จันทรา รัศมีทอง: การเขียนคือการเยียวยาจิตวิญญาณที่ขาดวิ่น

-

การเริ่มต้นความฝันในวัยกว่า 40 ปี ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะทำได้สำเร็จ 

นักเขียนที่เราอยากแนะนำใน ถนนวรรณกรรม ครั้งนี้ คว้ารางวัลมาแล้วจากหลายเวทีประกวด และล่าสุดกับรางวัลหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2563 ประเภทวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งเป็นประเภทเดียวในปีนี้ที่มีผู้ชนะเลิศ รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  จากผลงาน ลูกไม้กลายพันธุ์  ชีวิตเบื้องหลังตัวอักษรของนักเขียนผู้นี้ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่านได้ไม่น้อย แม้การเริ่มต้นความฝันที่จะเป็นนักเขียนด้วยวัย 46 ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งไม่ง่ายเมื่อคุณมีวุฒิการศึกษาแค่ป.7 ทว่า จันทรา รัศมีทอง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีอะไรยากเกินความมานะพยายาม

 

เริ่มต้นเขียนหนังสือในวัย 46 ปี ได้อย่างไร

ขอเล่าย้อนหลังนะคะ ดิฉันเป็นคนเรียนหนังสือน้อยเพราะฐานะยากจน เรียนจบแค่ประถมเจ็ด พ่อก็ให้ออกมาทำงานเย็บผ้าเพื่อช่วยกันส่งเสียน้อง จึงเป็นปมด้อยมาตลอดว่าตัวเองไม่มีความรู้ แต่พื้นฐานเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ระหว่างทำงานเย็บผ้าก็หาหนังสืออ่านอยู่เสมอ เวลานั่งทานข้าว หรือพักเที่ยง มักจะอ่านหนังสือไปด้วย บางทีวานน้องๆ ยืมจากห้องสมุดมาให้ ดิฉันอ่านแบบคนไม่ได้เรียนหนังสือ คืออ่านอย่างกระหายเหมือนคนหิวข้าว เห็นอะไรก็อ่านหมดทุกอย่าง ส่วนการเขียนนั้น ส่วนตัวชอบเขียนบันทึก วิชาเรียงความคือวิชาที่ชอบมาก แล้วสมัยก่อนเวลาติดต่อกับเพื่อนยังเป็นการเขียนจดหมายโต้ตอบกัน เลยได้เรียนรู้สำนวนภาษา คำไหนไม่แน่ใจก็เปิดพจนานุกรม ดิฉันทำงานเย็บผ้าตลอด 32 ปี ส่งน้องเรียนหนังสือจบทุกคน พอพ่อเสียชีวิต เหลือแม่ที่เจ็บออดๆ แอดๆ น้องๆ อยากให้เราออกจากงานเพื่อดูแลแม่ เราไม่มีครอบครัวอยู่แล้ว และงานเย็บผ้าคงไปไม่ได้ไกลกว่านี้ จึงเห็นด้วยกับน้อง พอออกจากงานก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือเยอะขึ้น

หลังออกจากงานได้ 3 ปี ตอนนั้นอายุ 46 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดประกวดเรื่องสั้นในหัวข้อ “รู้เก็บรู้ใช้” ตรงกับชีวิตพอดี เพราะชีวิตค่อนข้างแร้นแค้นมาตลอด ต้องมัธยัสถ์อดออม ดิฉันเอาคำสอนพ่อมาเขียน เหมือนเขียนเรียงความมากกว่าเรื่องสั้น โชคดีได้รางวัลชมเชย นับเป็นงานชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ กำลังใจในการเขียนก็เริ่มมา เริ่มศึกษาวิธีการเขียนเรื่องสั้นมากขึ้น ลองส่งไปหนังสือพิมพ์ต่างๆ แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านเลย เริ่มสงสัยว่าที่เราได้รางวัลนั้นคงฟลุค จนผ่านมาอีกสามปีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดประกวดเรื่องสั้นอีกในหัวข้อ “หาได้ใช้เป็น” ดูเข้าทางเราอีกแล้ว ครั้งนี้ถ้าพลาดรางวัลคงเลิกแน่ ปรากฏว่าได้รางวัลรองชนะเลิศ จึงเก็บความคิดที่จะเลิกเขียน แล้วเขียนส่งต่อเนื่องมาเรื่อย

