พร้อมรับมือ ‘กัญชาเสรี’ กันหรือยัง

-

                9 มิถุนายน 2565 คือวันที่ครบกำหนด 120 วัน ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการนำเอากัญชาออกจากรายชื่อของยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก เมล็ด รวมถึงส่วนช่อดอก กัญชาจึงกลายเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย (ยกเว้นสารสกัดกัญชาซึ่งมีสารทีเอชซี (THC) เกิน 0.2 % ที่ยังผิดกฎหมาย) ประชาชนสามารถปลูก และนำมาใช้บริโภค ซื้อขายกัน ใช้ในการรักษาโรคบางอย่างให้อาการทุเลา ตลอดจนใช้เสพได้ด้วย โดยไม่ถูกจับกุมเหมือนก่อน

แม้จะมีข้อห้ามอยู่บ้าง เช่น ห้ามขายกัญชากัญชงให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการควบคุมไม่ให้กัญชาเข้าถึงเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปใช้เชิงสันทนาการนั้น ทำได้ยากมาก เพราะสามารถหาได้ตามบ้านตนเองที่ปลูกไว้ ไม่ต้องไปซื้อหา จนเหมือนกับเข้าสู่ยุคกัญชาเสรีกันเลยทีเดียว

ช่อดอกของต้นกัญชาสายพันธุ์หนึ่ง เป็นส่วนที่มีสารออกฤทธิ์อย่างสาร THC ในปริมาณมาก

                น่าแปลกใจที่การปลดล็อกกัญชาให้ถูกกฎหมายนี้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดัน โดยอ้างว่ากัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์ เอามาทำเป็นยา หรือน้ำมันกัญชา ใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ลมชัก ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง ฯลฯ ทั้งที่ก็ทราบกันดีว่ากัญชามีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เกิดผลข้างเคียงได้ถ้าใช้ในปริมาณมากเกินไปหรือใช้ผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำไปสูบเสพและทำสารสกัดที่เข้มข้นเกิน ซึ่งก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพในภายหลัง

                ปัญหาใหญ่ของกัญชามาจากสาร THC (หรือ delta-9-tetrahydrocannabinol) ที่มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล หลอน หวาดกลัว ตื่นตระหนก ฯลฯ และยิ่งมีสาร THC อยู่ในสารสกัด สารเสพ หรือผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ทำจากกัญชามากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายและสมองได้มากเท่านั้น จนเกิดผลร้ายเรื้อรัง ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับสาร THC ได้ของร่างกายคนแต่ละคน

ในทางการแพทย์นั้น สารสกัดของกัญชาได้ถูกนำมาเป็นทางเลือก แทนการรักษาตามปรกติที่อาจไม่เหมาะจะใช้ยาแผนปัจจุบัน โดยอาศัยการออกฤทธิ์ของสารสำคัญกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) ที่พบในกัญชา อย่างสารซีบีดี (CBD) ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการอนุญาตให้ใช้ยาอีพิดิโอเล็กซ์ (Epidiolex) ซึ่งสกัดจากกัญชาให้มีสาร CBD มากกว่า 99% และมีสาร THC (ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) อยู่เพียง 0.1% เพื่อรักษาอาการชักอย่างรุนแรงในเด็กที่เป็นโรคลมชักให้ทุเลา ผลการศึกษาระบุว่ายานี้ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย

กัญชาส่งผลต่อร่างกายได้หลายส่วนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แต่การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคนั้น มีข้อควรระวังอยู่มากเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลข้างเคียง จึงควรจะต้องสั่งจ่ายและควบคุมการใช้ตามความจำเป็นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ มากกว่าที่จะซื้อหาสารสกัดหรือน้ำมันกัญชาไปใช้กันเอง รวมถึงการเสพเพื่อสันทนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเด็กและเยาวชน ซึ่งกัญชาอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมองและการเรียนหนังสือได้ เนื่องจากสมองในส่วนพรีฟรอนทัล คอร์เท็กซ์ (prefrontal cortex) ของคนเรายังไม่พัฒนาเต็มที่จนกว่าจะอายุ 20 ปีต้นๆ จึงเกิดความเสี่ยงที่เซลล์ประสาทของเด็กเยาวชนที่ใช้กัญชาเป็นประจำ อาจเสียหายอย่างถาวรได้

