นักเขียนแต่ละคนมีวิธีเสาะหาวัตถุดิบหรือข้อมูลสำหรับการเขียนแตกต่างกัน บางคนใช้การสืบค้นเอกสาร ภาพยนตร์ หรือสารคดี ก็สามารถถ่ายทอดบรรยากาศออกมาเหมือนได้เห็นกับตา แต่นักเขียนบางคนแค่นั้นอาจไม่พอ ต้องลงไปสัมผัสด้วยตัวเองอย่างถึงลูกถึงคน เพื่อความลื่นไหลในการพรรณนาอย่างสมจริง ‘ชญาน์พิมพ์’ คือนักเขียนในกลุ่มหลัง กว่าจะเป็นนิยายแต่ละเรื่อง เธอลงแรงเสาะหาข้อมูล ไปยังสถานที่จริง ไปลงเรียนจริง ไปสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องจริง บทสนทนานี้จะพูดถึงประสบการณ์นับสิบปีของการเป็นนักเขียนอาชีพ และผลงาน ‘ครามรัก’ ที่เธอทุ่มเทและภาคภูมิใจในการบันทึกภาพชีวิตคนในแวดวงการเชิดสิงโต
ก้าวแรกแห่งการอ่านของคุณเริ่มได้อย่างไร
เริ่มที่ตู้หนังสือของยาย ยายเป็นคนรักการอ่านมาก ท่านชื่นชอบงานเขียนของคุณ ‘ทมยันตี’ และมีผลงานของท่านทุกนามปากกา รวมถึงผลงานของนักเขียนท่านอื่น เช่น ‘ว.วินิจฉัยกุล’ ‘พนมเทียน’ เป็นความอยากรู้อยากเห็นวัยเด็กว่าเรื่องราวในหนังสือเหล่านั้นเป็นอย่างไร เลยลองหยิบมาอ่าน จำได้ลางๆ ว่าเล่มแรกที่อ่านคือดาวเรือง ของ ‘ทมยันตี’ พอเริ่มแล้วก็หยุดอ่านไม่ได้อีกเลย เมื่อขึ้นชั้นมัธยม ไปเป็นเด็กหอที่โรงเรียนราชินีบน วันไหนไม่ต้องเรียนดนตรีไทย ครูจะให้เข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด โรงเรียนค่อนข้างสนับสนุนการอ่าน เช้าๆ ก่อนเริ่มเรียน มีกิจกรรมให้เด็กเลือกหนังสือที่ชอบมาอ่าน 5-10 นาที คงเป็นกุศโลบายให้เด็กรักการอ่าน เพราะพออ่านแล้วติด ก็ต้องอ่านต่อจนจบ เพื่อนๆ ทุกคนก็พากันอ่านหนังสือ
การอ่านนำไปสู่การเขียน
พออ่านเยอะเข้าก็อยากเขียน เราเขียนตั้งแต่ประถม เป็นแนวแฟนตาซีเด็กๆ เจ้าหญิงเจ้าชาย เขียนให้เพื่อนอ่าน แต่ตอนเข้ามหา’ลัย จนถึงเรียนปริญญาโทที่ฝรั่งเศสก็ห่างหาย เมื่อเรียนจบและทำงานเป็นนักข่าว จะมีช่วงที่เราอยู่ดึกเพื่อรอเรนเดอร์เทป รอเช็กเทป ตอนนั้นไม่มีอะไรทำเลยเปิดเว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์ อ่านไปอ่านมาก็ลองเขียนเล่นๆ ไม่คาดหวัง ปรากฏเรื่องแรก ข่าววุ้นลุ้นรัก มีสำนักพิมพ์ติดต่ออยากตีพิมพ์ เราก็เขียนมาเรื่อยเป็นงานอดิเรก จนออกจากงานประจำเพราะรู้ตัวแล้วว่านี่คือสิ่งที่อยากทำจริงๆ
แต่ช่วงแรกครอบครัวไม่สนับสนุนให้เป็นนักเขียนอาชีพ?
