“เรารู้ว่าเขาไม่ปกติตั้งแต่อายุครรภ์ 5 เดือนแล้ว แต่เราและสามีก็ตัดสินใจจะอุ้มท้องต่อและคลอดเขาออกมา”
‘รัตน์’ นภารัตน์ รุ่งเรือง ประธานชมรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา จังหวัดนนทบุรี คือหญิงแกร่งอีกคนที่ยืนหยัดสู้เพื่อลูกและครอบครัวของเธอ รวมถึงครอบครัวอื่นๆ ที่มีสมาชิกเป็นผู้พิการทางสติปัญญาด้วย
‘น้องเนย’ คือลูกสาวคนเดียวและลูกคนสุดท้องของเธอ ตรวจพบว่าเป็นดาวน์ซินโดรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ คุณหมอเสนอทางเลือกว่าจะอุ้มท้องต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ แต่เธอและสามีตกลงปลงใจให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ นี้แม้ว่าเขาจะไม่แข็งแรงสมบูรณ์ดังเช่นเด็กคนอื่น “ถามว่ามั่นใจกับการตัดสินใจไหม ยอมรับว่ากลัวเหมือนกันค่ะ เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลเลย ทว่าเมื่อตัดสินใจจะอุ้มท้องต่อ คุณหมอก็ให้คำแนะนำทั้งการฝึกกายภาพ ฝึกคลาน ฝึกพูด ให้ความรู้แก่เรา ช่วยให้มั่นใจว่าสามารถเลี้ยงดูเขาต่อไปได้”
แม้กำลังใจจะเต็มเปี่ยมแต่เส้นทางที่ครอบครัวรุ่งเรืองต้องฟันฝ่านั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เดิมนภารัตน์เคยตั้งโรงงานเย็บผ้าโหล มีลูกน้องกว่า 40 คน มีจักรเย็บกว่า 50 ตัว จัดว่ามีรายได้ไม่ฝืดเคือง ทว่าเมื่อสภาพเศรษฐกิจซบเซาก็ส่งผลต่อธุรกิจ นภารัตน์เลือกปิดโรงงาน และหันมาดูแลลูกสาวเต็มเวลา คุณหมอแนะนำว่าหากอยู่ในพื้นที่อากาศสะอาดจะส่งผลดีต่อสุขภาพของน้องเนย นภารัตน์จึงตัดสินใจพาน้องเนยไปอาศัยบ้านญาติที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนการหารายได้จุนเจือครอบครัวตกเป็นหน้าที่ของสามีซึ่งประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปแต่เพียงผู้เดียว
เมื่อน้องเนยเติบโตและแข็งแรงขึ้น นภารัตน์จึงย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ช่วงที่คอยรับ-ส่งน้องเนยไปโรงเรียนสำหรับผู้พิการ เธอเกิดความคิดอยากหารายได้เสริมเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ “ระหว่างนั่งเฝ้าลูกเรียน เราก็เห็นผู้ปกครองคนอื่นๆ ต้องมานั่งเฝ้าเหมือนกัน เลยเกิดความคิดว่าถ้าผู้ปกครองเหล่านี้มีอาชีพมีรายได้คงจะดีไม่น้อย แน่นอนว่าพวกเราคงทำงานประจำไม่สะดวก เพราะต้องคอยพาลูกไปหาหมอตามนัด แต่ถ้าเรามีความรู้แล้วเปิดร้านขายของ ทำอาชีพอิสระได้ก็น่าจะดี
“จากนั้นก็ชักชวนแม่บ้านผู้ปกครองที่นั่งรอลูกด้วยกันรวมตัวเป็นกลุ่ม และก่อตั้งเป็นชมรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา จังหวัดนนทบุรี เราศึกษาเรื่องข้อกำหนดการจัดตั้ง สิทธิต่างๆ และการเขียนโครงการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ใช้อุปกรณ์อะไร ค่าวิทยากรมาสอนเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้เราศึกษาและดำเนินการเอง จุดประสงค์ของชมรมคือเราอยากมีอาชีพ อยากหารายได้ โครงการแรกที่ทำคือเพาะเห็ดและนำไปขาย และตามมาอีกหลายอาชีพ เช่น เย็บพรมเช็ดเท้า ทำดอกไม้ดินปั้น ถักกระเป๋าโครเชต์ และทำสลัดโรลวางขายหน้าร้าน 7-Eleven”
