ซีเซียม-137 วิกฤติสารกัมมันตรังสีสูญหาย

-

แตกตื่นกันไปทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อมีข่าวว่า “ท่อวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 caesium-137” ได้หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง และอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ซึ่งสัมผัสสารนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อ พ.ศ. 2543 ก็มีข่าวว่าคนเก็บของเก่าได้เอาส่วนหัวของเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่มีสารกัมมันตรังสี “โคบอลต์-60” ไปแกะแยกส่วน แล้วมีผู้ได้รับผลกระทบนับร้อยนับพันคน ป่วยหนัก 10 คน และในจำนวนนั้นเสียชีวิตถึง 3 ราย

วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่หายไปนั้นเป็นของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี บริษัทนี้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้า และได้ติดตั้งวัสดุดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 จำนวน 10 ท่อ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับปริมาณของขี้เถ้าในไซโลของโรงงานด้วยการใช้รังสี ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม เป็นเหล็กและตะกั่วหนาหลายชั้น ห่อหุ้มแคปซูลที่บรรจุสารซีเซียม-137 ไว้ด้านในสุด ทางบริษัทไม่ทราบว่าท่อนี้หายไปได้อย่างไร หรือหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และเป็นที่กังวลกันว่า หากผู้ที่เอาออกไปจากโรงงานนำวัสดุดังกล่าวไปขาย หรือนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี จะมีผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้ที่สัมผัสได้

สารซีเซียม-137 นั้น ก็คือธาตุซีเซียมซึ่งมีเลขไอโซโทป (isotope) แตกต่างจากซีเซียมที่พบในธรรมชาติ (คือ ซีเซียม-133) โดยเป็นผลผลิตอันเกิดจากปฏิกิริยาการแตกตัวทางนิวเคลียร์ของธาตุอื่นๆ มันจึงอยู่ในสภาพที่ไม่เสถียรและปลดปล่อยรังสีได้  คือซีเซียม-137 จะสลายตัวพร้อมกับปล่อยรังสีเบตา กลายเป็นสารแบเรียม-137m (barium-137m) แล้วสลายตัวต่อ ให้รังสีแกมมาออกมา รังสีที่ได้นี้มีประโยชน์ทั้งในการเอาไปฉายรังสีฆ่าเชื้อโรคกับอาหาร เอาไปใช้ในด้านรังสีรักษาสำหรับโรคมะเร็ง รวมถึงเอาไปใช้กับอุปกรณ์วัดความชื้น วัดอัตราการไหลของเหลว วัดความหนาวัสดุ หรือวัดค่าอื่นๆ ที่ใช้หลักการทำงานคล้ายกัน ดังเช่นที่มีการเอาไปติดบนปล่องของไซโลเก็บขี้เถ้าโรงงานไฟฟ้าดังกล่าว

แต่ขณะเดียวกัน รังสีที่ออกมานั้นก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดความผิดปกติจากการรับรังสีปริมาณสูงได้ทั้งกับผิวหนัง การสร้างเม็ดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทกลางของร่างกาย  ระดับของผลกระทบย่อมขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่โดนรังสี ระยะห่างจากตัวเราถึงแหล่งกำเนิดรังสี และเรามีการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสีบ้างหรือไม่ ดังนั้น ถ้าได้รับรังสีที่แผ่ออกมาจากสารซีเซียม-137 เพียงเล็กน้อยในระยะเวลาอันสั้น ก็น่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายชัดเจนในทันที แต่ถ้าท่อบรรจุนั้นแตกออก แล้วเราไปสัมผัสสารซีเซียม-137 หรือเสื้อผ้าบ้านเรือนมีการปนเปื้อนสาร ก็จะได้รังสีมากขึ้นและนานขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้

ในอดีต เคยมีรายงานถึงความผิดพลาดในการควบคุมดูแลสารซีเซียม-137 จนเกิดการรั่วไหลของสารและทำให้ผู้คนเจ็บป่วยมาแล้วหลายครั้ง ดังเช่น อุบัติเหตุที่ประเทศบราซิล ซึ่งมีการทิ้งสารกัมมันตรังสีจากอุปกรณ์ทำรังสีรักษาของคลินิกหนึ่งในเมืองโกยาเนีย (Goiania) แล้วคนเก็บขยะนำไปขายต่อให้แก่คนที่รับซื้อ มีการผ่าแกะออก และเอาผงสารด้านในไปเล่นกัน เนื่องจากคิดว่าเป็นของแปลก จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการได้รับรังสีหลายคน