ใช่ค่ะ แม่ไม่สนับสนุนเลย เราอุตส่าห์ร่ำเรียนมาเยอะ ไปเรียนต่อถึงประเทศฝรั่งเศส พูดฝรั่งเศสได้ ภาษาอังกฤษก็คล่อง ทำไมไม่ทำงานสถานทูต หรืองานที่ไม่ต้องนั่งขลุกอยู่กับบ้าน แล้วบรรดาป้าข้างบ้านที่ชอบจุ้นจ้านจะคอยถามว่าทำไมไม่ออกไปทำงาน ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองจนแม่ยอมรับว่าเราเขียนหนังสือเลี้ยงชีพได้จริงๆ กลายเป็นแม่บอกว่าถ้าชอบก็ทำไปเลย แถมคอยทวงต้นฉบับแทน บก.ด้วยซ้ำ
นิยายของ ‘ชญาน์พิมพ์’ มีกระบวนการสร้างยังไง
เริ่มต้นจากจินตนาการบ้าๆ ก่อน เช่น แตงกวามีขาแล้วเดินได้จะเป็นยังไง สมมตินั่งๆ อยู่แล้วมีความคิดอะไรแวบขึ้นมาและรู้สึกว่าแปลก เราจะจดใส่สมุดบันทึกที่พกติดตัวไว้ พอคิดไปคิดมาแล้วเกิดความรู้สึกต้องไปดูให้เห็นกับตา ก็จะเดินทางไปหาข้อมูลเพิ่ม โชคดีมีสามีซัปพอร์ต เขาพร้อมจะบ้าด้วย ก่อนหน้านี้สามีได้ไปฝรั่งเศส ก็พาเราไปด้วย เราก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ อ่านหนังสือเกี่ยวกับของอาถรรพ์อียิปต์แล้วอยากเห็นของจริง เราก็ไปยืนนิ่งๆ หน้าตู้โชว์ จนเกิดภาพและเรื่องราวในจินตนาการขึ้น
สมัยเขียนงานแรกๆ ข้อมูลที่ใส่ยังไม่แน่น จนผลงานตราบดินสิ้นฟ้า สัญญารักนิรันดร์ เราเอาข้อมูลสมัยเรียนฝรั่งเศสมาใส่ ฉากต่างๆ จึงสมจริงขึ้น กลายเป็นแนวทางการเขียนที่ชอบ เลยมักเดินทางไปเก็บข้อมูล และสัมผัสด้วยตัวเอง เขียนเรื่องน้ำหอมก็ไปลงเรียนทำน้ำหอม ดูว่าเขาดมยังไง และเรียนถึงขั้นใช้กลิ่นสาปสัตว์เป็นเบส หรือตอนเขียนอัคนีโหตรี นางเอกทำแป้งพวง เราก็ไปเรียนทำแป้งพวง เคยเรียนรำกริชชวา เพราะต้องเขียนให้นางเอกรำ เคยไปถึงมองโกเลียเพื่อเขียนเกี่ยวกับชาแมน หรือแม้กระทั่งอยากเขียนฉากไล่ล่าในทะเลทราย ก็ขับรถเข้าไปในทะเลทราย ลองนอนในทะเลทรายหนึ่งคืน เพราะการสัมผัสด้วยตัวเองนั้น ต่างจากการดูผ่านคลิปวิดีโอ ภาพยนตร์ หรืออ่านหนังสือ มันมีแสงสีบรรยากาศ ถ้าไม่เห็นกับตาก็ไม่เข้าใจความรู้สึกนี้
ผลงานครามรัก ก็ไปสัมภาษณ์คณะเชิดสิงโตด้วยตัวเอง?