เคยส่งประกวดรางวัลทมยันตีอวอร์ด เป็นการเขียนนิยาย ได้รางวัลชมเชยมา และรางวัลแว่นแก้ว รางวัลที่ได้สูงสุดคือชนะเลิศ นอกจากนั้นยังส่งประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าด้วย เพราะตัวเองสนใจการเมืองมาตั้งแต่รุ่นๆ มีทั้งตกรอบบ้าง ได้รางวัลบ้าง สลับไปมา

ทำไมถึงเลือกเดินสายประกวดเป็นหลัก

ใจจริงไม่ได้อยากทำงานสายประกวดหรอก เนื่องจากส่งต้นฉบับไปให้หนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์พิจารณาทีไรไม่เคยผ่านเลย ลย แต่พอเป็นงานประกวด ดิฉันมองว่าสมมติมีกรรมการ 10 คน ต่อให้ไม่ผ่าน 4 คน แต่ 6 คนให้ผ่าน เรายังมีโอกาส แต่ถ้าส่งสำนักพิมพ์ บก.พิจารณาคนเดียว ไม่ผ่านคือไม่ผ่านเลย จริงไม่จริงไม่รู้นะ แต่ดิฉันคิดเองแบบนี้ จึงมองว่าการประกวดนั้นเพิ่มโอกาสให้ผลงานของเราได้ตีพิมพ์สู่สาธารณชนมากกว่า

เขียนผลงานหลากหลายแนว งานเขียนประเภทไหนที่สะท้อนตัวตนของคุณเองดีที่สุด

วรรณกรรมเยาวชนค่ะ พวกงานที่มีฉากหวือหวาหรือเลิฟซีนจะไม่ค่อยถนัดนัก แล้วดิฉันมีหลานเยอะ เราชอบไปเจ๊าะแจ๊ะกับเด็กด้วย อยากรู้ว่าเด็กเขาคิดอะไรกัน ทำไมเด็กสมัยนี้ฉลาดเกินวัยนัก ส่วนตัวชอบคุยกับเด็กที่โต้ตอบ เถียงกันได้เต็มที่เลยนะ

 

ระหว่างวรรณกรรมเยาวชนกับวรรณกรรมผู้ใหญ่ มีวิธีการถ่ายทอดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

วรรณกรรมเยาวชนคือการเขียนให้เด็กอ่าน ระหว่างเขียนต้องคิดถึงคนอ่านด้วยว่าเขาจะได้อะไรจากการอ่านบ้าง แต่ถ้าเป็นงานของผู้ใหญ่ บางทีเราไม่ต้องคิดเยอะขนาดนั้น เราอาจตีแผ่เรื่องราวอย่างสมจริงได้โดยไม่ต้องคิดว่าจะกระทบจิตใจ  ดิฉันเคยไปรับการอบรมจากคุณประภัสสร เสวิกุล อาจารย์กล่าวว่าการเขียนวรรณกรรมเยาวชนนั้น ถ้าจะเขียนให้ตัวละครตายต้องไตร่ตรองอย่างหนักเลยนะ เพราะนั่นคือการทำร้ายจิตใจเด็กอย่างรุนแรง การตายเหมือนกับการดับความฝันความหวังทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมผู้ใหญ่ การฆ่าตัวละครสักตัวเราไม่ต้องคิดถึงผลกระทบมากขนาดนั้น

คุณมองว่าวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กรุ่นใหม่นี้ควรเป็นแบบไหน เหมือนหรือต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง

ความเห็นของดิฉันนะคะ วรรณกรรมไม่ควรเอาแต่สอน แต่ไม่ใส่ไปเลยก็คงไม่ได้ ต้องเกลี่ยให้พอเหมาะพอควร อีกทั้งเด็กสมัยนี้กล้าคิดกล้าพูด เราน่าจะนำลักษณะของเด็กสมัยนี้ใส่ลงไปในหนังสือบ้าง ส่วนตัวดิฉันชอบเด็กที่ตั้งคำถามกลับ ไม่ใช่ได้แต่คล้อยตาม หรือคิดไม่ตรงกันก็เก็บไว้ในใจ ผู้ใหญ่เลยคิดไปเองว่าเด็กเห็นด้วย ดิฉันจึงชอบเด็กที่แสดงความเห็นออกมา เราจะได้รู้ แล้วเอาเหตุผลมาวิเคราะห์กัน ดังนั้นจึงอยากใส่ความกล้าคิดกล้าทำนี้ลงไปในงานเขียน แน่นอนว่าต้องผสมผสานให้ลงตัว ไม่ก้าวร้าวจนเกินเหตุ

