โลกกำลังเปลี่ยนการจัดการโรคโควิด-19 จากการจัดการแบบโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ไปเป็นแบบโรคประจำถิ่น (endemic) คือเลิกล็อคดาวน์ ปล่อยให้มันมาและรอให้มันไปเป็นรอบๆของมันเอง ในแต่ละรอบก็ปล่อยให้คนได้ทยอยป่วยด้วยโรคนี้กัน ประเด็นหลักอยู่ที่การจัดดุลภาพระหว่างคนจะใช้โรงพยาบาลกับเตียงโรงพยาบาลที่มีอยู่ให้ได้ผลก็พอ
สำหรับเราซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญ เมื่อได้วัคซีนครบแล้ว ก็เป็นหลักประกันขั้นหนึ่งแล้วว่าเมื่อป่วยด้วยโควิด-19จะมีอัตราตายที่ต่ำลงมาก ดังนั้นจึงควรออกจากถ้ำมาใช้ชีวิตกับโควิด-19 ในฐานะโรคประจำถิ่นโรคใหม่ของเราได้แล้ว ด้วยการสรุปบทเรียนในช่วงสองปีที่ผ่านมาเพื่อเตรียมตัวอยู่กับโควิด-19 แบบลากยาวกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนว่า
(1) การปล่อยตัวเองให้เป็นโรคเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไม่เพียงพิการหรือตายเพราะโรคเรื้อรังอย่างเดียวนะ แต่ยังพิการหรือตายเพราะโรคอุบัติใหม่ด้วย ดังนั้นท่านที่เป็นโรคเรื้อรังอยู่ต้องหันมาจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคตัวเองอย่างจริงจัง คนอ้วนต้องลดความอ้วน
(2) การรักษาโควิด-19 ท้ายล้วนมาจบที่สิ่งต่างๆ ซึ่งเราควรจะมีควรจะได้จากการใช้ชีวิตที่ดี งานวิจัยคนไข้โควิด-19 อาการหนักพบว่าระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำอย่างน่าใจหาย งานวิจัยกับแพทย์พยาบาลด่านหน้าในหกประเทศพบว่าหากเทียบคนกินอาหารพืชเป็นหลักหรือมังสวิรัติกับคนที่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้น ความเสี่ยงป่วยเป็นโควิด-19 จะลดลงถึงร้อยละ 73 ในพวกกินพืชเป็นหลัก ดังนั้นถ้าเราขยันออกกำลังกายใช้ชีวิตกลางแจ้ง เราก็จะมีวิตามินดีเก็บไว้มาก หากเรากินอาหารพืชในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติให้หลากหลาย เราก็จะได้วิตามินแร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยต้านการอักเสบเก็บไว้ในตัว เราจึงมีภูมิต่อโควิด-19 ดังนั้นโควิด-19 ทำให้เราต้องทบทวนวิธีใช้ชีวิตวิธีเลือกกินอาหารของเรา
(3) โควิด-19 ทำให้เราเห็นคุณค่าของพืชรอบๆตัวเรามากขึ้น โควิดทำให้เกิดการวิจัยใช้ฟ้าทลายโจรรักษา แล้วก็พบว่าได้ผล มันฆ่าไวรัสได้ ลดการเกิดปอดบวมได้ โควิดทำให้เกิดการวิจัยเอาใบยาสูบมาทำวัคซีน ซึ่งสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้วและกำลังก้าวหน้าด้วยดี ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าของพืชพรรณที่หลากหลาย เห็นคุณค่าของการปลูกสร้างป่าแบบป่าธรรมชาติ ซึ่งเราเผลอทำลายไปมากแล้ว หากความหลากหลายของพรรณพืชลดลง ก็เท่ากับว่าเราฆ่าลูกหลานเราทางอ้อม เพราะเมื่อขาดพืชพรรณที่หลากหลาย พวกเขาจะเอาอะไรมาสู้ไวรัสตัวใหม่ๆ
(4) ช่วงโควิด-19 ผู้คนเป็นทุกข์กันมาก คนในครอบครัวป่วย ตัวเองตกงาน มีความกังวลถึงอนาคต ไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงิน จะอยู่ได้อย่างไร จะเอาอะไรมาซื้อความสุข คือส่วนใหญ่ความทุกข์เกิดจากความคิดวิตกจริตว่าจะไม่มีเงิน แต่สำหรับคนอีกจำนวนหนึ่ง โควิด-19 ทำให้พวกเขาค้นพบครั้งสำคัญในชีวิต มีอยู่รายหนึ่งเขียนมาเล่าให้ผมฟังว่าตกงานกลับบ้านต้องไปอยู่เถียงนากักกันโรคสองสัปดาห์ แล้วก็ค้นพบว่าการอยู่เฉยๆไม่ทำหรือไม่คิดอะไรนี่มันเป็นความสุขอย่างยิ่งแฮะ รากเหง้าของสังคมไทยแต่เดิมผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในลู่วิ่งสองแบบ ชุมชนในตลาดซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนจะใช้ชีวิตอยู่ใน “ลู่เงิน” คือทำธุรกิจหาเงิน ส่วนชุมชนในหมู่บ้านใช้ชีวิตอยู่ใน “ลู่ความสุข” คือใช้ชีวิตแบบนอนเขลงสบายไม่สนใจเรื่องเงินทองทรัพย์ศฤงคารใดๆทั้งนั้น เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กวิ่งเล่นในท้องนา จนเพิ่งไม่กี่สิบปีให้หลังมานี้เองที่มันมีเหตุให้คนไทยในชนบทเลิกวิ่งในลู่ความสุขแล้วหันมาวิ่งในลู่เงินแบบชาวตลาดเขาบ้าง แต่คนชนบทไม่สันทัดลู่เงิน วิ่งไปก็เหนื่อยมากและแพ้ซ้ำซาก โควิด-19 ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งได้เข้าใจรากที่แท้จริงของตัวเอง และจำนวนหนึ่งเกิดความคิดจะกลับไปวิ่งในลู่ความสุขที่บรรพบุรุษเคยวิ่งมาอย่างจริงจังอีกครั้ง ซึ่งผมเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์
(5) โควิด-19 ทำให้คนชั้นกลางในเมืองได้มองเห็นวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่เพิ่งรู้ว่าดีกว่า มีลูกของเพื่อนต้องถูกกักตัวจึงพาครอบครัวมาอยู่บ้านร้างของพ่อแม่ที่เขาใหญ่และทำงานแบบ work from home อยู่ไปสักพักเด็กๆไม่ยอมกลับกรุงเทพฯ เพราะสำหรับเด็กๆการได้ซุกซนในที่โล่งกลางแดดกลางฝนนั้นเป็นชีวิตที่มีความสุข การมีประสบการณ์อย่างนี้ทำให้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งเห็นคุณค่าของการทำธุรกิจแบบ work from home ซึ่งสอดคล้องอย่างลงตัวกับการสร้างครอบครัวแบบให้เด็กได้เติบโตกับธรรมชาติ
ทั้งหมดเป็นบทเรียนจากโควิด-19 ในโอกาสที่จะออกจากถ้ำ เพื่อมาอยู่กับโควิด-19 กันต่อไปแบบโรคประจำถิ่น
คอลัมน์: สุขภาพ
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์