งูเห่าชัดๆ
สังคมไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะในแวดวงการเมืองและหน่วยงานราชการ ได้มีการนำคำธรรมดาๆ ที่เคยใช้ความหมายตรงตามตัวอักษร เช่น งูเห่า กล้วย นั่งร้าน มาใช้เป็นสำนวนไทยที่สื่อความหมายเปรียบโดยนัย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะได้บันทึกไว้ในช่วงเวลานี้เพื่อให้เห็นการใช้ภาษาที่มีพัฒนาการจากอดีต
งูเห่า
“งูเห่า” เป็นงูที่มีพิษร้าย ใครถูกงูเห่ากัดถ้าไม่ตายก็คางเหลือง ด้วยเหตุนี้เมื่อเห็นงูเห่าคราวใดก็จะขนพองสยองเกล้าและพยายามหลีกให้ไกล มีนิทานอีสปเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมมาแต่โบราณสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมต้น มีเนื้อเรื่องย่อว่า เช้าวันหนึ่งมีอากาศหนาวเย็น ชาวนาเห็นงูเห่านอนขดตัวแข็งอยู่บนคันนา ด้วยความเมตตาจึงคิดช่วยชีวิตโดยจับงูมาอุ้มไว้ เมื่องูได้รับไออุ่นก็แข็งแรงขึ้นแล้วกัดชาวนาตาย นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดว่าการทำดีมีเมตตาแก่สัตว์ร้ายอาจเป็นอันตรายได้
ด้วยพิษร้ายของงูเห่า มันจึงถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณให้เป็นสำนวนเปรียบกับผู้ที่อกตัญญูคิดร้ายหรือทำร้ายแก่ผู้มีบุญคุณ ปัจจุบันมักจะได้ยินคนในแวดวงการเมืองนำคำ “งูเห่า” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับคนที่มีโทษสมบัติดังกล่าวบ่อยๆ เช่น บางคนได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในพรรคหนึ่งโดยช่วยให้ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้มีตำแหน่งสำคัญในพรรค ต่อมาแทนที่จะสำนึกถึงบุญคุณของผู้ช่วยเหลือกลับทำตัวเป็น “งูเห่า” เมื่อมีพรรคอื่นยื่นข้อเสนอที่เป็นผลประโยชน์ให้ก็ทรยศย้ายพรรคที่สังกัดอยู่อย่างหน้าตาเฉย เช่น วันหนึ่งในวงสนทนา วันชาติพูดขึ้นว่า “อั๊วได้ข่าวว่านักการเมืองคนหนึ่งได้แสดงสันดานเดิมออกมา ไม่เคยสำนึกว่าเข้าสภามาได้เพราะใคร อยู่ๆ ก็ย้ายไปอยู่พรรคอื่นโดยไม่บอกกล่าว แถมยังด่าพรรคเก่าอีก งูเห่าชัดๆ”
กล้วย
“กล้วย” ในที่นี้เป็นชื่อผลไม้ชนิดหนึ่ง (ปลาเล็กๆ บางชนิดเรียกว่า “ปลากล้วย” เช่น ปลากะตัก ปลาไส้ตัน ฯลฯ) กล้วยถ้าสุกแล้วจะปอกเปลือกได้ง่ายมาก คำนี้จึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้มีความหมายว่าง่ายๆ สะดวก เช่น เรื่องกล้วยๆ คือเรื่องง่ายๆ
ปัจจุบันบางครั้งคำ “กล้วย” ก็ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบในเชิงลบ โดยเฉพาะให้มีนัยเปรียบถึงทรัพย์สินเงินทองที่นักการเมืองบางคนรับจากผู้ให้ที่หวังประโยชน์บางประการทางการเมือง ดังตอนหนึ่งนิสัยคุยกับสมยศเพื่อนร่วมอุดมการณ์ด้านการเมืองเดียวกันตอนหนึ่งว่า “ได้ข่าวว่าช่วงนี้มีการแจกกล้วยกันอย่างถี่ยิบเป็นล่ำเป็นสันในสภา ไม่รู้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร แค่ไหน แต่ไม่นานหรอก ความจริงก็โผล่ เป็นอย่างนี้ทุกที สัตว์อย่างลิงมันชอบกินกล้วยอยู่แล้ว”
นั่งร้าน
“นั่งร้าน” คือโครงร่างที่ทำด้วยไม้หรือโลหะ สำหรับนั่งหรือปีนป่ายในการก่อสร้างสิ่งสูงๆ เช่น พระเจดีย์ ตึก ฯลฯ คำนี้บางครั้งมีผู้ใช้คำว่า “ร่างร้าน” ก็มี ในการทำงานที่ต้องขึ้นไปยังที่สูงโดยไม่มีนั่งร้านย่อมทำได้ยากและอาจเป็นอันตราย นั่งร้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น ต่อเมื่องานเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงจัดการรื้อนั่งร้านออก
คำ “นั่งร้าน” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้มีความหมายว่า การที่บางคนประสบความสำเร็จหรือได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ต้องการ ย่อมต้องมีผู้ช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่มีบารมี ดังนั้นจึงควรต้องสำนึกในบุญคุณและต้องหาทางตอบแทนพระคุณผู้นั้น แต่ถ้าไม่สำนึกก็จะถูกเปรียบเหมือนรื้อนั้งร้านทิ้งอย่างไม่เห็นคุณค่าอีกต่อไป สำนวนนั่งร้านมีมาแต่โบราณ แม้ปัจจุบันก็ยังมีผู้พูดอยู่เสมอ เช่น นภาพูดกับสุรีย์เพื่อนสนิทถึงภุชงค์ญาติของตนว่า “ตอนจะขอตำแหน่งสำคัญ เช้าถึงเย็นถึง บ้านอธิบดีที่อยู่บ้านติดกับบ้านชั้น พอท่านช่วยให้ได้ตามต้องการก็เงียบหายไปเลยเป็นปีๆ ตอนนี้ท่านอธิบดีป่วยมากจนต้องออกจากงานมารักษาตัวที่บ้าน ฉันไม่เคยเห็นเจ้าภุชงค์มันมาเยี่ยมเลยสักครั้ง นี่แหละที่โบราณเขาว่าพอสร้างบ้านเสร็จก็รื้อนั่งร้านทิ้งจริงๆ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย / เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์
All magazine ตุลาคม 2565