เผอิญไปเห็นการทำหัวสิงโตแล้วสนใจ เลยนั่งดูข้อมูลแล้วซื้ออุปกรณ์ทำหัวสิงโตมาลอง (หัวเราะ) วันหนึ่งเพื่อนที่อยู่อเมริกาส่งลิงก์ข้อมูลให้ดูว่ามีผู้หญิงเชิดสิงโตนะ เป็นเรื่องราวของคุณ ‘เกี๊ยว’ กัญญารัตน์ เกรียงไกรรัตน์ เจ้าของคณะมังกรหยก เธอเชิดสิงโตแล้วขึ้นไปยืนบนเสาหกเมตร ทำไมผู้หญิงคนนี้เท่จัง บอกทางสำนักพิมพ์เลยค่ะ ช่วยติดต่อให้หน่อย เราอยากสัมภาษณ์ อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเชิดสิงโต ตอนนั้นเขียนเรื่องอื่นอยู่ด้วยนะ แต่ทิ้งเลย พอคุณเกี๊ยวอนุญาตก็ไปนครปฐม ไปดูหัวสิงโตของจริง แต่ละหัวไม่ได้ทำง่ายๆ และราคาสูง ขั้นต่ำห้าหมื่น มีอาจารย์ดังๆ ที่ทำไม่กี่คน ต้องต่อคิวกัน
เราเตรียมคำถามว่ามีการทะเลาะกันระหว่างคณะแบบนิยายไหม ปรากฏว่าไม่มี อ้าวแล้วจะเป็นเนื้อเรื่องนิยายยังไงล่ะ เลยลองดูที่ประวัติคุณเกี๊ยวซึ่งน่าสนใจ เธอเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว เมื่อก่อนเป็นดีไซเนอร์ เปรี้ยวเท่ แต่สุดท้ายออกมาสืบทอดกิจการของพ่อ แล้วเธอสู้มาก นางเอกของชญาน์พิมพ์ไม่เคยมีแนวเท่ ตัดผม มีรอยสักเลย ลองเขียนดูสักตั้งแล้วกัน ยิ่งเขียนก็ยิ่งสนุก
ครามรักแตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆ ของ ‘ชญาน์พิมพ์’ ยังไง
ปกติแฟนชญาน์พิมพ์มักเห็นผลงานแนวเหนือธรรมชาติ (paranormal) หรือถ้าเป็นคนธรรมดาก็ยังมีอาชีพมาเฟีย มีความแฟนตาซีอยู่ แต่เรื่องนี้ต่างออกไป เป็นเรื่องเล่าของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริงๆ นางเอกไม่หวานตามขนบ กินเหล้า คอแข็งด้วย เพราะเวลาเชิดสิงโตเสร็จ คนดูจะใส่แบงก์พันในแก้วแล้วยื่นให้ดื่ม นางเอกก็ต้องดื่ม แม้เป็นเรื่องคนธรรมดาก็ใช่ว่าเขียนง่าย กลายเป็นว่าแนวเหนือธรรมชาติกลับง่ายกว่า เพราะต่อให้ข้อมูลที่ใช้เขียนเยอะขนาดไหน ก็เป็นเรื่องจินตนาการ แต่ครามรักเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่มีชีวิตจริง เราไม่สามารถเขียนให้เป็นคนเลวสุดๆ ทุกการกระทำต้องมีเหตุผลรองรับ ตัวละครจึงมีความเป็นมนุษย์มากกว่าเรื่องอื่น
นางเอกเป็นผู้หญิงเท่ แล้วพระเอกของเรื่องครามรักเป็นผู้ชายแบบไหน
พระเอกชื่อคราม เหมือนชื่อเรื่อง ล้อกับคำว่าความรัก ตั้งใจให้มีบุคลิกที่ซัปพอร์ตนางเอกได้ นางเอกโตมาในครอบครัวอบอุ่น แม้มีอุปสรรคคือพ่อที่เป็นเสาหลักเสียชีวิต แต่ยังมีคุณแม่ ในขณะที่พระเอกไม่มีใคร มีเพียงคุณปู่คนเดียว และเขายังตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ยิงกราดด้วย แต่เขาสามารถฝ่าฟันทุกอุปสรรค แล้วยังส่งต่อกำลังใจให้คนอื่นได้อีก ไม่ได้เก็บเอาความเป็นเหยื่อมาเป็นปมขมขื่นในชีวิต เราอยากให้คนอ่านเรื่องนี้มีกำลังใจสู้ชีวิต เพราะตัวละครในเรื่องต่างสู้ชีวิตกันหมด
