นิก บรูเออร์เป็นนักกายภาพบำบัดประจำทีมนักกีฬาหญิงในมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ เขาเป็นชายหนุ่มหน้าตาดีเป็นที่หมายปองของสาวๆ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่านิกเป็นคนรักครอบครัว เขาแต่งงานแล้วกับโซฟี มีลูกชายสองคน นิกมีน้องสาวชื่อเพียที่สนิทกันมาตั้งแต่เด็กแต่โตขึ้นมา เขากับเพียมักขัดแย้งกันบ่อยๆ ในเรื่องการใช้ชีวิต บุคลิกของเพียคือคนวู่วาม ไม่ค่อยสนกฎระเบียบหรือมารยาทสังคม นิกมองว่าเพียชอบหาเรื่องคนอื่นโดยเฉพาะกับโซฟี
การทะเลาะระหว่างนิกกับเพียครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในงานวันเกิดแม่ของทั้งคู่ รุนแรงจนถึงขนาดนิกไล่เพียออกจากงาน เพียไปเมาต่อไม่ได้สติ ตื่นมาอีกวันไปทำงานก็เห็นนิกไปโผล่อยู่ในโลกออนไลน์
เขาถูกจับมัดบนเก้าอี้พร้อมป้ายประกาศวางบนตัวเขาว่า “ผมล่วงละเมิดทำร้ายผู้หญิง ถ้ามีคนคลิกเข้ามาดูคลิปนี้ถึงห้าล้าน ผมจะต้องตาย”
คลิปถัดมาที่ถูกปล่อยคือนิกถือป้ายเขียนว่า “ผมฆ่าผู้หญิง”
คลิปดังกล่าวกลายเป็นไวรัลในระยะสั้นๆ ยอดวิวขึ้นหลักล้านในไม่ถึง 24 ชม. ตำรวจออกสืบสวนแต่ก็ไม่มีเบาะแส
ปริศนาถูกคลี่คลายผ่านเรื่องราว 8 ตอน แต่ละตอนจะเล่าเรื่องโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครรายล้อมนิกทีละคน ความจริงจะค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมา โดยเฉพาะตัวตนของนิก
ในสายตาภรรยา นิกเป็นคนซื่อสัตย์อ่อนโยน ในสายตาน้องสาว นิกเป็นคนนิสัยดีและจริงใจ
แต่เมื่อการสืบสวนของตำรวจขยายวงกว้างก็มีคนเปิดเผยนิกในแง่มุมอื่นที่ตรงกันข้าม หนึ่งในนั้นคือสงสัยว่านิกจะมีพฤติกรรมนักล่าที่ล่อลวงหาเหยื่อหญิงสาวในโลกออนไลน์ และนำไปสู่การสำรวจรูปแบบการล่อลวงที่เรียกว่า Catfishing
Catfishing คือการปลอมตัวตนเป็นคนอื่น ใช้รูปปลอม ใช้ประวัติปลอมเพื่อหวังหลอกลวงเหยื่อในเชิงหาคู่ในโลกออนไลน์ เป้าหมายมักตกเป็นเหยื่อคือคนที่มีความนับถือตัวเองต่ำ (Poor self-esteem) อยู่ในภาวะเครียดซึมเศร้า หรือกำลังมีปัญหา ฯลฯ
ผู้ล่าหรือ Catfish จะไม่เปิดเผยหน้าตาจริง ไม่ใช้ประวัติจริงในโปรไฟล์ ไม่คุยให้อีกฝ่ายเห็นหน้าแบบ real time ไม่เคย facetime หรือ video call สดๆ ดังนั้นเหยื่อมักจะได้ยินแค่เสียงหรือเห็นแค่ข้อความแต่จะไม่เคยเจอตัวจริง ทุกสิ่งที่เหยื่อรับรู้จะเป็นภาพลักษณ์ด้านดูดี หรือเป็นด้านที่พวกเขาชื่นชม เพราะผู้ล่ามักศึกษาเหยื่อมาก่อนจากประวัติการใช้ชีวิตออนไลน์ของเหยื่อ แล้วก็ปรับตัวเองทั้งรูปร่าง โปรไฟล์ และวิธีการสื่อสารเพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบของเหยื่อ
