเวทีลุมพินี ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยคน ในที่สุดจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม สั่งปิดประเทศ ห้ามการเดินทางเข้าออกประเทศ จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดสถานศึกษา ตลอดจนประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านตอนกลางคืน จนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจนเป็นศูนย์ในเดือนพฤษภาคม

แม้ว่าเราจะค่อนข้างประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค จนแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกเลยต่อเนื่องหลายเดือน และมักจะพบแต่ในคนที่เดินทางเข้าประเทศโดยต้องไปกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการเท่านั้น แต่นั่นก็ต้องแลกกับผลกระทบอย่างรุนแรงด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยวที่ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าจีดีพีของประเทศจึงหดตัวลง 6-7% และรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 1.9 ล้านล้านบาท

ซ้ำร้าย ในเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย คือ เมียนมาร์ (หรือพม่า) ได้กลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมเกินหนึ่งแสนคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน โดยเฉพาะในรัฐยะไข่และนครย่างกุ้ง (อดีตเมืองหลวง) ที่สำคัญ มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในเมืองท่าขี้เหล็กซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายด้วย  ดังนั้นช่วงเดือนต้นเดือนธันวาคม จึงได้มีคนไทยที่ไปทำงานในโรงแรมและสถานบริการในท่าขี้เหล็ก แอบลักลอบข้ามพรมแดน กลับเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อเลี่ยงกฎเกณฑ์กักกันตัว 14 วัน และลงท้ายก็พบว่าคนไทยเหล่านี้จำนวนกว่า 40 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 มาด้วย

แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เพราะไม่กี่วันต่อมา มีแม่ค้าในตลาดกลางกุ้ง ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยไม่มีประวัติว่าเคยเดินทางออกนอกประเทศ จึงมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมในตลาดแห่งนั้น และก็สร้างความตกตะลึงแตกตื่นกันไปทั่ว เนื่องจากพบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากนับพันคน และกว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานชาวเมียนมาร์ที่มาทำงานในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งอยู่พักอาศัยรวมกันในตลาด จนเป็นชุมชนที่แออัดและแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย แถมยังพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วยอะไร แต่สามารถแพร่เชื้อระบาดไปยังผู้อื่นได้ด้วย

การระบาดในตลาดกลางกุ้ง มหาชัย ส่งผลให้เกิดการสืบสวนค้นหา ออกตรวจแรงงานต่างชาติในเชิงรุก รวมทั้งขอให้ผู้ที่เคยเดินทางไปยังจังหวัดสมุทรสาครและมีอาการป่วย มาตรวจหาเชื้อไวรัส ก็พบผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนในเวลาไม่กี่วัน นับได้ว่าเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการระบาดในประเทศไทย และแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปเกือบจะทั่วประเทศไทย ทางการไทยจึงต้องกลับมาควบคุมโรคโควิด-19 กันอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยไม่ได้ล็อกดาวน์ทั่วทั้งประเทศเหมือนกับระลอกแรก แต่ใช้มาตรการที่มีระดับความเข้มข้นตามความรุนแรงและความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด ดังเช่น จังหวัดสมุทรสาครซึ่งกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด

ในภาวะที่คนไทยเรายังต้องรับมือและอยู่กับโรคนี้ไปอีกนาน อาจเป็นปีๆ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคให้ฉีดกันอย่างทั่วถึงนั้น เราเองก็ควรทบทวนความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายจากโรค แต่ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ตัวอย่างเช่น ในเรื่องอาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนั้น จะมีแตกต่างกันไปในแต่ละคน คนส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอะไร หรือมีเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ได้แก่ เป็นไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย แต่บางคนอาจมีอาการปวดเมื่อย เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง ปวดหัว ไม่ได้กลิ่นและไม่รับรส นิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี ขณะที่คนส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก ปอดอักเสบ จนถึงเสียชีวิต

ส่วนการป้องกันตนเองไม่ให้ติดโรคนั้น ก็ต้องลดความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ คือ พยายามเว้นระยะห่างจากคนอื่นเมื่อพูดคุยกัน สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเว้นระยะห่างไม่ได้ อยู่ห่างจากคนที่ไอจาม ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ หรือถูมือกับเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ไม่สัมผัสตา จมูก ปาก และปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข

เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเราเองมีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 แล้ว เช่น ป่วย เป็นไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก หลังจากเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หรือหลังจากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ (อยู่ใกล้กว่า 1 เมตร เป็นเวลานานเกิน 5 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย)  ในช่วง 14 วัน ควรเริ่มแยกกักกันตัวเอง และติดต่อผู้ให้บริการทางการแพทย์ตามโรงพยาบาล เพื่อขอรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยเร็ว

 

เชื้อ SARS-COV-2 เชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ถ่ายโดยกล้องจุลทรรศอิเล็กตรอน จะเห็นเป็นทรงกลมที่มีหนามอยู่โดยรอบคล้าย (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “โคโรนาไวรัส”)
ป้ายแจ้งเตือนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศจีนในช่วงแรกของการระบาด) ให้สังเกตอาการว่าอาจป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่
ไทยใช้หลายมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ดังเช่นการให้ลูกค้าสแกน “ไทยชนะ” เพื่อบันทึกการเข้าออกอาคารห้างร้านต่างๆ

 


คอลัมน์ : คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง : รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Magazine กุมภาพันธ์ 2564

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!