ตำราทาสแมว

-

“ ๏ สิทธิการิยะ แมวต้องตำรา 17 ตัวนี้ดีนัก ถ้าบุทคลหญิงชายให้เร่งหาแมวเลี้ยงเถิด ถ้าหาได้ต้องตำราแล้วอย่าได้กลัวยากเข็ญใจเลย นานไปจะได้เป็นเศรษฐี แลจะได้เป็นเสนาบดีเป็นมั่นคง แล้วก็คุ้มโพยภัยอันตรายได้ทุกอัน ถ้าแลเป็นข้าเฝ้าก็จะได้พระราชทานรางวัลยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วให้เลี้ยงวิฬาร์ไว้เถิด แล้วให้กินอยู่ให้จงดี จึงแต่งจานเงินจานทองให้ตามสมควร ให้อาบน้ำละลายแป้งจวงจันทน์ทา จะให้จำเริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเป็นมั่นคง อย่าสนเท่ห์เลย” 

นั่นเป็นตำราโบราณอธิบายหน้าที่อันทาสแมวพึงกระทำ ดูแลประคบประหงม อาบน้ำ ประแป้ง ให้กินอาหารในจานเงินจานทอง กระผมนำภาพสมุดข่อย ‘ตำราแมว’ มายืนยันเป็นหลักฐานว่า ข้อความข้างต้นนั้นเป็น ‘ของแทร่’ 

ในบรรดาตำราโบราณเกี่ยวกับลักษณะสัตว์เลี้ยงบ้านเราที่พบมากที่สุดคือ ตำราช้าง ตำราม้า ซึ่งสัตว์ทั้ง 2 จำพวกเป็นยุทธพาหนะสำคัญในการปกบ้านป้องเมือง จึงจำเป็นต้องมีตำราสำหรับดูลักษณะเพื่อเลือกสรรไว้ใช้งาน โดยเฉพาะตำราช้างนั้นมีอยู่หลายสำนวนทั้งความเรียงและกวีนิพนธ์หลากหลายรูปแบบ ส่วนมากเป็นผลงานของนักปราชญ์ราชกวีทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ 

ที่น่าอัศจรรย์คือ ตำราดูลักษณะสัตว์ตามคติไทยโบราณเป็นลำดับ 2 รองจากตำราช้าง ได้แก่ตำราดูลักษณะแมว กระผมขอเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ตำราแมว’ ซึ่งมีอยู่หลายสำนวนทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์และกลอน บางสำนวนน่าจะมีอายุถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำราดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเลี้ยงแมว ใกล้ชิดแมว เป็นทาสแมวมาช้านาน 

ตำราแมวสำนวนต่างๆ เดิมบันทึกลงในสมุดไทย (สมุดข่อย) มักเก็บรักษาไว้ตามวัดวาอารามซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาสมัยโบราณ ตำราแมวที่มีการนำมาพิมพ์เผยแพร่เป็นฉบับแรก คือ โคลงตำราแมว  ฉบับวัดอนงคาราม พิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2511 โคลงตำราแมวสำนวนนี้ไม่ทราบนามผู้แต่งและสมัยที่แต่ง ต้นเรื่องบอกกำเนิดแมวว่า ฤๅษี 2 ตนเป็นผู้สร้าง คือ พระฤๅษีกไลยโกฏ สร้างแมวมงคล และพระฤๅษีตาไฟ สร้างแมวพาล 

๏ นักสิทธิวิทธิเวทพร้อม สององค์  ท่านนา
พระกไลยโกฏทรง พรตไท้
ชุมกายวิฬาร์พงษ์ มังคเลศ
นักสิทธิตาไฟให้ เกิดเชื้อแมวพาล

 

โคลงตำราแมวเท่าที่พบปัจจุบันมีต่างกัน 3 สำนวน แต่ที่รู้จักกันกว้างขวางคือ ฉบับที่วัดอนงคารามพิมพ์ ส่วนอีก 2 สำนวนยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ ต้นฉบับสมุดไทยอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร 

หน้าที่อันทาสแมวพึงกระทำที่กระผมนำมาเล่าสู่กันครานี้จากตำราแมวคำกลอน ต้นฉบับเป็นสมุดไทย พิจารณาจากรูปตัวอักษรและอักขรวิธีสันนิษฐานว่า น่าจะคัดลอกในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่พิจารณาจากกลอนที่ปรากฏในเรื่อง น่าจะมีอายุถึงสมัยอยุธยา กลอนตำราแมวยืนยันว่า “บุญแมวนั้นมีมาก” ต้องเลี้ยงอย่างดีแล้วจะนำโชคลาภมาสู่เจ้าของ 

๏ ทั้งมุ้งม่านฟูกหมอนที่นอนแมว จงปัดแผ้วให้หมดสะอาดใส
ทั้งข้าวปลาอาหารสิ่งใด จงจัดแจงให้กินจงสมควร
ด้วยว่าบุญแมวนั้นมีมาก เป็นของหายากเร่งสงวน
อย่าขึ้งโกรธพิโรธตะบึงบวน อย่าหันหวนตีโบยวิฬาร์
จงเร่งชำระสะสาง อาบล้างขัดสีให้หนักหนา
จวงจันทน์แป้งสดชะมดทา วันละสามเวลาทุกราตรี 

ตามตำราท่านว่า หากทาสแมวบำรุงบำเรอให้ท่านได้กินหรูอยู่สบาย ผลที่จะได้รับคือ “ประกอบยศปรากฏทุกวันมี  จะเปรมปรีดิ์ผาสุกสนุกไป” เท่านั้นยังมิหนำ หากพญาแมวมงคลนั้นล้มหายตายจาก ให้ฝังร่างไว้ 3 เดือน แล้วขุดกระดูกพญาแมวขึ้นมาบูชา เป็นทาสกระดูกพญาแมวต่อไปมิรู้จบ 

๏ ถ้าว่าวิฬาร์นั้นปลดปลง จงเร่งดำรงมาฝังไว้
ให้ถ้วนครบไตรมาสจึ่งคลาศไคล เร่งขุดขึ้นไว้ให้บูชา
ฯลฯ
ทั้งโภชนาอาหาร จัดแจงใส่จานให้ครบครัน
บวงสรวงเซ่นวักวิฬาร์นั้น เช้าเย็นทุกวันอย่าคลาศคลา
จึ่งจะเกิดลาภผลาหาร ทั้งสิงคารเพิ่มพูนเป็นหนักหนา
อย่าได้สงสัยในวิญญา เร่งรักษาให้เหมือนเมื่อแมวยัง 

ตำราแมวทุกสำนวนเน้นย้ำให้บรรดาทาสแมวพึงสังวรและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์ 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!