ในฐานะนักเขียนวรรณกรรมเยาวชน มองเรื่องความเห็นต่างระหว่างวัย (generation gap) อย่างไรบ้าง

มันเป็นเรื่องจิตวิญญาณของยุคสมัยนะ ตอนดิฉันเป็นเด็กถ้าบอกพ่อแม่ว่าจะไปเดินขบวนหลบลูกกระสุนที่โปรยลงมา เขาจะชื่นชมไหม ไม่ มีแต่จะด่าเละ เหมือนกับเด็กในวันนี้ เขาไม่คิดถึงอันตรายหรอก เรารู้แค่เขาอยากทำ อยากแสดงออก จะทำยังไงให้เด็กและผู้ใหญ่มาเจอกันตรงกลางได้ ต่างคนต้องอ่อนเข้าหากัน โน้มเข้าหากัน ความดื้อมีอยู่ในทุกผู้ทุกคนอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือการปรับความคิดเข้าหากัน เพราะเรายังต้องอยู่ร่วมกัน

เล่าถึงที่มาของหนังสือ ลูกไม้กลายพันธุ์ หน่อยค่ะ

ต้นฉบับเรื่องนี้เดิมทีเขียนส่งรางวัลแว่นแก้ว แต่ไม่ผ่าน เราเสียดายจึงส่งให้สำนักพิมพ์บรรณกิจพิจารณา ปรากฏว่าเขาตีพิมพ์ให้ แรงบันดาลใจมาจากดิฉันมีโอกาสได้ติดตามเพื่อนซึ่งไปบรรยายที่โรงเรียนในจังหวัดจันทบุรี ตอนที่ไปเขาคิชฌกูฏ จำชื่อโรงเรียนไม่ได้แล้ว อาจารย์เล่าว่าย่านนี้เป็นที่อยู่ของชาวชอง ตอนได้ยินก็ เอ๊ะ ชาวอะไรนะ ทำไมเราเกิดมาจนป่านนี้กลับไม่เคยได้ยินคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชองเลย อาจารย์เห็นดิฉันสนใจจึงพาไปคุยกับชาวชอง มีคำหนึ่งที่สะดุดหูคือ คนชองไม่อยากบอกว่าตัวเองเป็นคนชอง เพราะหน้าตาไม่สวย บอกไปแล้วรู้สึกอาย ลูกหลานรุ่นใหม่จึงไม่นิยมบอกว่าตัวเองมีเชื้อสายชอง เราคิดในใจว่าไม่เห็นมีอะไรเสียหายเลย เป็นพลเมืองไทยอยู่ใต้กฎหมายเหมือนกัน จึงตั้งมั่นว่าฉันจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับชาวชองสักเรื่องหนึ่ง แต่เราไม่อยากเขียนสารคดี จึงเป็นวรรณกรรมเยาวชน แทรกไปกับข้อมูลอื่นๆ ที่ได้จากการไปจันทบุรีค่ะ

ที่มาของชื่อหนังสือ ลูกไม้กลายพันธุ์ เพราะจันทบุรีเป็นเมืองผลไม้ แล้วดิฉันชอบปลูกต้นไม้ ต้นไม้กลายพันธุ์นี่บางครั้งดีกว่าต้นดั้งเดิมอีกนะคะ อย่างต้นวาสนาที่กลายพันธุ์ ใบจะเป็นลาย สวยและมีราคากว่าพันธุ์ดั้งเดิม ดิฉันมองว่าโลกเราเจริญไปข้างหน้าไม่ได้หรอกถ้าลูกไม้จะยังหล่นแค่ใต้ต้น แล้วเติบโตเป็นแบบเดิมอยู่ตลอด ต้องมีวิวัฒนาการ แต่การกลายพันธุ์นั้นก็ต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย

 