มองในมุมจิตวิทยาจะพบว่าคดีความแบบ catfishing ล้วนมีจุดตั้งต้นจากพื้นฐานของมนุษย์ที่ “ต้องการใครซักคน”
ไม่ใช่ความโง่ ไม่ใช่ความประมาทเสมอไปที่ทำให้คนต้องถูกหลอกลวงจากกรณี catfishing แต่บ่อยครั้งที่คนตกเป็นเหยื่อเพราะความสัมพันธ์ในโลกจริงที่เป็นอยู่ของพวกเขา (หรือเธอ) มีความยากที่จะหาคนเข้าใจไปจนถึงยอมรับตัวตนอย่างที่เขาเป็น
ผู้ล่าที่เป็น catfish ที่ดีไม่ใช่มีแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดึงดูด แต่เขายังพร้อมเข้าใจ ยอมรับตัวตนของเหยื่อไม่ว่าจะมีจุดอ่อนอะไรอยู่ในใจ เพราะผู้ล่าศึกษารูปแบบของเหยื่อจากข้อมูลต่างๆ หรือ digital footprint (ร่องรอยการใช้งานในโลกอินเตอร์เน็ตในอดีต) ที่เปิดเผยบุคลิกและตัวตนของเหยื่อแล้วนำมาวิเคราะห์การที่จะจู่โจมอีกฝ่ายผ่านจุดเปราะบาง สื่อสารเน้นตอบสนองสิ่งที่พวกเขา (หรือเธอ) ต้องการ
ในซีรี่ส์ Clickbait แสดงให้เห็นว่าเมื่อเหยื่อต้องการใครซักคน ผู้ล่าต้องการผลประโยชน์จากเหยื่อ แล้วมีโลกออนไลน์เป็นสื่อกลาง อันตรายที่น่ากลัวมากขึ้นคือเมื่อเหยื่อเองเกิดจินตนาการมากขึ้นในโลกของความลวง
เหยื่อบางคนหลงในความหลอกลวงไปไกลกว่าผู้ล่า จากความอยากที่จะเชื่อว่าผู้ล่ามีตัวตนอยู่จริงจนสร้างเรื่องเล่ากล่อมตัวเองจนเชื่อในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แล้วยังบอกกับคนรอบข้างแบบเป็นตุเป็นตะ เรียกได้ว่าผู้ล่าหลอกเหยื่อ แต่เหยื่อก็ยังหลอกตัวเองกับคนรอบข้างอีกต่อ จนก้าวข้ามจุดที่จะเอะใจในความผิดปกติในความสัมพันธ์
เล่าปัญหาและปัญญาในโลกยุคใหม่ที่ผู้คนใช้ชีวิตผ่านหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ในหลากหลายแบบClickbait ไม่ว่าจะเรื่องอาชญากรรม , การรวมตัวกันของคนในโลกออนไลน์เพื่อไขปริศนาในฐานะนักสืบที่หาเบาะแสโดยเทคโนโลยีผ่านหน้าจอ (armchair detective) ฯลฯ เพียงแต่ประเด็นต่างๆ ที่เล่าไม่ใหม่เท่าไหร่แล้วเมื่อพูดถึงในตอนนี้ หากย้อนไปดูที่ผ่านมาเรามีหนังอย่าง Searching หรือสารคดีแบบ Don’t Fuck With Cats: Hunting An Internet Killer
แต่ Clickbait ทำดีในแง่ความสนุกน่าติดตาม ไม่สรุปตัดสินโลกออนไลน์ทางร้าย ทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์หน้าจอไม่ได้อันตรายกว่าชีวิตที่มองเห็นใบหน้าจริง เช่น มิตรภาพผ่านตัวอักษรที่แชตคุยกันระหว่างคนสองคนที่ไม่เคยพบเจอกันแล้วดูดีเกินจริงก็ไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายจะหลอกลวงเราเสมอไป ในทางตรงกันข้ามกับคนที่เห็นหน้ากันทุกวัน เห็นภาษากายและภาษาพูดตรงๆ ก็สามารถหลอกลวงเราได้อย่างสนิทใจ
