จีนเลิกบริษัทสอนกวดวิชา

-

การเรียนพิเศษโรงเรียนกวดวิชาในบ้านเราถือว่าเป็นภาระหนักแก่พ่อแม่และเด็กตลอดจนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่ในประเทศจีนนั้นสถานการณ์หนักหนายิ่งกว่า เช่นเดียวกับในฮ่องกงและญี่ปุ่น รัฐบาลจีนได้เลือกที่จะจัดการอย่างเด็ดขาดหลังจากเฝ้าดูเหตุการณ์และแนวโน้มมาหลายปี และเห็นว่ามีแต่จะเลวร้ายลง และเป็นผลเสียแก่สังคม

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2564  ทางการจีนจึงออกประกาศพร้อมกับให้คำอธิบายและเหตุผลของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ว่าต่อไปนี้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษาต้องกลายเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ห้ามแปรเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนและเพิ่มทุน มาตราการนี้ทำความลำบากให้แก่บริษัทใหญ่ๆ เช่น TAL Education Group/New Oriental Education and Technology Group ฯลฯ ทันที มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทเหล่านี้หายไปจากตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา รวมแล้ว 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.24 ล้านบาท)

มาตรการเหล็กครั้งนี้ต้องการแก้ไขสิ่งที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เรียกว่า “โรคเรื้อรัง”   ซึ่งเกิดจากการแสวงหากำไรของภาคเอกชนจากพ่อแม่ซึ่งกังวลใจว่าลูกของตนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในโลกของการศึกษาจีนที่เต็มไปด้วยการสอบเพื่อวัดประเมิน ระบบการกวดวิชาเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อเป้าหมาย “การมั่งคั่งร่วมกัน” ที่ทางการกำหนด  หากทิ้งไว้จะยิ่งทำให้มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น กล่าวคือ เด็กในโรงเรียนที่ไม่อยู่ในเมืองใหญ่  และเด็กที่พ่อแม่ไม่มีเงินให้ลูกเรียนกวดวิชา ก็จะเสียเปรียบ ไม่สามารถแข่งขันเข้าเรียนในสาขาและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงซึ่งจะทำให้ได้งานและเงินดีเมื่อสำเร็จการศึกษา

คำถามของประชาชนทั่วไปและพ่อแม่ที่มีเงินและชอบระบบนี้ก็คือ มาตรการเช่นนี้จะได้ผลหรือไม่ เพราะต่อให้ห้ามการประกอบธุรกิจกวดวิชาของบริษัทเอกชน แต่ไม่ห้ามหากองค์กรไม่แสวงหากำไรจะดำเนินการ    สิ่งที่คาดเดาได้ก็คือการกวดวิชาก็จะยังคงมีอยู่ตราบใดที่ระบบการสอบวัดระดับความรู้และการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่เปลี่ยนแปลง  การติวแบบส่วนตัวที่จ้างโดยพ่อแม่ที่มีเงิน หรือทำกันเป็นกลุ่มก็จะเกิดขึ้นเป็นคู่ขนาน  พ่อแม่ยังต้องจ่ายเงินซึ่งเป็นภาระเหมือนเดิม โรงเรียนอาจเหมือนเดิม เพียงแต่เจ้าของระบุว่าไม่มุ่งกำไรเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำของโอกาสก็น่าจะเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนแปลงคือธุรกิจกวดวิชาแบบเปิดเผยจะหมดไป

 

คนในโลกตะวันตกตั้งคำถามว่าในเมื่อระบบการศึกษาของจีนในปัจจุบันที่เรียนเนื้อหากันอย่างเข้มข้นในโรงเรียนปกติและโรงเรียนกวดวิชาจนเด็กแทบไม่มีเวลาว่างเสาร์อาทิตย์ และหยุดภาคเรียน  ก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เด็กจีนได้คะแนนสูงมากในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อยู่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาในโลกตะวันตก โดยดูได้จากคะแนน PISA ดังนั้นควรจะเปลี่ยนแปลงด้วยมาตรการเหล็กเช่นนี้หรือ

ไม่มีพลเมืองจีนที่กล้าแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์มาตรการนี้ แต่ก็เชื่อกันว่าเป็นความตั้งใจดีที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ให้เด็กเรียนหนักเกินไป เพราะมาตรการระบุห้ามการเรียนกวดวิชาในวันหยุดเสาร์อาทิตย์และระหว่างภาคเรียน    อย่างไรก็ดีมีคนวิจารณ์ว่าในโลกความเป็นจริงย่อมจะมีโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่มุ่งแสวงหากำไรใช้ “ลูกเล่น”  พลิกแพลงและพ่อแม่ที่พึ่งการติวแบบส่วนตัวก็จะหาวิธีการอื่นๆ ชนิดใต้ดินอีก เพื่อให้ลูกของตนสามารถเรียนกวดวิชาอย่างได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันจนได้

ในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1,400 ล้านคนเช่นจีน   กรอบคิดของการแข่งขันในโรงเรียนและแย่งชิงงานที่ดีเป็นเรื่องปกติ  การเรียนเนื้อหาที่เข้มข้นโดยใช้เวลามากจนเด็กแทบไม่มีเวลาว่างเป็นของตัวเองเพื่อให้เด็ก “ชนะ” และได้งานดีนั้นคงไม่มีใครเถียงว่าเป็นหนทางที่ไม่ได้ผล แต่คำถามสำคัญก็คือการเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม เป็นคนดีมีวินัย มีทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลกนั้นสำคัญกว่าการได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีงานดีอย่างเดียวหรือไม่


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!