สังเกตว่าคุณใช้วิธีการเขียนโดยเปรียบเทียบสิ่งของพื้นบ้านให้เห็นเป็นข้อคิดคำสอน เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้โดยเฉพาะหรือไม่

ส่วนตัวชอบอ่านสำนวนการเขียนที่มีการเปรียบเทียบอย่างนี้อยู่แล้ว ปกติเวลาเขียนเรื่องใด จึงมักยกสภาพแวดล้อมของเรื่องมาแทรกเป็นคำสอนเพื่อความกลมกลืน เช่น ไม้ไผ่นั้นไว้ทำแพก็ได้ เอามาเป็นอาวุธตีกันก็ได้ หรือใช้ทำไม้ปิ้งไก่ ทำได้หลายอย่างอยู่ที่เราจะเลือกใช้ หรืออย่างเรื่องรอยพระบาทที่เขาคิชฌกูฏ ชาวบ้านชื่อติ่งนั้นตั้งใจขึ้นเขาไปหาไม้กฤษณา ซึ่งเป็นไม้หายากราคาแพง เมื่อไม่พบย่อมต้องเสียใจ แต่การที่เขาพลาดสิ่งมีค่าสิ่งหนึ่ง กลับทำให้เขาได้พบอีกสิ่ง ซึ่งมีค่ามากกว่า นั่นคือรอยพระพุทธบาทบนเขา

แก่นของเรื่องพูดถึงการกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ทำไมเลือกถ่ายทอดสารนี้

เป็นความเชื่อของดิฉันด้วย ถ้าพ่อแม่ค้ายาเสพติด ก็ไม่ได้แปลว่าลูกต้องค้ายาเสพติดตาม และถ้าพ่อแม่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้แปลว่าลูกต้องเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของดิฉัน น้องชายที่โตมาด้วยกัน อดอยากมาด้วยกัน วิ่งเล่นด้วยกัน ใครจะเชื่อว่าโตมาเป็นหมอ เพื่อนบ้านบอกอย่างนี้นะเหรอจะเป็นหมอ ไม่มีทางหรอก แม้เขาสอบไม่ได้ในปีแรก แต่ในปีที่สองเขาก็สอบได้ และถึงจะสอบผ่านก็ยังไม่ได้เรียนง่ายๆ เพราะตำราแพทย์ราคาสูง แต่บ้านเราฐานะยากไร้ ดิฉันต้องไปเปียแชร์เพื่อเอาสตางค์มาซื้อตำราให้น้อง สมมติถ้าบ้านดิฉันมีฐานะ น้องชายคงเรียนหมอได้ง่ายกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางจะขรุขระบ้าง แต่สุดท้ายก็มีทางออก ดิฉันเชื่อว่าเราคือผู้ลิขิตชะตาชีวิตตัวเอง สภาพแวดล้อมอาจมีผลบ้างทั้งในแง่ช่วยหนุนหรือเป็นอุปสรรค แต่ไม่ได้แปลว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีใครได้อะไรจากการงอมืองอเท้า

ความยากในการทำงานเรื่องนี้คืออะไร

เรื่องการหาข้อมูล บางครั้งเราคิดว่ามีข้อมูลเพียงพอแล้ว แต่เขียนจริงกลับยังไม่พอ เช่น ตอนเขียนถึงเหตุการณ์วันไหว้ครู เราไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้ยังทำพานและขึ้นรูปด้วยดินอยู่ไหม เพราะหลานๆ ของดิฉันไม่ต้องทำพานเองแล้ว เรี่ยไรเงินแล้วไปจ้างร้านดอกไม้ทำ เราเลยต้องหาข้อมูลด้วยการโทร.ไปถามคุณครูที่จันทบุรีว่ายังทำกันอยู่รึเปล่า หรือตอนที่เขียนเกี่ยวกับโรคของทุเรียน เราอยากรู้ว่าทุเรียนมีโรคที่ยากจะสังเกตเห็นอยู่ไหม ก็โทร.ไปถามที่สวนทุเรียน เขาบอกมี เรียกว่าโรคทุเรียนหนอนใต้ ดิฉันค่อนข้างระวังเรื่องความถูกต้องของข้อมูล และการเกลี่ยให้พอดี ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นสารคดีเกินไป