ชื่อหนัง Clickbait ยังมีความหมายในโลกจริงหมายถึงการออกแบบให้คนอ่านในอินเตอร์เน็ตอยากกดคลิกเข้าไปอ่านหรือดูเนื้อหาต่อ ผ่านรูปภาพ,คำพูดหรือพาดหัวที่ดูหวือหวา โดย bait ที่อยู่ในคำนี้แปลว่าเหยื่อล่อ เพราะเนื้อหาที่กดตามเข้าดูต่อจากพาดหัวนั้นอาจจะไม่ได้มีอะไรตรงตามที่โปรยข้อความไว้เลยด้วยซ้ำ หรือก็มีส่วนเกี่ยวข้องแค่เล็กน้อย หรือคลิกแล้วอาจไปเจอโฆษณาแทน
แต่สิ่งที่ทำให้กลไกแบบ Clickbait ประสบความสำเร็จเพราะมนุษย์มีพื้นฐานของความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) เราถูกกระตุ้นให้อยู่ในโลกที่กลัวว่าจะพลาดอะไรไปในแต่ละวันถ้าไม่ได้ตามข้อมูลที่ผ่านตา (fear of missing out)
ดังนั้นเมื่อเจอคำโปรยแบบ “คุณจะคิดไม่ถึงว่าคนสองคนนี้ กล้าทำสิ่งนี้ในยุคปัจจุบัน ..” พาดหัวข่าวทำนองว่า “นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความลับของโควิด ที่คุณต้องตะลึง …” ฯลฯ แม้เราจะพลาดกดเข้าไปอ่านต่อแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผิดหวัง แต่เราก็ยังพลาดได้อีกเพราะ clickbait ทำให้เราแค่ผิดหวัง ไม่ได้ทำให้เราเจ็บปวดจนเข็ดหลาบ
แถมในบางครั้งความอยากรู้อยากเห็นของคนเราที่ไม่เคยเจ็บปวดจากการกดเข้ามีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ ก็สามารถสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นได้เมื่อใจเราถูกล่อลวงด้วยความอยากรู้อยากเห็น เช่น กรณีของนิกในซีรี่ส์ที่ผู้คนรู้แก่ใจจากเงื่อนไขในป้ายที่นิกถืออยู่คือ ‘ถ้าคนคลิกเข้ามาดูถึง 5 ล้าน นิกต้องตาย’ แต่ผู้คนก็ยังคงกดเข้าไปดูในเว็บเรื่อยๆ ทั้งที่รู้ว่าทุกหนึ่งการกดเข้าไปดูอาจทำให้คนหนึ่งคนเสียชีวิตได้จริง
ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ในโลกออนไลน์ ในซีรี่ส์เราก็เห็น “ความอยากรู้อยากเห็น” ที่พร้อมพาเรากระโจนก้าวข้ามเส้นศีลธรรมหรือทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นผ่านตอนของนักข่าวที่อยากก้าวหน้าในวิชาชีพและอยากได้คำตอบที่ตัวเองพยายามเสาะหามาตลอด
คำตอบสุดท้ายว่า “ใครคือคนร้าย?” ดูจะเป็นการจงใจทำเซอร์ไพรส์แบบไม่มีร่องรอยอะไรให้คิดถึง ซึ่งก็อาจทำให้มีทั้งคนชอบที่เดาไม่ถูกและคนที่ไม่ชอบเพราะดูจะจงใจหักมุมเกินไป แต่อย่างน้อยๆ มันก็ตอกย้ำความโหดร้ายในโลกออนไลน์จากประเด็นความอยากรู้อยากเห็นของคนคลิกเข้าไปดูแม้รู้ว่านิกจะต้องตาย นั่นคือความโหดร้ายจากการ “ไม่คิดถึงใจ” ของคนในจอ ลืมไปว่าอีกฝ่ายก็มีชีวิตจิตใจเป็นคนจริงๆ เหมือนกับเรา เพียงคำพูดหรือการกดปุ่มไม่กี่ปุ่มที่ไม่คิดถึงใจเขาใจเรา ก็สามารถทำร้ายอีกฝ่ายได้จนถึงชีวิต
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)