สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้จัดช่วงเวลา ‘ละคร’ ไว้น้อยมาก เมื่อเทียบกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ แต่กลายเป็นว่าละครโทรทัศน์ของไทยพีบีเอสกลับดูน่าสนใจ แม้เรตติ้งจะน้อย แต่กระแสของละครโทรทัศน์แต่ละเรื่องไม่ได้น้อยตามเลย กลับมีความดีงามและอยู่ในความชื่นชมของผู้คนมากมาย
เหตุผลที่น่าสนใจคือ ทางไทยพีบีเอสพิถีพิถันในการเลือกสรรเรื่องราวให้แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ด้วยการตั้งเป้าผลิต ‘ละครสร้างสรรค์’ ซึ่ง เน้นทั้งเนื้อหาและการนำเสนอ ในด้านเนื้อหานั้นเป็นเรื่องราวที่ต้องก่อกระแสในเชิงบวกต่อสังคมไทยได้ โดยมิได้มุ่งสะท้อนปัญหาสังคมอย่างที่ละครโทรทัศน์หลายช่องนิยมหยิบยก แต่ไทยพีบีเอสเลือกนำเสนอเรื่องราวของ ‘คน’ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง และแน่นอนว่ากำลังถูกลืมเลือนในปัจจุบัน ทำให้ ‘คนดี’ กลับมามี ‘ชีวิต’ ที่โลดแล่นและได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกครั้งหนึ่ง
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างละครโทรทัศน์ของไทยพีบีเอส 3 เรื่อง ที่นำเสนอแนวดังกล่าว ได้แก่ เรื่อง หมอหงวน…แสงดาวแห่งศรัทธา บุษบาลุยไฟ และนางฟ้าไร้นาม ละครโทรทัศน์ทั้ง 3 เรื่อง ได้รับการผลิตและนำเสนอในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน
เรื่องหมอหงวน…แสงดาวแห่งศรัทธา เป็นเรื่องราวของหมอสงวน หมอหนุ่มผู้มีอุดมคติใฝ่ฝันเห็นความเท่าเทียมในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุข ต้องการให้คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพกันอย่างถ้วนหน้า หลังจากทิ้งความสุขสบายในเมือง แม้กระทั่งต้องห่างจากคนรัก เพื่อไปเป็นแพทย์ในชนบท จนกระทั่งได้เรียนรู้ปัญหาด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงระบบสุขภาพก็เดินหน้าหาทางออกด้วยปณิธานอันแน่วแน่ และในที่สุดเจตนารมณ์ของหมอสงวนก็กลายเป็นที่มาของระบบสุขภาพ ที่เรียกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค
เรื่องบุษบาลุยไฟ เป็นละครพีเรียดซึ่งเล่าถึงบุคคลในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวเอกคือหญิงสามัญผู้ฝันใฝ่อยากเป็นกวีเอก และต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘คุณพุ่ม’ กวีหญิงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีนักวรรณคดีมักบอกเล่าแต่ผลงาน แต่เราไม่เคยได้เห็นชีวิตอีกด้านของเธอ ว่าการเกิดเป็นหญิงในยุคที่ชายเป็นใหญ่นั้น การเข้าถึง‘สิทธิ’ ทางอาชีพของผู้หญิงถูกปิดกั้นโดยสิ้นเชิง แต่เธอก็เป็น ‘บุษบา’ ที่พร้อมจะ ‘ลุยไฟ’เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตนเอง ละครโทรทัศน์เรื่องนี้นอกจากตีแผ่เรื่องราวของกวีหญิงนามว่าคุณพุ่มแล้ว ยังพาดพิงถึงกวีอีกหลายท่านในยุคสมัยนั้น เหล่ากวีที่มีชื่อจารึกไว้ในประวัติวรรณคดีจึงได้มีชีวิตที่โลดแล่นในจอโทรทัศน์
เรื่องนางฟ้าไร้นาม เป็นละครพีเรียดอีกเรื่องหนึ่งซึ่งนำเสนอเหตุการณ์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงราวทศวรรษ 2510 ชีวิตของแพทย์หญิงเพียร เวชบุล ผู้จบการศึกษาด้านกามโรคจากต่างประเทศ เธอเล็งเห็นว่าสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญแก่การโรคเท่าที่ควร ทั้งที่ในต่างประเทศตื่นตัวกันมาก เพราะกามโรคมิได้เป็นเพียงโรคภัยไข้เจ็บ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงซึ่งตกเป็นเหยื่อของผู้ชาย ทั้งผู้หญิงที่เป็นเมียและหญิงขายบริการที่ถูกกดหัวให้ต่ำต้อยด้อยค่า ละครโทรทัศน์ได้ถ่ายทอดเกียรติประวัติอันกล้าหาญ ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว มุ่งมั่น และไม่ละความพยายาม
