หนาวลมที่ริมโขง

-

ฤดูหนาวปีนี้มีพยากรณ์อากาศว่าจะหนาวมากและหนาวนานกว่าปีที่ผ่านมา ใน สปป.ลาว อากาศมักหนาวกว่าในประเทศไทยด้วยสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบสูงและภูเขาสลับซับซ้อนเรียงรายกัน แม้จะยังไม่มีหิมะแต่ก็ปรากฏน้ำค้างแข็งและลูกเห็บตกเป็นประจำทุกฤดูหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแขวงทางตอนเหนือของประเทศ ชาวลาวคุ้นชินกับอากาศหนาวมากกว่าชาวไทย คำศัพท์ที่ใช้พูดถึงความหนาวเย็นในฤดูหนาวจึงมีหลากหลายน่าสนใจเรียนรู้ไว้เช่นกัน

ຫມາກເຫັບ หมากเห็บ คือ ลูกเห็บ สภาวะอากาศเย็นบนเมฆทำให้ฝนจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งตกลงมาจากฟ้า ส่วนมากพบได้ในช่วงพายุปลายฤดูหนาวต่อต้นฤดูร้อน ในประเทศลาวพบหมากเห็บบ่อยกว่าประเทศไทย หลายครั้งหมากเห็บก็ตกเทลงมาจนจับตัวเป็นน้ำแข็งบนพื้นขาวโพลนคล้ายหิมะ คำว่าเห็บ นี้เป็นศัพท์ไทย-ลาวดั้งเดิมร่วมกับไทลื้อ ไทใหญ่ และจ้วงในจีนตอนใต้ หมายถึงก้อนน้ำแข็งที่ตกลงมาจากฟ้าเช่นเดียวกัน เรียกที่ใดก็เข้าใจเหมือนกันได้

ເຫມີຍ เหมย คือ น้ำค้างแข็งยอดหญ้า เกิดจากอุณหภูมิบริเวณใกล้พื้นดินต่ำกว่าอุณหภูมิในอากาศทั่วไปจนทำให้น้ำค้างบนใบไม้ใบหญ้าแข็งตัว เป็นคำเรียกแบบเดียวกับภาษาเหนือของไทยว่า เหมยขาบ

ຫມອກກ້າມ หมอกเกี้ยม คือ น้ำค้างแข็งเช่นเดียวกับ ເຫມີຍ แต่ใช้เรียกน้ำค้างแข็งตามต้นไม้และกิ่งไม้ ซึ่งไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในประเทศไทย เพราะจะเกิดเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาแล้วเท่านั้น

ໝື່ນ หมื่น คือ ลื่น เป็นคำที่อาจสร้างความสับสนกับภาษาไทยได้ คำว่า หมื่น ในภาษาลาวไม่ได้แปลว่าจำนวนนับสิบพันซึ่งไม่มีในภาษาลาว แต่คำนี้มีความหมายสองนัย นัยแรกคือน้ำหนัก 12 กิโลกรัม ใช้ชั่งข้าวสารและน้ำหนักโลหะ อีกนัยหนึ่งคือ ลื่นไถล ในหน้าหนาวตอนเหนือของลาวน้ำแข็งตัวได้ง่าย คนจึงมักเตือนกันว่าให้ระวังจะหมื่นล้ม

ປົ່ງນ້ຳຮ້ອນ ป่งน้ำฮ้อน คือ น้ำพุร้อน ประเทศลาวมีเทือกเขาที่เป็นภูเขาไฟเก่าและรอยต่อเปลือกโลกหลายแห่ง จึงพบแหล่งป่งน้ำฮ้อน หรือน้ำพุร้อนที่ช่วยคลายความหนาวได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขวงทางตอนเหนือซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาว ชาวบ้านจะมาอาบน้ำสามัคคีกันที่ป่งน้ำฮ้อนแก้หนาว


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!