สิ่งที่ประทับใจในการทำงานเรื่องครามรัก
ประทับใจตอนเก็บข้อมูล คุณเกี๊ยวรื้อหัวสิงโต รื้อชุด เปิดให้ดูว่าชุดนี้ติดเพชรติดพลอยเพื่อให้เล่นไฟ เอาความรู้ดีไซเนอร์มาประยุกต์ใช้ คุณเกี๊ยวพร้อมให้ข้อมูลมาก จนเราบอกคุณเกี๊ยวว่าต้องแต่งงานกันแล้วละ (หัวเราะ) สามีก็นั่งอยู่ด้วยนะ ความน่ารักของคุณเกี๊ยวทำให้เราอยากเขียนออกมาให้ดี ทั้งต่อวงการเชิดสิงโตและต่อคนอ่าน อยากให้เขาประทับใจเหมือนเรา
อยากให้แชร์เรื่องราวสุข-ทุกข์ ที่พบเจอมาบนถนนวรรณกรรมร่วม 10 ปี
ความสุขคือการเขียนหนังสือเสมือนการบำบัด ปัญหาชีวิตที่เจอค่อนข้างหนักหน่วง หากไม่ได้เขียนหนังสือคงเป็นบ้าไปแล้ว การเขียนหนังสือจึงเปรียบเหมือนโอเอซิสให้ได้หลบร้อน พักเหนื่อย เราได้จินตนาการถึงสิ่งที่ทำไม่ได้ในชีวิตจริง คนเลวได้รับกรรมตามที่ควร ส่วนด้านที่เป็นความทุกข์ สำหรับเราแทบไม่มี คงมีแค่ตอน บก.ทวงงานเท่านั้นแหละค่ะ ทว่าเรายังคงมีความรู้สึกกลัวทุกครั้งที่ออกผลงานใหม่ แม้ว่าจะออกมาหลายสิบเล่มแล้ว ยิ่งนักอ่านที่ตามกันมานาน เดี๋ยวนี้เขาแทบไม่อ่านออนไลน์กัน รออ่านรวมเล่ม เราเลยไม่รู้ฟีดแบ็กจนกว่าจะออกเป็นเล่ม ก็ยิ่งตื่นเต้น
มีความกดดันว่าต้องรักษามาตรฐานความสำเร็จให้ได้ไหม
ไม่นะ เราไม่กดดันเลยถ้าทำเต็มที่แล้ว หนังสือที่จบแล้วคือสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ จะทำได้ก็ต้องเล่มหน้า ทว่าถ้าเล่มนี้ทำไม่ดี เล่มหน้าใครจะให้โอกาส ฟีดแบ็กจึงเป็นสิ่งที่ต้องรับฟังบ้าง แน่นอนว่าเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล แต่อันไหนมีประโยชน์ก็ต้องเก็บไว้ปรับปรุง
มีแนวเรื่องที่อยากทดลองเขียนหรืออยากท้าทายตัวเองในอนาคตไหม
ที่ทุกเรื่องที่เขียนท้าทายหมด ไม่มีเรื่องไหนง่ายเลย ล่าสุดลงเรียนอักษรเฮียโรกลิฟิก (hieroglyphic) หรืออักษรอียิปต์โบราณ กับคุณณัฐพล เดชขจร แฟนพันธุ์แท้ไอยคุปต์ เพราะปลายปีนี้จะไปเก็บข้อมูลที่อียิปต์อีก เลยอยากอ่านได้บ้าง และอาจมีประโยชน์ในอนาคต
ชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษในบรรดาผลงานที่ผ่านมา