คุณไม่มีบก.ช่วยดูแล แล้วตรวจแก้ต้นฉบับอย่างไร

ดิฉันใช้วิธีอ่านทวน อ่านเยอะมาก  นิยายยาวๆ อ่านทวน 20 กว่ารอบ เรื่องสั้นอ่าน 40-50 รอบ บางคนเขาวานเพื่อนอ่าน ดิฉันเกรงใจ เพื่อนก็มีธุระของเขา เลยเอาตัวเองเนี่ยแหละเป็นหลัก ไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน ไม่ซีเรียส ตกรอบมาเยอะแล้ว

ผลงานวรรณกรรมเยาวชนที่ดึงดูดเด็กๆ มักเป็นแนวแฟนตาซี หรือมีพลังพิเศษ ซึ่งต่างจากงานของคุณที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่าย คุณมองว่าเนื้อหาและการเล่าเรื่องที่ไม่หวือหวา จะยังดึงดูดเด็กๆ สมัยนี้ได้อยู่ไหม

ฟังจากเด็กๆ ที่เข้ามาคุย ก็ยังดึงดูดได้บ้างนะ ยังมีผู้ที่อ่านแนวนี้อยู่บ้าง แต่ผู้ที่ชอบแฟนตาซีเขาอาจไม่อ่านแนวของเรา แต่เท่าที่เห็นส่วนมากเป็นพ่อแม่อ่านก่อน ผู้ใหญ่อ่านก่อนแล้วค่อยไปบอกให้ลูกๆ อ่านตาม อย่างเรื่อง บ้านไม้ชายคลอง ผู้ใหญ่อ่านแล้วแนะนำลูกหลาน ดูสิชีวิตเขาแร้นแค้นขนาดนี้ สุดท้ายเขาก็ประสบความสำเร็จจนได้ เพราะถ้าไม่มีผู้ใหญ่แนะนำ เด็กๆ เห็นเนื้อเรื่องไม่มีฤทธิ์มีพลังคงไม่อยากอ่าน คงคิดว่าไม่สนุก

สำหรับผู้อ่านที่รู้จัก จันทรา รัศมีทอง อยู่แล้ว และผู้อ่านที่ยังไม่รู้จัก เขาจะได้เจออะไรในผลงาน ลูกไม้กลายพันธุ์ บ้าง

ดิฉันทำงานโดยยึดหลักให้ทั้งสาระและความบันเทิง สิ่งนี้ยังคงอยู่ในงาน ลูกไม้กลายพันธุ์ ส่วนที่ต่างไปคงเป็นข้อมูล เรื่องนี้แทรกเกร็ดกลุ่มชาติพันธุ์ชอง ผู้ที่อ่านแล้วอยากรู้เพิ่มเติมสามารถไปค้นคว้าต่อได้ นอกจากนั้น ยังพัฒนาในด้านการเล่าเรื่อง ผลงานเรื่องนี้อาจเล่าได้รื่นไหลกว่าเรื่องก่อนหน้า มีลูกเล่นทางภาษามากขึ้นตามประสบการณ์การเขียนที่เพิ่มพูน

 

รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดที่ได้รับนั้นมีผลต่อกำลังใจมากน้อยแค่ไหนบ้าง

เป็นรางวัลที่ไม่ได้คาดหวังเลย เพราะกติกาของเซเว่นบุ๊คคือต้องเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วจึงจะส่งประกวดได้ ไม่ได้รับเป็นต้นฉบับ แล้วการจะได้ออกหนังสือสักเล่มนั้นยากเย็นแสนเข็ญสำหรับดิฉันมาก จึงรู้สึกไม่มีหวัง แต่พอรู้ว่าได้รางวัลก็ดีใจมาก ถือเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิตแล้ว เพราะดิฉันคงไปไม่ถึงซีไรต์หรอก เพราะซีไรต์ประกวดแค่ 3 ประเภท คือนวนิยาย ซึ่งเป็นประเภทที่ตัวเองไม่เคยประสบความสำเร็จเลย กวีนิพนธ์ก็เขียนไม่เป็น ส่วนเรื่องสั้นก็ไม่เคยคิดจะรวมเล่ม เซเว่นบุ๊คอวอร์ดจึงเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิตสำหรับนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนอย่างดิฉันแล้ว และรางวัลนี้ได้ช่วยเปิดโอกาสให้หนังสือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดิฉันถามทางบก.ว่า ยอดขายดีขึ้นบ้างไหม เขาบอกว่าดีขึ้นเยอะเลย เราก็ดีใจที่เขาขายได้ เพราะเขาลงทุนกับเรา ถือเป็นโอกาสที่ทางเซเว่นบุ๊คมอบให้ ดีใจที่ได้โล่ด้วย เพราะเป็นคนบ้าโล่ สตางค์แจกลูกแจกหลานแป๊บเดียวหมดแล้ว แต่โล่ซึ่งเป็นตัวแทนความตั้งใจ ตัวแทนการทำงานของเรา ยังคงอยู่ให้เห็นตลอด เป็นความชื่นใจของคนแก่