นอกจากนี้ ยังเคยเกิดกรณีสารซีเซียม-137 ซึ่งบรรจุในวัสดุห่อหุ้มที่เป็นเหล็ก ได้ถูกเอาไปทิ้งปะปนกับพวกโลหะเก่า และถูกนำไปหลอมรีไซเคิล แล้วเกิดโลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี ตัวอย่างเช่น เมื่อ ค.ศ.1998 บริษัทเอเซอรินอกซ์ (Acerinox) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กของประเทศสเปน ได้ปฏิบัติงานพลาดจนสารซีเซียม-137 หลุดปนเข้าสู่กระบวนการหลอมแปรรูปเศษเหล็กในเตาเผาหนึ่งของโรงงาน และเกิดเมฆกัมมันตรังสี (radioactive cloud) พ่นออกจากปล่องไฟของโรงงานสู่ชั้นบรรยากาศ แผ่กระจายยังประเทศอื่นๆ อย่างเช่นฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ขี้เถ้าจากโรงงานดังกล่าวถูกตรวจพบว่ามีกัมมันตภาพรังสีในปริมาณมากพอที่จะเป็นอันตรายได้ โรงงานจึงถูกปิดเพื่อทำความสะอาด กำจัดการปนเปื้อน มูลค่าความเสียหายครั้งนั้นสูงถึง 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และหลังจากเป็นข่าวใหญ่อยู่หลายวัน สุดท้ายเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ก็ได้ร่วมกันติดตามค้นหาท่อวัสดุกัมมันตรังสีที่หายไป จนพบว่าน่าจะถูกนำไปหลอมแล้วที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในเขตอุตสาหกรรมย่านกบินทร์บุรี  เนื่องจากตรวจพบสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนอยู่ในฝุ่นผงโลหะอันเกิดจากการหลอมในโรงงาน แต่ยังโชคดีที่กระบวนการหลอมโลหะเป็นแบบปิด มีตัวกรองดักเก็บฝุ่นไว้ จึงไม่มีการพ่นออกสู่ชั้นบรรยากาศภายนอกโรงงาน คงพบการปนเปื้อนเล็กน้อยเพียงแค่ในเตาหลอม ระบบดูดฝุ่น และระบบกรองฝุ่น ส่วนฝุ่นผงซึ่งเก็บไว้ในถุงบิ๊กแบ็ก ปริมาณกว่า 24 ตัน ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติก็ได้เตรียมนำไปจัดเก็บไว้ให้ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลการตรวจสอบตัวอย่างของดิน น้ำ และอากาศนอกบริเวณโรงงานและพื้นที่ชุมชนโดยรอบ จะไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี และมีรังสีอยู่ในเกณฑ์ปกติของปริมาณรังสีตามธรรมชาติ รวมทั้งไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีตามเสื้อผ้าและร่างกายของคนในโรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว ตลอดจนผลการตรวจเม็ดเลือดขาวของคนงานก็ไม่พบความผิดปกติ จนน่าจะพอคลายกังวลกันได้แล้วว่าอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งนี้จะไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป แต่ก็ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และติดตามผลกระทบระยะยาวด้วย รวมทั้งการให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนเกี่ยวกับ “เครื่องหมายกัมมันตภาพรังสี” รูปใบพัด 3 ใบ ที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ หรือไปสัมผัสวัสดุใดๆ ที่มีเครื่องหมายนี้ จนเกิดเป็นเหตุรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เอาวัสดุกัมมันตรังสีไปขายโรงหลอมเหล็กอีก

ยังโชคดีว่า สถานการณ์ความหวาดกลัวสารซีเซียม-137 ไม่ได้บานปลายถึงขั้นชาวบ้านแอบสั่งซื้อยา  “ปรัสเซียนบลู (Prussian blue)” มากินกันเอง เพราะถึงยานี้จะสามารถต้านพิษและรักษาภาวะพิษจากสารซีเซียม-137 ได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงอันตราย ทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องร่วง และภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ต้องใช้รักษาตามแพทย์สั่งเท่านั้น รวมถึงยาเม็ด “ไอโอดีนเสถียร หรือ โพแทสเซียมไอโอโอด์” ซึ่งช่วยป้องกันสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 ไม่ให้สะสมที่ต่อมไทรอยด์ของเรา แต่ไม่ได้ใช้สำหรับสารซีเซียม-137 โดยเฉพาะ แต่อย่างไร ไม่ควรหาซื้อมากินเองเช่นกัน หรือที่หนักกว่านั้นก็คือคำแนะนำมั่วๆ ให้เอายาทาแผลสด เบทาดีน (Betadine) ที่มีส่วนผสมของไอโอดีน มาทาป้องกันสารกัมมันตรังสีเข้าสู่บริเวณคอ ซึ่งก็ไม่ได้ผลอะไรเช่นกันในการป้องกันตัวเราเองจากสารซีเซียม-137


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!