จะสอนเด็กอย่างไรให้รู้รักษาตัวรอดแต่ยังเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
ตอบว่า…ผมแนะนำลำดับการสอนเจ็ดขั้นดังนี้
- เป็นแบบฉบับให้เด็ก (role model) เพราะเด็กเรียนรู้จากการลอกแบบ ผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานให้เขาเห็น
- ทักษะการเข้าใจเห็นใจผู้อื่น (empathy) สอนให้รู้จักยอมรับคนรอบตัวเรา ยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ขอบคุณ ให้อภัย ขอโทษ แผ่เมตตา
- ทักษะรับมือความผิดหวัง (coping skill) ซึ่งต้องสอนกันในภาคปฏิบัติ เช่น
3.1 เมื่อหมา แมว หรือญาติผู้ใหญ่ตายก็สอนให้เข้าใจว่าความตายว่าเป็นปลายทางของทุกชีวิต
3.2 เมื่อพ่ายแพ้ในการแข่งขันก็สอนให้ยอมรับว่ากีฬาย่อมมีแพ้มีชนะ เป็นเรื่องธรรมดา
3.3 เมื่อล้มเหลวในการสอบ การเรียน หรือการทำงาน ก็สอนให้ยอมรับและมองว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวก็เป็นแค่คนละด้านของสิ่งเดียวกัน และสอนให้ถือเอาความล้มเหลวเป็นบทเรียนในชีวิต
3.4 เมื่อทำอะไรแล้วเผชิญภาวะคับขัน ก็สอนลูกให้หาวิธีเอาตัวรอดโดยไม่ตำหนิ จนเกิดความกล้าที่จะลองสิ่งใหม่ๆ
3.5 เมื่อสิ่งรอบข้างไม่เป็นดังที่มุ่งมาดปรารถนาก็สอนว่าทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเราไม่มีอำนาจไปควบคุมมัน ได้แต่ยอมรับมัน
- ขจัดปัจจัยขัดขวางทักษะการรับมือ (coping blockage) เช่น
4.1 อย่าสร้างโลกเสมือนให้เด็กอยู่ หมายความว่าอย่าทำให้ทุกอย่างในบ้านดูง่ายดาย อยากได้อะไรก็มีคนเอาไปประเคนให้จนถึงที่ อย่าล้างจาน ซักผ้า ถูพื้น เทขยะแทนเขา หากเขาถูกพะเน้าพะนอมมากเกินไปก็จะเป็นการสร้างนิสัยให้เป็นคน ‘หยิบโหย่ง’ ตั้งแต่ยังเด็ก พอโตขึ้นเข้าวัยทำงานก็จะทำอะไรไม่จริงจัง หรือไม่เอาการเอางาน
4.2 อย่าช่วยแก้ปัญหาหรือคอยสะสางผลงานความชุ่ยของเด็ก ให้เขารับผิดชอบและแก้ปัญหาที่ก่อขึ้นเอง เช่นเด็กลืมเอาการบ้านไปโรงเรียนก็ไม่ต้องขับรถไปส่งให้ แต่ปล่อยให้ครูลงโทษตามสมควร หากมัวแต่เป็นธุระแทนเขา ในอนาคตเขาจะกลายเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบและไม่อาจเชื่อถือได้ (unaccountable)
4.3 อย่าให้รางวัลหรือยกย่องความสำเร็จของเด็กจนเกินไป อย่าพร่ำพูดว่าเขาเป็นเด็กฉลาด อย่าละเลยความล้มเหลวโดยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะจะหล่อหลอมให้เขาเป็นคนกลัวความล้มเหลว ควรปล่อยให้เขาได้ลิ้มรสความล้มเหลวอย่างเปิดเผยและยอมรับเช่นเดียวกับได้ลิ้มรสความสำเร็จ
4.4 อย่าคาดหวังอะไรในตัวเด็กมากไปกว่าการให้เขารู้วิธีใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและอยู่กับคนอื่นได้โดยไม่เป็นขยะหรือภาระแก่สังคม อย่าบีบให้เขาต้องปรับตัวตามเกณฑ์ของสังคมให้ทัน
4.5 อย่าสนองตอบข้อเรียกร้องเอาแต่ได้เอาแต่ใจแบบเด็กไม่รู้จักโต แม้อยากตัดรำคาญก็อย่าสนองตอบ ให้เพิกเฉยเสีย ควรเลือกสนองตอบและร่วมมือกับเขาเฉพาะเมื่อเขาเสนอขอความช่วยเหลืออย่างมีวุฒิภาวะเท่านั้น
- ชวนสำรวจโลกในฐานะสิ่งมหัศจรรย์ (wonder) ท้าทายให้สำรวจค้นหาคำตอบ กล้าลองผิดลองถูก
- ทักษะรู้ความคิดและอารมณ์ของตนเอง (self-awareness) ฝึกสอนให้เขามองเห็นการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบหุ่นยนต์ และฝึกนิ่งเพื่อสะกดการสนองตอบแบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์ตัวนี้ไว้ชั่วครู่เพื่อให้โอกาสสติได้เข้าไปกำกับการสนองตอบแทน
- อนัตตาภาคปฏิบัติ ชี้ให้เห็นโลกของความจริงคือ ‘ความรู้ตัว’ ของเราที่สังเกตเห็นสิ่งต่างๆได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด กับโลกสมมุติที่เป็นการเล่นละครชีวิตโดยอัตตาหรืออีโก้ของเราเป็นตัวละครเอก มีชื่อ มีภาษา และมีคอนเซปต์ชั่วดีเป็นบทให้เล่น สอนเด็กให้เล่นละครแบบ “อิน” พอประมาณ สอนให้สลับตัวตน (change identity) หรือแบ่งภาคระหว่างการเป็นดาราละครบนเวทีกับการเป็นผู้ชมที่นั่งดูตัวเองเล่น
ทั้งหมดนี้คือมุมมองของหมอสันต์เกี่ยวกับเจ็ดขั้นตอนของการสอนเด็กให้มีความสุขและไม่เป็นภาระแก่สังคมครับ
คอลัมน์: สุขภาพ
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์