โขกหมากรุก

-

กีฬาคือการแข่งขัน เมื่อมีการแข่งขันก็ต้องมีผลคือ แพ้ ชนะ หรือเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสามารถของแต่ละฝ่าย กีฬาบางประเภทวัดกันที่กำลัง บางประเภทต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญ บางประเภทต้องใช้ไหวพริบและสติปัญญา

หมากรุกเป็นการเล่นแข่งขันที่มีมาแต่โบราณ โดยปกติเป็นการเล่นชิงไหวชิงพริบ ประลองทักษะและสติปัญญากันตัวต่อตัว  ทั้งนี้อาจมีผู้ถือหางหรือผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายร่วมเป็นกำลังใจอยู่ด้วย กระดานหมากรุกทำด้วยแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมเป็นตาราง 64 ตา  ตัวหมากรุกแบ่งเป็นสองฝ่าย มักใช้สีขาวกับสีดำ สมมุติตัวหมากรุกเป็นกองทัพ ประกอบด้วย เบี้ย (พลทหาร)  เรือ  ม้า  โคน (นายกอง)  เม็ด (องครักษ์)  และขุน (แม่ทัพ)  ตัวหมากแต่ละตัวมีวิธีเดินแตกต่างกัน

คำว่า “รุก” หมายถึง การใช้หมากตัวใดตัวหนึ่งวางในตำแหน่งที่จะกินตัวขุน ซึ่งเจ้าของตัวขุนฝ่ายที่ถูกรุกต้องใช้สติปัญญาในการแก้ไขหาทางหลบเลี่ยงแก้กลหมาก  หากแก้ไม่ได้ก็ “เข้าตาจน” คือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในหมากกระดานนั้น  ส่วน “รุกฆาต” เป็นการวางหมากตัวใดตัวหนึ่งในตำแหน่งที่จะกินตัวขุนและตัวบริวารอื่นๆ ได้ ฝ่ายตรงข้ามต้องหลบขุน ยอมเสียตัวบริวารอื่นแทน  ทั้งนี้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกฝ่ายตรงข้ามกินตัวหมากบริวารจนเหลือขุนเพียงตัวเดียว  อีกฝ่ายหนึ่งต้องไล่ขุนจนกว่าจะจน  ฝ่ายหนีต้องพลิกแพลงหลีกไป หากครบ ๖๔ ครั้งเท่าจำนวนตารางบนกระดานก็ถือว่าเสมอกัน  ขณะที่กำลังเล่นอยู่หากฝ่ายใดเห็นว่าหมากฝ่ายตนเสียเปรียบ เล่นต่อไปก็ไม่มีทางชนะ อาจ “ล้มกระดาน” คือยกเลิกหมากกระดานนั้นแล้วตั้งใหม่

หมากรุกมีที่มาและแบบแผนจากการรบทัพจับศึก  เป็นกีฬาโบราณซึ่งน่าจะเป็นที่นิยมมานานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น  แรกเริ่มเดิมทีคงเป็นการเล่นแข่งขันของผู้ชายซึ่งต้องเป็นกำลังในกองทัพยามศึกสงคราม แต่ต่อมาก็เป็นที่นิยมแม้ในหมู่สตรีชั้นสูงซึ่งรวมถึงนางในราชสำนักด้วย

 

 

โคลงบทหนึ่งในโคลงกำสรวล ซึ่งนักวรรณคดีลงความเห็นว่า น่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในสมัยอยุธยาตอนต้น กล่าวถึงนางอันเป็นที่รักว่า

 

ปารนี้อรเช้าแม่             เกลาองค์  อยู่ฤๅ

ตั่งกระดานจตุรงคเมียง             ม่ายม้า

ฤๅวางสกาลง                       ทายบาศก์

ฤๅกล่าวคำหลวงอ้า                อ่อนแกล้งเกลาฉันท์ ฯ

 

