โธ่! ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด

-

โธ่! ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด

ฉบับนี้ขอเขียนถึงสำนวนซึ่งมีส่วนสำคัญในการบันทึกข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือเมื่อราวๆ ต้นปี 2565 ราคาเนื้อหมูขึ้นราคาก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วจนผู้ขายและผู้บริโภคตั้งตัวไม่ติด รับมือไม่ทัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สำนวนไทยทั้งเก่าและใหม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่สำนวน “ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด” และ “ทัวร์ลง”

ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด

ช้างได้ชื่อว่าเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในปัจจุบัน ส่วนใบบัวในที่นี้หมายถึงใบของบัวพันธุ์ธรรมดาๆ ที่พบเห็นกันโดยทั่วไป เช่น บัวหลวง บัวเผื่อน บัวสาย ฯลฯ ซึ่งส่วนมากใบบัวจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 ซม. ดังนั้นเมื่อช้างล้ม (ตาย) แล้วจะเอาใบบัว (ใบเดียว) มาปิดช้างให้มิดทั้งตัวเพื่อบังตามิให้ใครรู้เห็นนั้น ย่อมเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีผู้รู้เห็นจนได้

ตั้งแต่สมัยโบราณได้มีการนำ “ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบ ให้มีความหมายในด้านลบ คือพูดเย้ยหยันเหตุการณ์หรือผู้ปฏิบัติตนหรือผู้ทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมให้รู้กันทั่วหรือให้ได้อาย เพราะเป็นการจงใจจะปิดบังซ่อนเร้นหลักฐานหรือความจริงอันเป็นเรื่องไม่ดีงามเพื่อมิให้ผู้ใดหรือสังคมล่วงรู้ เนื่องจากจะทำให้เกิดผลเสียแก่บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานของรัฐปกปิดเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้หมูล้มตายเป็นเบือ เพราะเกิดจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ทำให้หมูมีจำนวนลดน้อยลงมาก จึงมีราคาแพง ผู้เลี้ยงและผู้บริโภคเดือดร้อน เมื่อประชาชนรู้ที่มาที่ไปของปัญหาดังกล่าวก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้เกี่ยวข้องและรัฐบาลกระหึ่มไปทั้งประเทศ ดังเช่นเช้าวันหนึ่งในวงกาแฟย่อยๆ ตอนหนึ่งลุงอู่พูดขึ้นด้วยอารมณ์ขุ่นมัวว่า “โธ่เอ๊ย! ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด มันจะปิดมิดหรือวะ เป็นไงล่ะ ตอนนี้หน้าม้านไปตามๆ กัน”

 

ทัวร์ลง

“ทัวร์” มาจากคำ “tour” ซึ่งแปลว่าทัศนาจร (ท่องเที่ยว) ปกติในแต่ละทัวร์จะมีตารางกำหนดการที่ผู้นำทัวร์จะต้องพาลูกทัวร์ไปแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ อันเป็นจุดหมายหลัก และจะมีการแวะพักซื้อของที่ระลึก หรือรับประทานอาหาร ถ้าสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านค้านั้นๆ ต้อนรับให้ดีเป็นที่ประทับใจก็จะมีทัวร์มาลงไม่ขาด

“ทัวร์ลง” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนในช่วงเวลาวิกฤติเรื่องราคาหมูแพงให้มีความหมายเปรียบถึงผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายในการถูกโจมตีอย่างหนัก เช่นเมื่อดาราหนุ่มยอดนิยมคนหนึ่งโพสต์ข้อความโฆษณาสินค้าของบริษัทผู้ผลิตอาหารชนิดหนึ่งว่า ถ้าหมูแพงก็เปลี่ยนไปกินเนื้อที่ทำจากพืชซึ่งมีคุณภาพเหมือนเนื้อสัตว์แทนได้ ปรากฏว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในสถานการณ์ที่สังคมกำลังคุกรุ่นไปด้วยความไม่พอใจของผู้คนทั่วไป นับว่าเป็นการไม่เหมาะแก่กาลเทศะ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบ ตอนหนึ่งพัทราพูดกับนงนุชเพื่อนรักขณะนั่งกินข้าวขาหมูช่วงพักกลางวันว่า “เป็นไงพระเอกของเธอ ทัวร์ลงจนตั้งตัวไม่ติด นี่แหละผลของการใช้โอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์อย่างผิดเวล่ำเวลา”

จะเห็นว่าสำนวน “ทัวร์ลง” ใช้ในความเปรียบคล้ายกับสำนวน “ตำบลกระสุนตก” แต่ถ้าพิจารณาจากถ้อยคำในสำนวน“ทัวร์ลง” จะมีน้ำเสียงที่รุนแรงน้อยกว่า


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย / เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!