การเขียนให้อะไรแก่คุณบ้าง

ดิฉันเป็นคนมีปมด้อยเรื่องที่ตัวเองไม่ได้เรียนหนังสือ พูดจริงๆ นะว่าบางครั้งเราก็อายเวลาอยู่ในวงสนทนาแล้วทุกคนล้วนจบบมหา’ลัย แต่ดิฉันไม่มี มีแค่โรงเรียนวัดเจ้ามูลแค่นั้น เราจึงรู้สึกเสมอว่าข้างในของเรานั้นเว้าแหว่ง ขาดวิ่น วันที่แม่ขอร้องให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยทำงาน เราไม่ยอมนะ ฉันสอบได้ที่หนึ่งที่สองกลับไม่ได้เรียน แต่คนสอบได้ที่สี่สิบยังได้เรียน ตอนเด็กเราไม่เข้าใจ ถ้าเราเป็นลูกชายคงได้เรียน แล้วการที่พ่อแม่มีลูกหลายๆ คนก็ไม่ใช่ความผิดของเรา ดิฉันเถียงแหลก แต่ไม่ได้ก้าวร้าว แค่ตั้งคำถามกลับ เรื่องนี้จึงเป็นความเจ็บช้ำใจอย่างมาก ถึงกับเกือบฆ่าตัวตาย โชคดีน้องชายตื่นมาเห็นทัน เราจึงคิดมาตลอดว่าถ้าวันหนึ่งได้มีโอกาสเป็นนักเขียน คงเป็นการกู้ความฝันของตัวเองได้ เยียวยาจิตวิญญาณที่ขาดวิ่นของเรา อาชีพช่างตัดเสื้อก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ไม่ใช่ความฝันของเรา ถ้าจะมีอะไรที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชีวิตนี้ คงเป็นการได้เป็นนักเขียนค่ะ

แม้ จันทรา รัศมีทอง จะไม่มีโอกาสได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจบการศึกษาเลยสักครั้งในชีวิต แต่ด้วยความสำเร็จด้านการเขียน ปัจจุบันเธอจึงเข้ารับรางวัลโล่พระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วถึง 4 ครั้ง


3 เล่มในดวงใจของ จันทรา รัศมีทอง

  • เหยื่ออธรรม เขียนโดย วิคตอร์ ฮูโก

เป็นหนังสือที่ได้ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์และภาพชีวิต ความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งกว่าประเทศไทย ชอบภาษาและการเปรียบเทียบของเรื่องนี้มาก

  • คำพิพากษา เขียนโดย ชาติ กอบจิตติ

ชอบเรื่องนี้เพราะช่วยเตือนตัวเองว่า อย่าได้ไปพิพากษาใครโดยมีข้อมูลไม่พอ เช่น ตอนตัวเองเป็นเด็กไม่เข้าใจการกระทำของแม่ คิดว่าแม่ลำเอียง แต่เมื่อโตและคิดทบทวนรอบด้านมากขึ้น จึงเข้าใจเหตุผลของแม่

  • ต้นส้มแสนรัก เขียนโดย โจเซ่ วาสคอนเซลอส

ตัวละครในเรื่องมีส่วนคล้ายกับตัวเอง เช่น ชอบสะสมของชิ้นเล็กชิ้นน้อย หนังสือทำให้เราร้องไห้และหัวเราะตามได้ เป็นความเก่งกาจของนักเขียน

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!