การวางขายสินค้าหน้าร้าน 7-Eleven นั้นคือโครงการ ‘Giving Space เปิดพื้นที่ สร้างโอกาส’ โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้ผู้เข้าโครงการสามารถนำสินค้าต่างๆ มาจำหน่ายตรงพื้นที่หน้าร้าน 7-Eleven หลังจากนภารัตน์เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ก็ต่อยอดสู่การร่วมโครงการถัดมา ‘กาแฟสร้างสุขสร้างโอกาส ครั้งที่ 3’ เป็นอีกโครงการของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่เปิดทางสร้างอาชีพโดยจัดบาริสต้าอบรมวิธีการทำกาแฟ พร้อมส่งมอบเครื่องชงและเครื่องบดเมล็ดกาแฟให้แก่ร้านของนภารัตน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง
“เราไม่เลือกอาชีพ มีอะไรเข้ามาก็รับไว้ก่อน ชอบไม่ชอบ ทำได้หรือไม่ ไม่เคยเอามาคิด อะไรก็ตามที่ทำแล้วเกิดรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ เราทำหมด ถือเป็นโอกาสอันดีที่บริษัท ซี.พี.ออลล์ มอบให้ เราไม่ต้องเสียเงินเรียนชงกาแฟแพงๆ หรือลงทุนเป็นแสนๆ เพื่อเปิดร้านเลย
“ร้านกาแฟนี้ให้ลูกชายคนเล็กเป็นคนดูแล และน้องเนยสามารถช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ได้ เมื่อน้องมีกิจกรรมทำก็เกิดพัฒนาการ
“ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชมรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาฯ ชีวิตก็เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีรายได้ มีเงินออม เมื่อก่อนไม่เคยมีเลย ทำไปใช้ไป หลายครั้งก็ไม่พอใช้ พอเรามีรายได้เสริมก็แบ่งเบาภาระสามี มีชีวิตที่ดี มีอาหารการกินที่ดี และลูกของเราก็มีพัฒนาการ สามารถพาเขาไปหาหมอตามนัดได้ เพราะเมื่อก่อนไปบ้างไม่ไปบ้างด้วยปัญหาค่าครองชีพ”
เราถามคุณแม่สุดสตรองคนนี้ว่า มีวันไหนที่รู้สึกยากลำบากจนแทบทนไม่ไหวบ้าง “เราไม่ค่อยท้อนะ เป็นคนมองโลกแง่บวก เราเจอเพื่อนฝูงผู้ปกครองก็ได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ได้เห็นว่ามีคนที่หนักกว่าเรา บางบ้านลูกติดเตียงเดินไม่ได้เลย แต่ลูกเรายังช่วยเหลือตัวเองได้แม้จะช้าหน่อย และคุณหมอเจ้าของไข้น้องเนยก็ดูแลดีมาก ช่วยให้เราวางใจ มีกำลังใจ
“ไม่เคยแม้แต่จะคิดสั้นเลยจริงๆ นะ ทั้งที่ภาระเราเยอะ ไหนจะต้องดูแลลูกๆ และพ่อแม่ที่อายุเยอะแล้ว ยังมีหลานๆ อีก เราดูแลคนมาตลอด เราเชื่อเรื่องการทำดี มีหลายครั้งที่เหมือนจะไม่มีทางไปต่อ แต่ก็ไม่เคยเจอทางตันจริงๆ สักที เดี๋ยวก็มีหนทางแก้ไข เดี๋ยวก็มีเงินจากไหนไม่รู้มาต่อชีวิต ดังนั้นชีวิตต้องสู้ค่ะ”
สุดท้ายนี้ นภารัตน์ฝากถึงผู้ปกครองที่มีบุตรหลานพิการว่า หากมีปัญหาที่เธอสามารถช่วยได้ เธอยินดีเป็นธุระให้ “ถึงพ่อแม่ทุกคนที่มีลูกพิการนะคะ ไม่ต้องท้อใจ มีหลายหน่วยงานพร้อมช่วยเหลือ หรือถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง สอบถามที่ชมรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา จังหวัดนนทบุรี ได้เลย ยินดีให้คำปรึกษาค่ะ”
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน