สีสันคำลาว

-

คำเรียกสีเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภาษาในโลกนี้ และมักเป็นภาษาดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นมาน้อย การศึกษาคำเรียกสีสันช่วยให้เราทราบถึงรากศัพท์ที่มาของภาษาในตระกูลเดียวกันได้ดีขึ้น ภาษาไทยกับภาษาลาวนั้นมีคำที่ใช้เรียกสีสันต่างๆ แทบเหมือนกันทั้งหมด เนื่องจากเป็นภาษากลุ่มคำโดดที่ร่วมรากเหง้าเดียวกันมาแต่โบราณ แต่ยังมีบางสี บางคำ ที่ใช้แตกต่างกัน และเมื่อคนไทยได้เห็นก็อาจจะสงสัยว่าหมายถึงสีอะไร

 

 

ສີບົວ สีบัว คือสีชมพู มีที่มาจากสีของกลีบดอกบัวหลวงยามเบ่งบานจนนำไปถวายบูชาพระได้ ในภาษาไทยดั้งเดิมมีคำว่า “สีกลีบบัว” เป็นสีชมพูอ่อน ใช้กับผ้าซึ่งย้อมด้วยสีจากกลีบบัวหลวง ต่างจากสีชมพูในภาษาไทย ที่สันนิษฐานว่ารากศัพท์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ชมฺพุ ซึ่งหมายถึงต้นหว้าหรือต้นชมพู่ที่ดอกและผลมีสีชมพูหรือสีแดงอมม่วงอ่อน ในภาษาลาวนั้นใช้คำว่า “สีบัว” กับสีชมพูทั่วไปในทุกรูปแบบ เช่น ຮັກນີ້ສີບົວ ฮักนี้สีบัวคือรักนี้เป็นสีชมพู หรือ ຫົວໃຈສີບົວ หัวใจสีบัวคือหัวใจสีชมพู นอกจากนี้ สีบัวในภาษาวัฒนธรรมลาวยังเป็นสีแทนความสุข ความสดชื่น ความรัก และการแต่งงานด้วย

ສີປູນ สีปูน คือสีส้มแดง ปูนในที่นี้ไม่ใช่ปูนซีเมนต์ แต่หมายถึงปูนขาวผสมขมิ้นที่กินกับหมากพลู เมื่อผสมปูนขาวซึ่งทำจากเปลือกหอยบดละเอียดเข้ากับขมิ้นตำแล้วจะได้ปูนสีส้มแดง ป้ายลงบนใบพลูเคี้ยวกินกับผลหมากช่วยแก้กรดของผลหมากที่มีรสฝาดได้ คนลาวใช้เรียกสีแม่น้ำโขงในยามน้ำหลากว่า ຂອງສີປູນ คือแม่น้ำโขงมีสีส้มแดงจากตะกอนน้ำพัดพา

ສີແຫຼ່ สีแหล่ คือสีเข้มคล้ำเขียวจนเกือบดำ มักใช้เรียกผ้าขี้ริ้วหรือสิ่งที่สกปรกเปื้อนฝุ่น หรือใช้เรียกสีผิวของคนที่ออกคล้ำเข้ม คำว่า “สีแหล่” นี้ มีนัยยะค่อนข้างรังเกียจเหยียดผิวอยู่มาก เช่น ອີແຫຼ່ หรือ ບັກແຫຼ່ เป็นคำซึ่งผู้ใหญ่ใช้เรียกลูกหลานที่ผิวคล้ำดูไม่น่ารัก ในยุคนี้คนใช้คำว่า “สีแหล่” น้อยลง เพราะมีสำนึกต่อต้านการเหยียดสีผิวมากขึ้น

ສີເຖົ້າ สีเถ้า คือสีเทา มาจากสีของขี้เถ้าถ่านไฟ แต่ภาษาลาวใช้เรียกสีโทนเทาทั้งหมด สันนิษฐานว่า คำว่า “สีเทา” ในภาษาไทย ก็มีที่มาจากคำว่า “เถ้า” ของขี้เถ้า แล้วแผลงเสียงเพี้ยนไปเช่นเดียวกัน

ສີເລົາ สีเลา คือสีขาวอมเทา มาจากสีของหญ้าดอกเลาซึ่งบานในหน้าหนาวที่อากาศแห้ง คล้ายคลึงกับสีดอกเลาในภาษาไทยใช้เรียกสีผมหงอกของคนชรา หญ้าดอกเลานี้บานเป็นทิวทุ่งตามริมฝั่งแม่น้ำโขงช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม เป็นทัศนียภาพที่สวยงามน่าชม


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!