นับเลขภาษาลาว

-

ในการเรียนรู้ภาษาต่างๆ เรามักจะเริ่มจากการนับเลขก่อน เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกันอย่างง่าย และสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เลขไทยและเลขลาวนั้นเกือบทั้งหมดเป็นคำเดียวกัน เนื่องจากมีรากศัพท์เดียวกันในตระกูลภาษาไต-กะได ดังนั้นการพูดคุยเจรจาซื้อขายของระหว่างคนไทยกับคนลาวจึงเป็นไปอย่างง่ายดายมาก อย่างไรก็ตาม มีการนับเลขบางจำนวนซึ่งลาวต่างจากไทยและเป็นเกร็ดน่ารู้

 

 

ທຳອິດ ทำอิด คือ ลำดับแรก ลำดับที่หนึ่ง ใช้สำหรับลำดับการนับสิ่งของและบุคคลต่างๆ เช่น ສະບັບທຳອິດ แปลว่า ฉบับแรกหรือฉบับปฐมฤกษ์ ເທຶອທຳອິດ แปลว่า ครั้งแรก ในบางสำเนียงของภาษาลาวอาจใช้ว่า ຕຳອິດ ซึ่งมีที่มาจากคำว่า อิด ที่หมายถึงเลขหนึ่ง คล้ายกับภาษาจ้วงและภาษาจีนถิ่นหมิ่นหนาน (แต้จิ๋วและฮกเกี้ยน) ว่า อิก หรือ อิด อาจสื่อได้ว่ารากเหง้าของผู้คนแถบนี้มาจากที่เดียวกัน

ຊາວ ซาว คือ ยี่สิบ คำว่าซาวนี้ใช้เหมือนกันหมดทั้งภาษาล้านนา อีสาน และลาว เป็นตัวเลขเฉพาะยิ่งยังไม่สามารถค้นหาที่มาได้ว่าเหตุใดจึงมีเพียงจำนวนยี่สิบเท่านั้น และแตกต่างจากเลขฐานสิบจำนวนอื่น

ໝື່ນ หมื่น คือ น้ำหนักสิบชั่ง หรือสิบสองกิโลกรัม ในภาษาลาวนั้นไม่มีการนับเลขหลักหมื่น แต่จะใช้วิธีนับเลขหลักพันต่อเนื่องไป เช่น สิบพัน ซาวพัน เท่ากับจำนวนหนึ่งหมื่น สองหมื่น จนถึงหนึ่งแสน คำว่า ໝື່ນ จึงมีความหมายแตกต่างจากภาษาไทย ทางหนึ่งหมายความว่า ลื่นไถล และอีกความหมายหนึ่งเป็นมาตรวัดน้ำหนักที่ใช้ในการชั่งตวง เช่น ซื้อข้าวหนึ่งหมื่น ไม่ได้หมายความว่าซื้อข้าวเป็นสิบตัน หรือเป็นเงินสิบพัน แต่หมายถึงซื้อข้าวสารสิบสองกิโลกรัม หรือ บั้งไฟหมื่น ก็คือบั้งไฟที่อัดดินประสิวสิบสองกิโลกรัมนั่นเอง

ໂກດ โกด คือ สิบล้าน คำว่า โกด มีที่มาจากภาษาบาลีว่า โกฏิ ซึ่งหมายถึงจำนวนสิบล้านเช่นกัน ในภาษาไทยนั้นแทบจะไม่ปรากฏใช้ทั่วไปแล้ว แต่ในภาษาลาวยังพอพบเห็นได้อยู่บ้างแม้จะไม่ค่อยเป็นที่นิยม ส่วนมากพบในงานเขียนเชิงพุทธศาสนา หรือการบอกจำนวนเงินบริจาคทาน เงินบูชาถวายวัด หรือน้ำหนักต่างๆ

ກື กือ คือ ร้อยล้าน หรืออาจหมายความว่า มากมายนับไม่ถ้วน มีใช้ทั้งในภาษาลาวดั้งเดิมและภาษาล้านนา ดังที่พบในพระนามของกษัตริย์ล้านนาว่า พญากือนา คือเป็นผู้ปกครองที่นาจำนวนนับไม่ถ้วน ปัจจุบันไม่ใช้ในความหมายว่าร้อยล้าน แต่จะพบในคำอุทานหรือคำพรรณนา เช่น รวยเป็นกือ หมายถึง มีเงินมากมายมหาศาล

ຕື້ ตื้อ คือ พันล้าน เป็นตัวเลขแสดงจำนวนที่มากที่สุดในภาษาลาวซึ่งยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เราจะพบคำว่า ຕື້ นี้เนืองๆ ในข่าวด้านการเงินหรือเกี่ยวกับงบประมาณภาครัฐ เนื่องจากหน่วยเงินกีบมีค่าน้อย การรายงานจึงใช้หลัก ຕື້ เพื่อแจ้งตัวเลขมากกว่าจะใช้จำนวนล้านซ้อนกัน เช่น บริษัทน้ำเทิน จะใช้งบประมาณ 4 ตื้อกีบ (สี่พันล้านกีบ หรือประมาณ 13 ล้านบาท) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม เป็นต้น

ตัวเลขและการนับดังกล่าวของภาษาลาว เมื่อศึกษาและทำความเข้าใจแล้วยังช่วยให้เราเข้าใจรากศัพท์ดั้งเดิมของภาษาไทยกับลาวที่มีร่วมกัน


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!