โคลงบทที่คัดมานี้ กระผมปรับอักขรวิธีให้อ่านง่ายขึ้น และเนื่องจากเป็นโคลงโบราณ ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงวรรณคดีอาจไม่สันทัด จึงขออธิบายความแบบง่ายๆ คือ กวีท่านถามหญิงคนรักที่กวีจากมา ว่าป่านฉะนี้น้องผู้เป็นนางในราชสำนัก (อรเช้าแม่ = อรชาวแม่ = นางใน) กำลังตั้งกระดาน (เล่น) หมากรุก มองไป‌ที่ตัวม้า หรือว่าน้องกำลังทอดลูกเต๋าเล่นสกา หรือว่าน้องกำลังอ่านหนังสือคำหลวง หรือว่าน้องกำลังแต่ง‌คำประพันธ์  นั่นแสดงว่า สาวชาววังครั้งกระโน้นเล่นหมากรุกเป็น และกีฬาดังกล่าวก็คงเป็นที่นิยมในราชสำนักด้วย

สำหรับชายชาตรีสมัยโบราณ หมากรุกเป็นการฝึกทักษะการแก้ปัญหาและประชันสติปัญญา ชาวบ้านระดับผู้นำสังคมรวมทั้งพระสงฆ์องค์เจ้ามักนิยมเล่นหมากรุก  ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานนางพิม ศรีประจันผู้เป็นแม่ของนางพิมเตรียมการนิมนต์พระจากวัดแขวงเมืองสุพรรณฯ มาในพิธี ไปถึงวัดแค สมภารคงผู้เรืองอาคมกำลังมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการโขกหมากรุกอยู่หน้ากุฏิ

 

หมากรุกนั่งโขกกันตั้งแต่บ่ายโมงไปจนถึงรุ่งเช้าวันใหม่ รสชาติอย่างหนึ่งของหมากรุกคือ “โขก” เมื่อเดินตัวหมากที่มีขนาดเขื่อง เช่น ม้า หรือโคน ไปยังตาที่รุกไล่ฝ่ายตรงข้าม ต้องโขกหมากตัวนั้นลงบนกระดานอย่างแรงจึงจะได้อารมณ์

         เอาหมากพลูใส่พานมิทันช้า                        ร้องเรียกบ่าวข้าลงเรือใหญ่

         ถึงวัดแคขึ้นกุฎีรี่เข้าไป                              ศรีประจันนั่งไหว้แล้วว่าพลาง

         สมภารผินหลังนั่งเล่นหมากรุก                     สบสนุกจับโคนเข้าโยนผาง

         เข้ากลจะจนที่ตากลาง                              ศรีประจันเรียกค้างว่าเจ้าคุณ

         ดีฉันมาหมายว่าจะนิมนต์                           สมภารว่าไม่จนให้หลบขุน

         ศรีประจันว่าดีฉันจะทำบุญ                          สมภารว่าเรือจุนเข้ารุกจน

 

กีฬาหมากรุกน่าจะเป็นการแข่งขันภูมิปัญญาที่สร้างความหฤหรรษ์บันเทิงแก่ผู้เล่นไม่น้อย  กระผมเคยเห็นเซียนนอกจากการเล่นหมากรุกในลักษณะของหมากกระดานแล้ว คนแต่ก่อนท่านยังปรับเป็นรูปแบบของการแสดง “หมากรุกคน” คือ ตีตารางหมากรุกขนาดใหญ่  โรยเส้นปูนขาว ใช้คนแต่งตัวอย่างละครเป็นตัวหมาก ถืออาวุธ  ตัวม้าก็สวมหัวม้า ตัวโคนก็สวมหมวกกลีบลำดวนอย่างขุนพล ตัวขุนก็สวมชฎา เป็นต้น ตั้งกระดานหมากแข่งขันกันจริงที่ขอบสนาม ตัวหมากบนกระดานเดินอย่างไรก็ขานให้ตัวหมากรุกคนเดินตามตารางในสนาม  มีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ เช่นเมื่อเดินหมากตัวม้าก็บรรเลงเพลงม้าย่อง ตัวหมากรุกคนก็ต้องแสดงกิริยาอาการด้วยนาฏลีลาของม้า เมื่อตัวหมากกินอีกตัวหนึ่งก็แสดงกิริยาฟันด้วยอาวุธ ปี่พาทย์ทำเพลงโอด ตัวที่ถูกกินล้มลงแล้ววิ่งออกจากสนามไปรวมอยู่ขอบสนามใกล้กับที่ตั้งกระดานหมากรุก เป็นที่สนุกสนานบันเทิง แม้คนที่เล่นหมากรุกไม่เป็นก็พลอยสนุกไปด้วย

แต่บางกระแสก็ว่า โขกหมากการเมืองสนุกกว่าโขกหมากรุกเป็นไหนๆ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!