การบ่นอาจใช้พลังงานมากกว่าการทำงาน

-

แรนดี พอช เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่พิตต์สเบิร์ก สหรัฐฯ ในปี 2007 อายุ 46 เขาพบว่าเขาเป็นมะเร็งที่ตับอ่อนและกำลังจะตายในหกเดือน เขาเลือกใช้เวลาช่วงสุดท้ายเล็กเชอร์นักศึกษา ชื่อหัวข้อ The Last Lecture: Really Achieving Your Childhood Dreams

หลังจากเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต มันกลายเป็นคลิปวิดีโอที่มีคนดูมาก เขาจึงเขียนหนังสือชื่อเดียวกันออกมา

ท่อนหนึ่งของหนังสือเขียนว่า “กำแพงอิฐอยู่ที่นั่นโดยมีเหตุผลบางอย่าง กำแพงอิฐมิได้ปิดกั้นเราออกไป กำแพงอิฐอยู่ที่นั่นเพื่อให้โอกาสแสดงให้เราเห็นว่า เราต้องการอะไรบางอย่างมากแค่ไหน”

คนเราล้วนต้องการประสบความสำเร็จ แต่คนส่วนมากเมื่อเจอกำแพงอิฐขวางหน้า ก็ถอย

หรือบ่นก่อนถอย

การบ่น การสาปแช่งชะตาฟ้าดินกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลายคนคิดว่าการบ่นเป็นกลไกระบายความเครียดตามธรรมชาติ ทำให้ชีวิตดีขึ้น

แต่บางคนอาจลืมไปว่า บ่นคนเดียวกับกำแพงหินต่างจากบ่นกับคนอื่น เพราะคนที่ได้ยินเสียงบ่นจะรับความเครียดนั้นมาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่

กลายเป็นถังขยะรองรับความเครียดของคนบ่น

ความจริงมีวิธีอื่นที่เป็นกลไกการระบายความเครียดโดยไม่ทำร้ายคนอื่น เช่น การออกแรง การวิ่ง การร้องเพลง การฟังเพลง ฯลฯ แต่คนจำนวนมากรู้สึกว่าบ่นให้คนอื่นฟังได้ผลกว่าบ่นคนเดียว

…………………

มนุษย์จำนวนมากเกลียดงานที่ทำ เกลียดชีวิตของตน เกลียดสภาพแวดล้อมที่ตนอยู่ แล้วสรุปว่าเป็นความผิดของปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ตัวเราเอง

แน่นอน บางปัจจัยมาจากภายนอกจริง แต่การที่เราจะทุกข์มากหรือน้อย หรือไม่ทุกข์ มาจากปัจจัยภายใน นั่นคือมันขึ้นอยู่ว่าเราจะปรุงแต่งให้เป็นทุกข์หรือไม่ปรุงแต่งมัน

นี่ก็คือวิธีคิดแบบพุทธซึ่งชี้ว่า ทุกข์เกิดจากการปรุงแต่ง ส่วนจะปรุงแต่งให้ทุกขั้นรสจัดแค่ไหน ก็ทำตามสบาย อย่างไรก็ตาม พุทธชี้ว่า เรายังมีทางเลือกที่จะไม่ปรุงแต่ง

ถ้าเกิดความทุกข์ ก็รับรู้ เพราะทุกข์ก็อยู่ในธรรมชาติของจักรวาล เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องเจอปัญหา แต่ที่แตกต่างคือทัศนคติในการจัดการกับปัญหา

ทัศนคติในการแก้ปัญหาสำคัญกว่าปัญหา

นักปรัชญาสมัยกรีกโบราณ เอพิคทีตัสกล่าวว่า “มนุษย์ไม่วิตกกับกับปัญหาจริงมากเท่าวิตกจริตที่จินตนาการขึ้นของปัญหาจริง”

การต่อต้านสิ่งที่ไม่ชอบ ปฏิเสธมัน บ่นถึงมัน ทำให้ชีวิตยิ่งเลวร้าย ยิ่งต่อต้านยิ่งเป็นบ่วงรัดตัวแน่นขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น เกลียดงานที่ทำ แต่ลาออกไม่ได้ เพราะ ณ ขณะนั้นไม่มีงานอื่นดีไปกว่างานนี้ 

แต่การบ่นยิ่งทำให้บ่วงรัดแน่นขึ้น และพลอยรัดคนที่ได้ยินเราบ่นด้วย

เชือกหนึ่งเส้น ผูกสองคน

ปรัชญา Amor Fati ของกรีกโบราณสอนว่า อย่าบ่น ยอมรับปัญหา แล้วแก้ปัญหาไป

Amor Fati คือการยอมรับชะตาของเรา แม้จะเจอเรื่องร้ายซ้ำๆ กัน ก็สามารถยอมรับมันได้ถึงขั้นรัก (Amor = รัก Fati = ชะตา)

ถ้าล้ม ก็ลุกขึ้นมา

ถ้าผิดพลาด ก็ทำใหม่

ตกงาน ก็หางานใหม่

ถ้าเรายอมให้การบ่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราก็ต้องเสียเวลาทั้งชีวิตไปกับการบ่นที่ไม่เกิดประโยชน์ใด และมีราคาแพงด้วย เพราะการบ่นต้องใช้พลังงาน บ่นแต่ละครั้งเสียแคลอรีไปโดยเปล่าประโยชน์ เท่ากับเปลืองข้าวสุกเปล่าๆ

อย่าเสียพลังงานไปกับการบ่น

ตรงกันข้าม เอาพลังงานที่คิดจะบ่นไปทำงาน จะได้ผลเป็นรูปธรรมมากกว่า

เมื่อเกิดปัญหาหรือประสบเรื่องเลวร้าย ก็ไม่เพิ่มน้ำหนักของความเลวร้ายนั้นโดยบ่น

กำแพงอิฐอาจขวางทางเรา แต่เราสามารถมองมันเป็นความท้าทาย แทนที่จะมองเป็นอุปสรรค แทนที่จะบ่น ให้มองเป็นความสนุก เหมือนกำลังเล่นเกมที่ท้าทายสมอง

อย่าลืมว่า ทุกๆ สิ่งดีๆ ในชีวิตมีราคา มีอุปสรรคเสมอ

 

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/


คอลัมน์: ลมหายใจ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!