“เป็นปลา ต้องดูให้ออกว่า
น้ำที่ว่ายอยู่ทุกวันนี้
เป็นน้ำดี หรือเน่าขัง
เป็นน้ำที่กำลังขึ้นมา
หรือว่ากำลังแห้งลงไปทุกวัน
เป็นกระแสน้ำที่หมุนเวียน
หรือน้ำที่กำลังเปลี่ยนทิศ
ยังเป็นน้ำที่ไว้ใจได้
หรือกำลังดูดใครๆ ลงไปใต้น้ำ
ปลาต้องสังเกตน้ำที่อาศัย
คนต้องเข้าใจ
ความเปลี่ยนไปของโลก”
นี่คือข้อความที่ผมคิดลงใน Instagram เมื่อเช้านี้
เพราะเห็นโลกกำลังหมุนเร็วจี๋ และสะบัดสิ่งที่ตามโลกใบนี้ไม่ทัน ให้หลุดลอยไปพ้นโลก
จากโทรศัพท์มีสายที่บ้าน ที่เมื่อก่อนนี้จะติดตั้งแต่ละที่ไม่ใช่ง่ายๆ
จนมากลายเป็น smartphone ทันสมัย ทำอะไรได้แทบทุกอย่าง
โทรเลขหายไป เพราะส่งไลน์ ส่งข้อความได้ไวกว่า
ส.ค.ส. แทบไม่มี เพราะถูกแทนที่ด้วย ส.ค.ส. ออนไลน์
บางอาชีพอยู่ไม่ได้ เพราะโดนเทคโนโลยีไล่ล่า
เมื่อสิบปีที่แล้ว จะถ่ายภาพมุมสูงแบบ bird eye view
ต้องเช่าเครื่องบิน จ้างนักบิน จ้างคนถ่ายขึ้นเครื่องบินถ่ายลงมา
มาถึงปีนี้ ติดกล้องเข้ากับโดรน จะถ่ายภาพสูงมาก ต่ำมากแค่ไหนก็ได้
จะเข้าไปในซอกเล็กๆ ที่เครื่องบินเข้าไม่ได้ แต่โดรนเข้าได้ ก็ไม่มีปัญหา
อย่าว่าแต่เครื่องบินให้เช่าตกงาน แม้แต่ช่างกล้องที่ขึ้นไปถ่ายก็ถูกโดรนแย่งงานทำ
บางอาชีพหนีการไล่ล่าของเทคโนโลยีไม่ทัน
ตื่นนอนมาวันพรุ่งนี้ อาจไม่มีงานทำได้ เพราะกลายเป็นเทคโนโลยีเข้ามาทำแทน
“หุ่นยนต์กำลังเข้ามาทำงานแทนคน
วิธีจะหลุดพ้น อย่าทำงานเหมือนหุ่นยนต์”
หุ่นยนต์ต้องใส่โปรแกรมก่อนว่าจะให้ทำอะไร หลังจากนั้นจะทำตามโปรแกรมที่ตั้งเอาไว้
ถ้าคนทำงานเหมือนหุ่นยนต์
ไม่สั่งไม่ทำ ทำเฉพาะในหน้าที่ แม้เห็นอยู่ตำตา แต่นอกหน้าที่ก็ไม่มีใจช่วยทำ
ทำเหมือนที่ผ่านๆ มา ไม่พัฒนาให้ดีกว่าเก่า
ไม่คิดให้ผลงานเราต้องดีกว่าเดิม
คิดและทำเช่นนี้ต่อไปไม่นาน จะเป็นอาหารของหุ่นยนต์
คนที่อยู่ในยุคนี้ ถ้าอยู่แบบสบายใจ ไม่ปรับตัว หรือคิดเปลี่ยนแปลงอะไร
ก็เหมือนกบที่ลอยคออยู่ในหม้อที่ข้างล่างเต็มไปด้วยไฟ
วันหนึ่งที่ไฟยังไม่ร้อน หม้อยังอุณหภูมิธรรมดา ก็ไม่มีปัญหา อยู่กันได้
แต่ไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงมันลุกโหมอยู่ตลอดเวลา จากน้ำธรรมดา ข้างล่างก็เริ่มอุ่นๆ จากอุ่นกลายเป็นร้อน
กบที่อยู่ในหม้อก็ยังไม่ร้อนใจ เพราะพยายามปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิใหม่
แต่ต่อไปไม่นาน น้ำก็เดือดขึ้นมา
กบตัวนั้นกว่าจะรู้ตัวก็สาย สุดท้ายกลายเป็นกบต้ม
คนต้องอยู่แบบรับรู้ ไม่นิ่งดูดาย ปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้เข้ายุคเข้าสมัย
เพราะโลกใบนี้กำลังหมุนเร็วจี๋ ถ้ายืนสบายใจอยู่กับที่
จะถูกโลกใบนี้ทับตาย
คอลัมน์: ก้าวไกลไปข้างหน้า
เรื่อง: จตุพล ชมภูนิช ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์