เรื่องที่เปรียบเสมือนลูกรักมีสองเรื่อง คือตราบดินสิ้นฟ้า สัญญารักนิรันดร์ เพราะเป็นเล่มที่ทำให้แน่ใจว่าอยากเป็นนักเขียนจริงๆ และเป็นเล่มที่ทำให้รู้ว่าเราชอบเขียนแนวหาข้อมูลและสอดแทรกไว้ในเรื่อง ส่วนอีกเรื่องคือโศลกรักใต้แสงดาว ชีวิตมีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้นคือคุณแม่ถูกยิง แล้วเราตัดสินใจกินมังสวิรัติตลอดชีวิต ได้เดินทางไปแสวงบุญที่อินเดีย เห็นบรรยากาศที่นั้นก็ช่วยดึงสติ สภาพแวดล้อมของเขาอาจไม่สุขสบายเท่าเรา แต่เขากลับมีความสุขในท่ามกลางข้อจำกัดนั้นได้ ในขณะที่เราสุขสบายกว่าแต่ทุกข์เต็มอก อีกทั้งโมเมนต์โรแมนติกแบบในเรื่องก็คงเขียนอีกไม่ได้แล้ว เลยเป็นเรื่องที่ชอบมากค่ะ
ขอคำแนะนำสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่กำลังเริ่มตั้งไข่ในวงการหน่อย
จะเป็นนักเขียนได้ต้องหนักแน่น ไม่ใช่แค่ทนคำวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น คำชื่นชมก็เช่นกัน อย่าเหลิง อย่าหลง ทุกอาชีพล้วนยากลำบาก และมีคนที่พร้อมจะเตะตัดขา พร้อมจะปาก้อนหินหวังให้เราล้ม เราต้องยืนให้มั่น ล้มแล้วต้องลุก อย่ามัวแต่นอนร้องไห้อยู่ เข้มแข็งเข้าไว้
กำลังใจในการสร้างผลงานของ ‘ชญาน์พิมพ์’ มาจากไหน
คุณแม่ค่ะ เมื่อก่อนคุณแม่ไม่สนับสนุนเลย จนวันหนึ่งแม่เห็นว่าเราทำได้ เขาเปลี่ยนเป็นให้กำลังใจเสมอ ทุกครั้งที่ท้อหรือเหนื่อย แค่ได้นอนหนุนตักแม่ก็มีพลังลุกขึ้นสู้กับทุกเรื่องแล้ว นี่แหละที่ทำให้เรายังเขียนหนังสืออยู่ได้จนทุกวันนี้
43 เล่มในดวงใจของ ‘ชญาน์พิมพ์’
- L’Amant
เขียนโดย Marguerit Duras
เป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่ครอบครัวสนับสนุนให้ขายตัวแก่เศรษฐีในอินโดจีน ประทับใจวิธีการเล่าเรื่องที่เปิดมาตัวเอกอายุมากแล้ว ริ้วรอยบนใบหน้าแทนเรื่องราวต่างๆ ที่เธอผ่านมา แล้วก็เล่าย้อนไปยังชีวิตในวัยสาว นิยายฝรั่งเศสมักไม่จบแฮปปี้ มักจบลงด้วยความตาย ความพลัดพราก เรื่องนี้ก็เช่นกัน ผู้ชายที่นางเอกมีสัมพันธ์สวาทด้วยนั้นอายุมากกว่าและมีครอบครัว ไม่มีทางได้อยู่ร่วมกัน แต่ประโยคที่พระเอกโทรศัพท์มาบอกนางเอกว่า ยังรัก และจะรักตลอดไปจนกระทั่งวันตาย เป็นความรักที่หวานปนขมซึ่งสวยงามน่าประทับใจ
- หิ่งห้อย
เขียนโดย ระพินทรนาถ ฐากูร แปลโดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา และ ระวี ภาวิไล
เป็นบทกลอนที่ประทับใจ กล่าวว่า “ความเพ้อฝันแห่งข้า คือ หิ่งห้อย จุดสว่างทรงชีวิต ระยิบในอนธการ” นึกถึงชีวิตนักเขียนของตัวเอง ที่ต้องเผาผลาญวิญญาณและจิตใจ เพื่อออกผลงาน
- มัสยา
เขียนโดย ‘พนมเทียน’
เป็นเรื่องเพ้อฝันสมัยสาวๆ ที่ยังเรียนอยู่ราชินีบน ชอบพระเอกของคุณ ‘พนมเทียน’ ซึ่งมักดิบเถื่อน แต่หวาน นางเอกก็แสนซนน่ารัก เป็นเล่มที่หยิบมาอ่านซ้ำอยู่เสมอ
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม