เมื่อผู้นำเปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยนตาม

-

                การเมืองกับเศรษฐกิจห่างกันแค่เส้นกั้นบางๆ

เวลาเรามองโลก เรามักมองโลกแบบแยกส่วนเป็นเรื่องๆ การเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย สิ่งแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริง ทุกเรื่องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหมด เมื่อเรื่องหนึ่งเปลี่ยน ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งอื่นเป็นลูกโซ่ ไม่เว้นแม้แต่การเมือง ที่เมื่อเปลี่ยนผู้นำ อะไรๆ ก็มักเปลี่ยนตาม

ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเมืองแข็งแรงมักมีพรรคการเมืองใหญ่อยู่แค่ 2 พรรค ไม่ว่าจะเป็นชื่ออะไร แต่สุดท้ายมักเป็นรสนิยมซ้ายและขวา เสรีนิยมและอนุรักษนิยม คะแนนความพึงพอใจมักสูสีกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ผลการเลือกตั้งย่อมบอกอารมณ์ของคนในประเทศได้ว่ากำลังตื่นเต้นหรือหวาดกลัว

พรรคอนุรักษ์นิยมมักมีลักษณะของการเชิดชูความเป็นชาติ เปิดกว้างเรื่องทุนนิยมแข่งขัน พรรคเหล่านี้มักได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงในเวลาที่บ้านเมืองดูไม่ปลอดภัย เกิดสงคราม วิกฤตการค้า ในขณะที่พรรคเสรีนิยมมักจะเติบโตในช่วงที่เสรีภาพเบ่งบาน การสนับสนุนจากภาครัฐ สวัสดิการประชาชน

เรามักมองโลกการเงินแยกออกจากการเมืองโดยเด็ดขาด บางคนที่เป็นนักการเงินการลงทุนไม่สนใจหรือไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองเลยด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกันจนแทบแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะนโยบายการเงินการคลังก็ล้วนมาจากรัฐบาลซึ่งก็มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งทางการเมืองนั่นเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดยิ่งคงเป็นการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการพูดถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น ย้อนไปในปี 2016 ซึ่งน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่น่าติดตามที่สุดครั้งหนึ่ง ปีนั้นเป็นการแข่งขันกันระหว่าง Hilary Clinton (Democratic : เสรีนิยม) และ Donald Trump (Republican: อนุรักษนิยม)

โดยปกติพรรคฝ่ายเสรีนิยมเน้นสวัสดิการจากภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน นโยบายที่คลินตันเสนอจึงเป็น (1) เพิ่มสวัสดิการพื้นฐานประชาชน (2) เพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคล (3) มาตรการควบคุมราคายา (4) สนับสนุนธุรกิจดิจิทัล และ (5) สนับสนุนพลังงานสะอาด

ในขณะที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมเน้นทุนนิยมแข่งขันและการสร้างความรู้สึกชาตินิยม นโยบายที่ทรัมป์เสนอจึงเป็น (1) ลดข้อบังคับการซื้อประกันสุขภาพ (2) ลดอัตราภาษีนิติบุคคล (3) สร้างกำแพงกั้นพรมแดนเพื่อลดจำนวนผู้อพยพ (4) ตั้งกำแพงการค้า และ (5) สนับสนุนพลังงานดั้งเดิม

                การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวปั่นป่วนตลาดทุนได้เป็นอย่างมาก สาเหตุหลักเพราะผลการเลือกตั้งค่อนข้างพลิกโผจากความเชื่อตลาดหุ้นไม่น้อย ถ้าดูจากการเคลื่อนไหวของตลาด ตลาดน่าจะคาดเดาว่าฝั่งเดโมเครติกจะชนะ เมื่อฝ่ายรีพับลิกันชนะ หนังก็เลยกลับด้านเป็นคนละม้วน

หุ้นกลุ่มที่ขึ้นก่อนเป็นอันดับแรกเลยคือหุ้นกลุ่มธุรกิจการแพทย์ที่เคยถูกกดดันจากมาตรการควบคุมราคายา ตามมาด้วยหุ้นพลังงานดั้งเดิม หุ้นอุปกรณ์ก่อสร้าง (ที่จะใช้สร้างกำแพง) ก็ขึ้นด้วย ในขณะที่หุ้นกลุ่มดิจิทัลและหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดก็ซบเซา

การเปลี่ยนผู้นำจึงส่งผลอย่างมากต่อสภาพตลาดเงินตลาดทุน นักลงทุนหรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปก็อาจสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (consumer confidence) ที่จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในภาคธุรกิจต่อไป

ถ้าคนมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดี คนจะกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย เงินจะหมุนเวียนในระบบ และเศรษฐกิจก็จะดี แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี คนจะไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย เงินจะหายไปจากระบบ และเศรษฐกิจก็จะไม่ดีจริงๆ

แค่ความเชื่อมั่นต่อในผู้นำก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจได้อย่างมากแล้ว ไม่ต้องรอให้เกิดนโยบายหรือผลกระทบอะไรที่ตามมา นักลงทุนรวมถึงประชาชนทุกคนจึงควรสนใจเรื่องพื้นฐานเหล่านี้เพื่อเตรียมตัวรับมือผลกระทบทางการเงินการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ในแง่ของนักลงทุน เราควรมองให้ออกว่าการเปลี่ยนแปลงผู้นำแต่ละคนส่งผลอย่างไรกับตลาดหุ้นบ้าง หุ้นแบบไหนได้ประโยชน์ หุ้นแบบไหนโดนผลกระทบ เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องหนักหนาแค่ไหน ยาวนานเพียงใด รับมืออย่างไร เป็นจังหวะที่ต้องลงทุนหรือหลีกเลี่ยง

ในแง่ของประชาชนทั่วไป เราควรมองให้ออกว่าผู้นำคนใหม่มีมุมมองอย่างไรต่อเศรษฐกิจ เน้นแก้ปัญหาแบบเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม มีความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหาปากท้องมากแค่ไหน นั่นหมายถึงการใช้หรือไม่ใช้เงินในกระเป๋า การวางแผนธุรกิจ หรือเก็บเงินเพื่ออนาคตในชีวิต

ทุกอย่างในโลกนั้นเชื่อมต่อกันหมด ผมเคยเจอนักลงทุนจำพวกที่มองว่าการเงินเป็นเรื่องสะอาด ในขณะที่การเมืองเป็นเรื่องสกปรก สนใจการเงิน แต่ไม่สนใจการเมือง จึงไม่เข้าใจภาพรวมอย่างรอบด้าน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว บทเรียนในประวัติศาสตร์ได้ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเราไม่สามารถแยกเรื่องนี้ออกจากกันได้

เลือกผู้นำครั้งหน้า เราคงต้องพิจารณาเรื่องการเงินการลงทุนในนโยบายที่ผู้สมัครเสนอแก่เราให้มากขึ้น ว่าดีไหม สมเหตุสมผลไหม และจะพาเราไปทางใดบ้าง สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการตัดสินใจ เพราะนโยบายเหล่านี้ย่อมหมายถึงภาพรวมของกระเป๋าเงินของประเทศที่เชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินของทุกคน

การเมืองการปกครองมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เราในฐานะของประชาชนคนหนึ่งคงต้องมองภาพเหล่านี้ให้ออกเพื่อรับมืออย่างถูกต้อง ถูกทาง และหาช่องทางที่จะบริหารการเงินในกระเป๋าของเราอย่างดีที่สุด

 

ความจริงอาจจะไม่มีเส้นแบ่งที่ว่าก็ได้ …ระหว่างการเมืองและการเงิน


คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน

เรื่อง: ลงทุนศาสตร์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!