การนำเสนอตัวละครจากชีวิตจริงในสังคมไทยอาจเป็นแนวโน้มใหม่ของวงการละครโทรทัศน์ไทย ที่เปลี่ยนจากเรื่องเพ้อฝันไปสู่เรื่องจริง ดังจะเห็นได้ว่า มีละครโทรทัศน์หลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวประวัติศาสตร์ เช่น ละครโทรทัศน์เรื่องบุพเพสันนิสวาส ได้สอดแทรกประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เราจึงเห็นบุคคลมีชื่อในประวัติศาสตร์หลายคนแสดงบทบาทในเรื่องนี้ หรือละครโทรทัศน์เรื่องหมอหลวง ก็นำเสนอตัวละครอย่างหมอบรัดเลย์ หมอฝรั่งผู้มีบทบาทด้านการแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมถึงละครที่เกี่ยวกับวันพ่อ ก็นำเอาชีวิตของบุคคลผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาผูกเรื่องเป็นละคร
แต่ความแตกต่างจากที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ ตัวละครในละครทั้ง 3 เรื่องของไทยพีบีเอส มิใช่ตัวละครชั้นสูงในสังคมไทย แต่กลับเป็นตัวละครชั้นสามัญ ซึ่งมิได้มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นอกจากใช้ความมุ่งมั่นและความแน่วแน่ในการต่อสู้จนกว่าบรรลุเป้าหมาย ตัวละครเหล่านี้เป็นคนธรรมดาที่มีอุดมคติอันสูงส่ง ทุ่มเทชีวิตเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่ในสังคม มิใช่เพื่อตนเอง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ละครโทรทัศน์แนวสร้างสรรค์เหล่านี้ กลายเป็น ‘กระแส’ และเริ่มมีการชื่นชม น่าจะเกิดจากการคำนึงถึง ‘ความจริง’ ในละครโทรทัศน์ เราก้าวข้ามจากการสร้างและเสพละครเพื่อความซาบซึ้ง เสพสุขอยู่หน้าจอ มาสู่การทำละครเพื่อ ‘ความเข้าใจ’ คนและสังคมในมิติต่างๆ การที่ละครทั้งสามเรื่องนำเสนอเรื่องราวของสามัญชนเพื่อเชิดชูอุดมคติของบุคคลผู้ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว และดำเนินชีวิตในแนวทางที่ทวนกระแสสังคม แม้ในช่วงที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ อาจไม่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากนัก แต่ละครทั้งสามเรื่องก็สร้างความทรงจำให้แก่คนรุ่นปัจจุบัน
เชื่อได้ว่า หากสังคมไทยเปิดกว้างให้มีการนำเสนอเรื่องราวของบุคคลจริงมากขึ้น วงการละครไทยก็จะมีแนวเรื่องใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยอาจนำเอาชีวิตบุคคลในวงการต่างๆ มาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นละครโทรทัศน์ เช่น แนวการเมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ กีฬา แฟชั่น อาหาร ศิลปิน ฯลฯ ชีวิตของบางคนต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ แต่ก็ไม่ระย่อ กลับฟันฝ่าขวากหนามเหล่านั้น จนประสบความสำเร็จและกลายเป็นแบบอย่างของคนรุ่นหลัง เมื่อได้เรื่องราวของ ‘คน’ แล้ว ก็ต้องสอดแทรก ‘บริบท’ ควบคู่กันไป การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมผ่านสื่อโทรทัศน์ก็จะได้รับการพินิจพิเคราะห์อีกด้วย
ละครโทรทัศน์ที่นำเอาชีวิตคนสามัญผู้ยิ่งใหญ่มาเสนอให้ชมนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความบันเทิงแปลกใหม่แล้ว ยังเป็นการเชิดชู ‘คนดี’ และปลุกอุดมคติของคนดีให้ได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกครั้ง และนี่คือคุณูปการอันสูงค่าของละครโทรทัศน์
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ‘ลำเพา เพ่งวรรณ’
ภาพ: อินเทอร์เน็ต