วันนี้ผมขอเปิดเผยถึงสิ่งซึ่งผมสรุปได้จากการทำอาชีพแพทย์มานานและรักษาผู้ป่วยเรื้อรังหลากหลายอาการ แม้สิ่งซึ่งผมจะเปิดเผยยังไม่ใช่หลักวิชาแพทย์ที่เป็นมาตรฐานของวันนี้ แต่ผมจงใจไว้เผื่อว่าคนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้ต่อยอดจากประสบการณ์ของผมว่า
“โรคเรื้อรังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ อัมพาต ความดัน เบาหวาน โรคอ้วนและไขมันสูง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม แท้จริงแล้วล้วนเป็นโรคเดียวกัน มีสาเหตุอย่างเดียวกัน คือการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต และเมื่อแก้ไขสาเหตุตรงนี้แล้ว ก็แก้ไขได้ทุกโรค”
ด้วยความที่ผู้ป่วยคนหนึ่งมักเป็นโรคเหล่านี้หลายๆโรค คือโรคกลุ่มนี้มักรุมเร้าเข้ามาพร้อมกัน ผมจึงตั้งชื่อโรคกลุ่มนี้ว่า “7 สหายวัฒนะ” ในบทบาทของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผมมีหน้าที่รักษาผู้ป่วยเมื่อเขาเริ่มมีอาการป่วย แล้วส่งต่อไปให้แพทย์เฉพาะทางตามโรคที่เขาเป็น ทำไปทำมาหลายสิบปีเข้า ทุกวันนี้กลายเป็นว่าแพทย์เฉพาะทางส่งผู้ป่วยมาให้ผมช่วยรักษาเรื่องการกินการอยู่การใช้ชีวิต หลังจากคร่ำเคร่งมานานพบว่าการรักษาด้วยยาและหัตถการเฉพาะด้านไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหาย เมื่อพิจารณางานวิจัยใหม่ๆ ที่เผยแพร่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ก็พบว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกโรคล้วนมีกลไกพื้นฐานอันก่อให้เกิดโรคไม่กลไกใดก็กลไกหนึ่งหรือหลายกลไก ได้แก่
กลไกการเกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายจำนวนมากแล้วสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อร่างกาย ในขณะที่สารต้านอนุมูลอิสระซึ่งร่างกายผลิตขึ้นหรือได้รับจากอาหารนั้นไม่เพียงพอที่จะต่อต้านหรือสลายพิษของอนุมูลอิสระเหล่านั้น
ภาวะอักเสบเรื้อรังในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือหลายอวัยวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือด ซึ่งหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญทุกอวัยวะ รวมทั้งสมอง หัวใจ ไต ตับ ทำให้แค่หลอดเลือดอักเสบก็เกิดอาการป่วยขึ้นได้ในหลายอวัยวะ
กลไกการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป ทั้งนี้เนื่องด้วยความเครียดอันเป็นผลกระทบจากความคิด ดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติจึงเอียงไปข้าง “เร่ง” อยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้ความดันสูง หัวใจทำงานหนัก หลอดเลือดหดตัว
กลไกการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจุลชีพในร่างกาย (microbiomes) จากอาหารยุคใหม่ แล้วนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง
กลไกการเกิดสารทีเอ็มเอโอ (TMAO) ขึ้นในร่างกายจากอาหารบางชนิด แล้วสารนี้ไปก่อให้เกิดโรคเรื้อรังในอวัยวะต่างๆ
กลไกการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเผาผลาญและการย่อยสลายของเซลล์ (metabolism) ทำให้ดุลยภาพและการสนองตอบต่อฮอร์โมนสำคัญบางตัวผิดปกติไป
กลไกการสร้างหลอดเลือดใหม่ (angiogenesis) มากเกินไปเมื่อร่างกายไม่ต้องการสร้าง หรือน้อยเกินไปเมื่อร่างกายต้องการสร้าง
กลไกการควบคุมการแสดงออกของยีน (epigenetic) โดยอาหารและสารพิษในสิ่งแวดล้อม
กลไกเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโรคให้ทำงานน้อยเกินไปเช่นกรณีการติดเชื้อ หรือมากเกินไปเช่นในกรณีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง
ในบทความสั้นๆ นี้ผมคงไม่สามารถแจกแจงแต่ละกลไกได้ แต่สรุปให้ฟังได้ว่าการป้องกันและแก้ไขกลไกของการเกิดโรคเรื้อรังทั้ง 9 นั้น มีประเด็นสำคัญดังนี้
- ควรกินอาหารที่มีพืชเป็นหลักแบบมีไขมันต่ำ ในสภาพใกล้เคียงอาหารธรรมชาติ อันได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่ว นัต ธัญพืชไม่ขัดสี ที่หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปรุง ควรลดอาหารเนื้อสัตว์ลงให้เหลือเล็กน้อย และหลีกเลี่ยงอาหารบรรจุเสร็จซึ่งในกระบวนการผลิตมีการใช้สารถนอมอาหาร (preservatives) และสารแต่งกลิ่นแต่งรส (additives) อันเป็นพิษภัยแก่ชุมชนแบคทีเรียที่ดีในลำไส้อย่างถึงที่สุด
- ควรออกกำลังกายและใช้ชีวิตกลางแจ้งในธรรมชาติ ให้ร่างกายได้รับแสงแดด สัมผัสดิน น้ำ ต้นไม้ ได้อากาศบริสุทธิ์
- ควรจัดการความเครียดและการนอนหลับ โดยหมั่นใช้เทคนิคที่คนเขาใช้ได้ผลดีกันทั่วไปแล้ว เช่น โยคะ ไท้เก๊ก สมาธิ
- ควรถนอมรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ให้ความรัก เผื่อแผ่ มีเมตตาธรรม
สรุปได้ว่า “1.กินพืช 2.ขยันขยับ 3.วางความคิด 4.มีเมตตา”
คอลัมน์: สุขภาพ
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์