ชามตราไก่อันอมตะ ของดีที่ไม่ใช่ขี้ไก่

-

ชามตราไก่อันอมตะ ของดีที่ไม่ใช่ขี้ไก่

เซรามิกไก่จีน มักเรียกกันว่า ‘ถ้วยไก่’ หรือ ‘ชามไก่’ ‘雞杯雞碗 ถือเป็นหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ของเครื่องลายครามจีน เซรามิกเหล่านี้มีการออกแบบด้วยลวดลายสลับซับซ้อน มักเป็นรูปไก่หรือไก่ตัวผู้ ควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ดอกไม้ ทิวทัศน์ หรือการประดิษฐ์ตัวอักษร 

เซรามิกไก่แรกมีขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368–1644) แผ่นดินจีนในช่วงเวลานั้น การผลิตเครื่องเคลือบมีความเจริญรุ่งเรือง และช่างฝีมือได้ทดลองรูปแบบและการตกแต่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลายไก่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ต่อมาในรัชศกจักรพรรดิซวนเต๋อ (ค.ศ. 1425–1435) ซึ่งโปรดงานศิลปะและงานฝีมือ จึงทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้ถ้วยไก่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ในสมัยราชวงศ์หมิง ราชสำนักได้ว่าจ้างช่างให้ปั้นถ้วยสำหรับดื่มชาหรือเหล้าไวน์ในพิธีการและงานเลี้ยงที่สำคัญ เซรามิกเหล่านี้จัดว่ามีคุณภาพชั้นเยี่ยม เพราะเป็นงานฝีมืออันงามอย่างประณีตละเอียดซับซ้อน

ในวัฒนธรรมจีน ไก่เกี่ยวข้องกับความเป็นมงคล ถือเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี ความเจริญรุ่งเรือง และความอุดมสมบูรณ์ เชื่อกันว่าลวดลายไก่บนเซรามิกจะนำโชคลาภมาสู่ผู้ครอบครอง ถ้วยไก่ของราชวงศ์หมิงมีชื่อเสียงในด้านกรรมวิธีการผลิตอันเป็นเลิศ โดยทั่วไปมีขนาดไม่ใหญ่นัก ผิวบาง และรูปทรงอันละเอียดอ่อน ตามเทคนิคการเคลือบที่ใช้กันในสมัยนี้ มีพื้นผิวเรียบเนียนและเป็นมันเงา

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ถ้วยตราไก่ของราชวงศ์หมิงกลายเป็นของหายาก และเป็นที่ต้องการอย่างสูงของนักสะสม เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งด้วยฝีมืออันประณีตทำให้เป็นสมบัติล้ำค่าในหมู่นักสะสมงานศิลปะและเครื่องลายครามจีน จึงได้รับความนิยมสืบมาจนถึงราชวงศ์ชิง (1644–1912) แม้ว่ารูปแบบและเทคนิคจะพัฒนาไปตามกาลเวลา แต่ลวดลายไก่ก็ยังคงเป็นลักษณะเฉพาะประจำเครื่องลายครามของจีน ถ้วยไก่ของราชวงศ์หมิงจึงถือเป็นตำนานในโลกศิลปะและโบราณวัตถุ มีราคาแพงมหาศาลในการประมูล เพราะได้รับการนำเสนออย่างโดดเด่นตามนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ได้ช่วยตอกย้ำสถานะสมบัติทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์อันน่าทึ่ง และให้ข้อมูลเชิงลึกอันแฝงอยู่ในผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งสะท้อนความละเมียดละไมด้านสุนทรียศาสตร์จากอารยธรรมจีนโบราณ

เซรามิกไก่จีนที่รู้จักกันในชื่อ ‘เซรามิกไก่’ หรือ ‘เซรามิกไก่ตัวผู้’ เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีเสน่ห์และโดดเด่นดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วเซรามิกเหล่านี้แสดงภาพไก่และลูกไก่อย่างมีสไตล์ โดยมักแต่งแต้มวาดด้วยสีสันสดใสและการออกแบอันประณีตละเอียดอ่อน ชามไก่แท้จากจีนสังเกตได้ง่ายที่ตัวไก่มีหลายสี เหลืองแก่ สีส้ม สีแดง และสีเขียว ตัวไก่ประดับรอบต้นกล้วยหนึ่งต้นและดอกโบตั๋น ทุกวันนี้ชามตราไก่จากจีนยังเป็นของสะสมที่มีราคาเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา

ชามตราไก่รุ่นแรกจากจีนนั้น ความสวยงามอยู่ตรงภาพวาดตัวไก่ที่จิตรกรแต่ละคนบรรจงวาดไว้ บ้างเป็นไก่หางยาว บ้างเป็นไก่หางสั้น ภาพไก่บนถ้วยแต่ละใบจึงมีลักษณะเฉพาะ สีสันอันงดงามของไก่แต่ละตัวก็ขึ้นอยู่กับฝีมือพู่กันจีนจุ่มสีของช่างผู้เขียนลวดลายนั้น สินค้าถ้วยตราไก่ของจีนถูกนำเข้ามาพร้อมชาวจีนอพยพภัยสงครามครั้งอดีต และกลายมาเป็นสินค้าที่นิยมในไทย เพราะความสวยแปลกตาและราคาพอเหมาะกับสังคมระดับกลาง ถ้วยสังกะสีและจานชามเคลือบของไทยในเวลานั้นเลยกลายเป็นสินค้าพื้นๆ 

พอถึง พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับจีน ตราไก่รุ่นลายครามก็หายไปจากตลาด กลายเป็นชามไก่ที่ผลิตในไทยขึ้นมาทดแทน เริ่มจากโรงงานที่สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และต่อมาย้ายไปตั้งโรงงานในจังหวัดลำปาง ด้วยว่าที่ลำปางมีดินขาวเหมาะกับการทำเครื่องถ้วยชาม จึงเป็นเหตุให้มีการผลิตสินค้าเครื่องปั้นดินเผาตราไก่ของไทยอย่างต่อเนื่องเพียงแห่งเดียวที่ลำปาง ลวดลายไก่นั้นเขียนขึ้นตามพรสวรรค์และตามอารมณ์ของช่างวาดภาพพื้นบ้านที่ฝึกกันเองในครอบครัว และยังคงผลิตแบบดั้งเดิมด้วยการเผาจากเตามังกร (เตาฟืนโบราณ) โดยมีตลาดหลักคือตลาดในประเทศ ประกอบกับชามตราไก่ของเมืองเหนือมีราคาไม่แพงนัก ถือเป็นเครื่องปั้นดินเผาเกรดลำปาง คือมีราคาค่อนข้างต่ำและคุณภาพด้อยกว่าถ้วยชามเซรามิกอื่น ถ้าเทียบกับมาตรฐานสากล

  ตามประวัติ ผู้ก่อตั้งโรงงานผลิต ‘ชามตราไก่’ หรือโรงงานธนบดีสกุล แห่งลำปาง เมื่อ พ.ศ.2498 คือ นายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน มีอยู่วันหนึ่งเขาบังเอิญพบคนขายหินลับมีดซึ่งทำจากแร่ดินขาว (Kaolin) จึงสอบถามจนรู้แหล่งที่มาว่ามาจากบ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นแหล่งดินขาวขนาดใหญ่ เขาจึงเดินทางไปสำรวจที่นั่นแล้วก่อตั้งโรงงานทำชามไก่แห่งแรกของจังหวัด โดยใช้วิธีการผลิตดั้งเดิมแบบจีน จนแพร่หลายในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังจากมีนโยบายห้ามนำเข้าสินค้าต่างประเทศ  จึงมีโอกาสส่งขายไปทั่วประเทศ สร้างรายได้และชื่อเสียงให้แก่จังหวัดลำปาง ปัจจุบันนี้ คุณพนาสินและคุณยุพิน ทายาทรุ่นที่สองของโรงงานธนบดีสกุลได้รับช่วงสานต่อประวัติศาสตร์ชามตราไก่ในลำปางให้รุ่งเรืองสืบไป


คอลัมน์: กินแกล้มเล่า เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!