คำสามัญบางคำสื่อความหมายได้ลึกซึ้งจับใจเมื่อถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนในบริบทต่างๆ เช่น “เดียวกัน” ในสำนวน “กินข้าวหม้อเดียวกัน” “ทองแผ่นเดียวกัน” เป็นต้น
กินข้าวหม้อเดียวกัน
ในอดีตครอบครัวคนไทยส่วนมากเป็นครอบครัวใหญ่ มีผู้อยู่ร่วมชายคาเดียวกันหลายรุ่นหลายคน แม้จะแต่งงานแล้วบางคนก็ยังอยู่ร่วมบ้านเดียวกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ยังคงกินอาหารร่วมกัน ซึ่งอาหารมื้อหลักคือข้าวที่หุงด้วยหม้อดินหรือหม้ออะลูมิเนียม ด้วยลักษณะการกินอยู่ดังกล่าวทำให้คนในครอบครัวใกล้ชิดกัน จนบางครั้งมีเหตุกระทบกระทั่งมีปากมีเสียงกัน ผู้อาวุโสในบ้านก็จะพูดปรามให้สำนึกว่ากินข้าวหม้อเดียวกันแท้ๆ ไม่น่าจะทะเลาะวิวาทกัน
“เดียว” แปลว่าหนึ่งเท่านั้น “เดียวกัน” แปลว่ารวมกันเป็นหนึ่ง เมื่อนำ “กินข้าวหม้อเดียวกัน” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะมีความหมายกว้างขึ้น คือหมายถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกันจึงควรสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เช่นมีพนักงานบริษัทสองคนที่ระยะหลังต่างมักจะหาเหตุมารายงานผู้จัดการถึงข้อบกพร่องของอีกฝ่ายเสมอๆ ทำให้ผู้จัดการรู้สึกได้ถึงความไม่ใคร่ลงรอยกัน วันหนึ่งมีการประชุมพนักงานทุกคนในหน่วยงาน ก่อนเลิกประชุมผู้จัดการพูดส่งท้ายว่า “เราทำงานร่วมกันมานาน เปรียบเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน ทำให้บริษัทมั่นคงและเจริญรุดหน้า ขอให้พวกเราทุ่มเททำงานอย่างเต็มความสามารถด้วยความจริงใจต่อไป เพื่อบริษัทอันเป็นที่รักของเรา ขอบคุณครับ”
ทองแผ่นเดียวกัน
สำนวน “ทองแผ่นเดียวกัน” มีที่มาจากสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำ) ที่ใช้จารึกพระราชสาส์นหรือหนังสือสัญญาทางไมตรีระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยารัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ไทยได้ช้างเผือก 7 ช้างมาเสริมพระบารมีให้เลื่องลือขจรไกล ครั้นพระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดีได้ทรงสดับข่าว จึงส่งทูตนำพระราชสาส์นมาขอช้างเผือกสองช้างจากไทย เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีเป็นเมืองพี่เมืองน้องดุจดังทองแผ่นเดียวกันตลอดไป ดังในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีเนื้อความดังกล่าวในพระราชสาส์นว่า
…พระราชอนุชาท่านประสงค์จะขอช้างเผือกพลาย 2 ช้างมาไว้เป็นศรีในกรุงหงสาวดี ให้สมเด็จพระเชษฐาเราเห็นแก่ทางพระราชไมตรีอนุชาท่านเถิด กรุงหงสาวดีกับพระนครศรีอยุธยาจะได้เป็นราชสัมพันธมิตรสนิทเสน่หา เป็นมหาพสุธาทองแผ่นเดียวกันไปตราบเท่ากัลปาวสาน…
ในสมัยต่อๆ มาได้มีการใช้สำนวน “ทองแผ่นเดียวกัน” ในความหมายที่เปลี่ยนไป คือหมายถึงสองครอบครัวหรือสองตระกูลเกี่ยวดองนับญาติกันเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันด้วยการแต่งงานของลูกหลานในครอบครัว ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนที่กล่าวถึงท้าวกะหมังกุหนิงส่งทูตนำพระราชสาส์นไปเฝ้าท้าวดาหา ขอนางบุษบาพระธิดาให้แก่วิหยาสะกำพระโอรสของพระองค์ว่า
หวังเป็นเกือกทองรองบาทา พระผู้วงศ์เทวาอันปรากฏ
จะขอพระบุตรีมียศ ให้โอรสข้าน้อยดังจินดา
อันกรุงไกรไอศูรย์ทั้งสอง จะเป็นทองแผ่นเดียวในวันหน้า
ขอพำนักพักพึ่งพระเดชา ไปกว่าชีวันจะบรรลัย
ปัจจุบันนี้ สำนวน “ทองแผ่นเดียวกัน” ก็ยังคงใช้พูดกันอยู่ในเวลาที่มีการสู่ขอหญิงสาวในครอบครัวหนึ่งให้แต่งงานกับชายหนุ่มอีกครอบครัวหนึ่ง เช่น นายนิรันดร์ อธิบดีผู้ทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่ของฝ่ายชายพูดกับพ่อแม่ของหนุ่มสาว หลังจากการเจรจาสู่ขอสำเร็จลุล่วงไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรไมตรีว่า “ผมยินดีด้วยจริงๆ ที่ทั้งสองครอบครัวจะได้เป็นทองแผ่นเดียวกัน หวังว่าจะได้ฤกษ์อันเป็นมงคลสำหรับงานแต่งเร็วๆ นี้นะครับ”