คนเราเมื่อตกทุกข์ได้ยาก หรืออดอยาก มักจะโทษชะตากรรม บอกว่าเป็นกรรมเก่าที่ทำให้ชีวิตลำบาก
คนจีนสมัยก่อนมักบอกว่า “โควเหมี่ย” (苦 命 ภาษาจีนกลางออกเสียง ขู่มิ่ง แต้จิ๋ว = โควเหมี่ย จีนแคะ = คูเมี้ยง)
苦 = ลำบาก 命 = ชีวิต
แปลว่า ชีวิตลำบาก
วลี ‘โควเหมี่ย’ ไม่ได้หมายความว่าชีวิตลำบากเพราะเกิดมายากจน หรือไร้วาสนาอย่างเดียว แต่รวมถึงคนมีฐานะที่ชอบใช้ชีวิตแบบลำบากด้วย
บางคนร่ำรวยมีเงินหมื่นล้าน ก็ยังชอบทำตัวให้เหนื่อย ลงมือเองทุกอย่าง มีลูกน้องพันคน แต่ก็ยังจะลงมือเอง มีลีมูซีน แต่ชอบเดิน
คนเหล่านี้เป็นพวก masochist (ชอบทำร้ายตัวเอง) หรือ?
หามิได้! ไม่ใช่ทุกคนที่ทำตัว ‘โควเหมี่ย’ เป็น masochist พวกเขาแค่ไม่ชอบชีวิตที่สบายเกินไป ชอบทำงาน ไม่ชอบอยู่เฉยๆ
คนเหล่านี้ไม่เชื่อเรื่องนั่งกินนอนกินโดยเด็ดขาด
ความลำบากก็เหมือนความทุกข์ทั้งหลาย มันไม่ใช่ค่าสัมบูรณ์ มักเกิดจากความรู้สึก
ในเมื่อความลำบากไม่ใช่ค่าสัมบูรณ์ จะ ‘โควเหมี่ย’ หรือไม่ ก็อาจขึ้นอยู่กับใจของเรา
โควเหมี่ยเพียงชี้ว่า ชีวิตของคนคนหนึ่ง ‘ลำบาก’ เมื่อเทียบกับคนอื่น หรือเมื่อวัดด้วยมาตรบางอย่างของสังคม
ไม่มีรถยนต์ ก็อาจไม่ใช่โควเหมี่ย ถ้าเราไม่รู้สึกว่าลำบากหรือเดือดร้อน
ไม่มีบ้านใหญ่โตเหมือนเพื่อนๆ ก็อาจไม่ใช่โควเหมี่ย
ทำงานวันละ 15 ชั่วโมงก็อาจไม่ใช่โควเหมี่ย แต่อาจเป็นอิคิงะอิ (生き甲斐- Ikigai) ของคนคนนั้น มันคือเหตุผลที่เดินชีวิตในวิถีที่ยินดี ไม่รู้สึกว่ามันคือ ‘โควเหมี่ย’ เขาสนุกกับการทำงาน 15 ชั่วโมงนั้น และรู้สึกว่าวันพรุ่งนี้มีอะไรให้เฝ้ารอ นั่นคือการได้ทำงาน 15 ชั่วโมง!
จะเรียกว่า โควเหมี่ย หรืออิคิงะอิ หรือ workaholic ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือการมีความสุข
…………………………..
ความลำบากมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือความจริง เช่น ไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาทเดียว หรือที่บ้านไม่เหลือข้าวสารเลย
อีกส่วนหนึ่งคือจินตนาการเชิงลบ ขยายความความลำบากในระดับหนึ่งให้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว บางครั้งเกิดจากการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น เช่น เห็นเพื่อนที่เรียนจบมาพร้อมกันประสบความสำเร็จ มีเงินร้อยล้าน ส่วนตนเองยังทำงานเล็กๆ รายได้น้อย ก็รู้สึกแย่ บ่นว่าชีวิตตนเองลำบาก
โควเหมี่ยจึงอาจเป็นอัตวิสัย
สังคมมนุษย์สร้างภาพภาพหนึ่งขึ้นมา ฝังในใจของคนจำนวนมาก นั่นคือ “ความสุขคือการไม่ลำบากทางกาย”
มันกลายเป็นค่านิยมที่ทำให้ทุกคนดิ้นรนหาความสบาย ถ้าไม่สบายกาย ก็เข้าข่าย “ลำบาก”
เราโยงความลำบากกับความสุขเพราะโยงทางกายภาพ เช่น ไม่มีเงินก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก
แต่ต่อให้มีเงิน ก็ใช่ว่าจะมีความสุข
โควเหมี่ยไม่ได้แปลว่าไม่มีความสุข
เพราะความลำบากกับความสุขอาจไม่เกี่ยวข้องกันเสมอไป ขึ้นอยู่กับทัศนคติ
ดังนั้นแม้จะเดินขนานกัน แต่ความลำบากกับความสุขไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกันเสมอไป
…………………………..
มหาเศรษฐีหลายคนเกิดในครอบครัวยากจน ไม่มีกิน เมื่อรวยแล้ว ก็ไม่สลัดอดีตทิ้ง ยังคงใช้ชีวิตแบบเก่า เขาพึงใจที่ตนเองก้าวไปถึงจุดสูงสุด แต่ก็มองไม่เห็นความงามของความฟุ่มเฟือยหรือฟุ้งเฟ้อ
คนบางคนจึงไม่มีวันยอมรีไทร์
ความสุขของเขาหรือเธอคือแต่ละวันได้ทำอะไรสักอย่างที่เป็นรูปธรรม วันที่ไร้งานที่เป็นรูปธรรมเป็นวันสูญเปล่า
ดังนั้นถ้าเราปรุงแต่งว่าชีวิตลำบาก มันก็ลำบาก
ถ้าไม่ปรุงแต่งว่าลำบาก มันก็เป็นแค่วิถีชีวิตที่เราเลือก
เลือกทางที่สบายใจ จะเข้าข่าย ‘โควเหมี่ย’ หรือไม่ ไม่สำคัญ
ผมมีเพื่อนหลายคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การเงิน บางคนยังคงทำงานหนักไม่หยุด แต่บางคนก็ทำงานไป ถ่ายรูปดอกไม้ใบหน้า นก แมลง แสงแดด สายฝน มาให้เพื่อนดู
แล้วแต่คน แล้วแต่วิถี
คอลัมน์ ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/