สัมพันธภาพที่ดีคือพื้นฐานสุขภาพดี

-

สัมพันธภาพที่ดีทางสังคม คือภาวะซึ่งคนรับรู้จำนวน คุณภาพ และความหลากหลายของความสัมพันธ์ที่ตนมีกับผู้อื่น อันก่อให้เกิดสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตนเองได้รับการเอาใจใส่ดูแล ตนเองได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่า และตนเองได้รับการค้ำชูเกื้อหนุน ทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อจิตใจ ร่างกาย และพฤติกรรม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความยืนยาวของชีวิต ผลงานวิจัยบ่งชี้ว่าสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น 

มนุษย์เรามีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน และสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน มีผลอย่างมากต่อสุขภาพและความสุขสบายของมนุษย์ การรู้สึกว่าตนเป็นผู้ด้อยโอกาสหรือไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม ทำให้คนเลือกมีนิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพของตนเองหรือทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น งานวิจัยแกล้งเด็กโดยตัดสินการกระทำของเด็กกลุ่มหนึ่งอย่างลำเอียง ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่งตัดสินอย่างเที่ยงธรรม หลังจากถูกตัดสินแล้วให้เด็กเลือกกินขนมชนิดที่ดีต่อสุขภาพกับชนิดที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เด็กกลุ่มที่ถูกตัดสินอย่างลำเอียงจะเลือกกินขนมหวานชนิดที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากกว่ากลุ่มเด็กที่ถูกตัดสินอย่างเที่ยงธรรม งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบ่งชี้ว่าเมื่อคนอยู่ในภาวะเครียด หรือถูกบีบรัดด้วยเวลา หรือถูกบีบคั้นให้เหลือทางเลือกน้อย เขาจะเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

เมื่อคนคนหนึ่งมีสัมพันธภาพที่ดีและมั่นคงทางสังคมกับคนรอบข้าง เขาหรือเธอย่อมมีแนวโน้มที่จะเลือกมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพตนเอง และเมื่อตรวจดูตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆ ก็มักได้ผลว่าปกติเป็นส่วนใหญ่ คราใดที่มีความเครียด กังวล ซึมเศร้า เกิดความยากลำบากในชีวิต ก็สามารถรับมือปัญหาได้ดีกว่าคนที่ขาดสัมพันธภาพที่ดีทางสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมน้อยกว่า ผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมมากกว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าถึงร้อยละ 50 ความแตกต่างดังกล่าวพบได้ทั้งในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคอัมพาตเฉียบพลัน โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมช่วยให้เป็นคนเครียดยาก หากเกิดความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ก็ฟื้นตัวได้รวดเร็ว มีนิสัยกินเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และใส่ใจดูแลร่างกายไม่ให้อ้วนขึ้น นอนหลับดีขึ้น มีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น มีสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (sense of belonging) มีความสุขดีชีวีเป็นสุข (wellness) มากขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะไปก่อเหตุรุนแรงกับคนอื่น หรือที่จะฆ่าตัวตายลง ลดความเสี่ยงตายจากโรคเรื้อรังต่างๆลง และมีอายุยืนยาวขึ้น

ดังนั้นด้านหนึ่งของการดูแลสุขภาพคือการบำรุงสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง


คอลัมน์: สุขภาพ เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!