การเสพกัญชาอย่างหนักตั้งแต่อายุยังน้อย ยังมีผลต่อการลดระดับของไอคิว (IQ) อีกด้วย จากการศึกษาในเด็กและเยาวชนที่เสพกัญชากว่าหนึ่งพันคน ในช่วงอายุ 13-38 ปี พบว่ามีระดับไอคิวลดลงอย่างถาวร ถึง 8 จุด และยังสูญเสียความทรงจำและความเร็วในการประมวลผลของสมอง ส่วนด้านอารมณ์และความรู้สึกนั้น พบว่าเยาวชนที่สูบกัญชามักควบคุมตนเองไม่ค่อยได้ และนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย ยิ่งเริ่มใช้กัญชาเมื่ออายุยังน้อย ก็ยิ่งมีความสามารถในการควบคุมความประพฤติของตนน้อยด้วย ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่สมองส่วนพรีฟรอนทัล คอร์เท็กซ์  รวมถึงสมองส่วนอื่นๆ ไม่ได้พัฒนาตามปกติ และยังพบว่ามีเนื้อสมองที่เป็นสีเทา (gray matter) มากกว่าคนที่ไม่ได้เสพกัญชา

นอกจากเด็กและเยาวชนที่ไม่ควรใช้กัญชาแล้ว กลุ่มสตรีมีครรภ์และแม่ที่ให้นมบุตรก็ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับกัญชา เนื่องจากสาร THC ซึ่งอยู่ในควันจากการสูบกัญชา หรือในอาหารและเครื่องดื่ม สามารถผ่านทางรกและทางน้ำนมไปยังทารกได้ ข้อมูลในปัจจุบันยืนยันว่าการใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลเสียต่อทารก ทั้งน้ำหนักแรกคลอด การรับสารอาหาร พัฒนาการของร่างกายและสมอง และปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกจากนี้ ความเชื่อที่ว่าการใช้กัญชาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะลดอาการแพ้ท้องหรือ คลื่นไส้อาเจียนได้นั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ระบุว่าช่วยได้จริง จึงไม่แนะนำให้ทำตาม

บุหรี่แบบมวนสูบเอง ที่เอากัญชามามวนเป็นไส้แทนใบยาสูบ

ผลกระทบหนึ่งซึ่งหลายคนคาดไม่ถึงจากการใช้กัญชา คือการบั่นทอนสมรรถนะในการขับขี่ยานพาหนะ เนื่องจากกัญชาทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม ง่วงซึมได้  จนมีการตอบสนองในการขับขี่ที่ช้าลง เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเร็วของรถตนเอง รวมถึงระยะห่างกับรถข้างเคียง และยังลดระดับการทำงานประสานกันระหว่างแขนขามือเท้า ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้ มีรายงานว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2015 นั้น พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการขับขี่ยานพาหนะถึง 1 ใน 5 ของผู้ที่เสพกัญชาเข้าไป และมักเสพร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดตัวอื่น

สำหรับคนไทยเรา คงมีคนไม่น้อยที่นิยมเอาใบกัญชามาทำอาหารบริโภคหรือจำหน่ายกัน แม้ว่าจะได้รับสาร THC น้อยกว่าการสูบเสพ แต่ก็ควรระวังเรื่องการติดฉลากหรือเขียนระบุอย่างชัดเจนว่าอาหารนั้นมีส่วนผสมของกัญชา เพื่อไม่ให้บริโภคเยอะเกินไปในครั้งเดียว จนได้รับสาร THC รวมเป็นปริมาณมากและเกิดอาการต่อจิตประสาทได้

หวังว่าเราๆ ท่านๆ คงผ่านช่วง “เสรีกัญชา” นี้ไปได้อย่างปลอดภัย จนกว่าจะมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมมาควบคุมการใช้กัญชาในอนาคต


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!