คาเฟอีนกับอะดีโนซีน ทีฮูทีอิท
“…เวลาผมทำงาน พอหมดฤทธิ์กาแฟปุ๊บ ผมคอพับคาโต๊ะปั๊บ ต้องกระตุ้นด้วยกาแฟจึงจะทำงานได้ ควรแก้ไขอย่างไรครับ”
ตอบครับ
ก่อนจะเข้าเรื่องกาแฟ ต้องเข้าใจกลไกการกดให้ร่างกายนอนหลับซึ่งธรรมชาติสร้างมา ร่างกายมนุษย์นี้เป็นคล้ายๆ โซลาเซลล์ เมื่อแสงสว่างของกลางวันสิ้นไป ต่อมในสมองจะปล่อยฮอร์โมนชื่อเมลาโทนินออกมาเป็นการแจ้งให้ร่างกายทราบว่าได้เวลาเลิกกิจกรรมและเข้านอน เมลาโทนินเป็นแค่สวิตช์บอกเวลา ไม่มีอำนาจสะกดให้เซลล์หลับดอก ตัวที่มีอำนาจคืออะดีโนซีน (adenosine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สมองส่วนหนึ่งปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปจับกับตัวรับ (receptor) ที่สมองอีกส่วนหนึ่งเพื่อกดดันให้สมองหลับ (sleep pressure) ยิ่งเวลาผ่านไปปริมาณอะดีโนซีนยิ่งถูกปล่อยออกมามากขึ้นๆ และสะสมเพิ่มพูนอยู่ในกระแสเลือด ไม่หายไปไหน หลังจากกดดันกันนาน 12-16 ชั่วโมงร่างกายก็จะทนตื่นอีกต่อไปไม่ไหวเลยต้องม่อยกระรอก พอหลับลงได้ ร่างกายก็จะเคลียร์อะดีโนซีนทิ้งไปจากกระแสเลือด ตื่นขึ้นมาก็สดชื่นกันใหม่
คาเฟอีนจากกาแฟเป็นสารต่อต้านฤทธิ์ของอะดีโนซีนโดยไปแย่งจับตัวรับ ตัวเดียวกันที่สมอง แต่พอคาเฟอีนเข้าจับแล้วก็ทำได้แค่บล็อกไม่ให้ตัวรับทำงานชั่วคราว เหมือนเอานิ้วอุดหูไม่ให้ได้ยินเสียงไม่ว่าใครจะมาตะโกนสั่งอะไร อะดีโนซีนแม้ไม่อาจออกฤทธิ์แต่ก็ไม่ได้ไปไหน รออยู่ที่นั่นแหละ หากอัดกาแฟต่อเนื่องกันนานๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งกาแฟก็ถูกขับออกจากร่างกายจนเหลือไม่พอที่จะไปแย่งจับตัวรับ อะดีโนซีนซึ่งสั่งสมกำลังรออยู่แล้วก็สามารถเฮโลเข้าจับกับตัวรับได้และกดดันให้เกิดการนอนหลับทันที เราเรียกอาการนี้ว่าคาเฟอีนแคร็ช (caffeine crash) ซึ่งมีอาการคล้ายตุ๊กตาหุ่นยนต์ถ่านหมด วิธีเดียวที่จะทำให้อาการแคร็ชหาย คือหลับซะ เมื่อหลับแล้วสมองจะเคลียร์อะดีโนซีนทิ้งจากระบบไป จึงตื่นมาเริ่มต้นกันใหม่ได้
ดังนั้นเมื่อท่านดื่มกาแฟแก้ง่วง กาแฟไม่ได้ทำให้ความง่วงหายไป แค่ประวิงเวลาถ้าปริมาณกาแฟในเลือดยังมากอยู่ และจะรู้สึกง่วงทันทีที่กาแฟหมดฤทธิ์ ดังนั้นหากท่านหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยกาแฟ แสดงว่าท่านจัดเวลานอนหลับพักผ่อนไม่พอ ควรปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันเสียใหม่ และให้เวลามากพอสำหรับการนอนหลับ งานวิจัยชนเผ่าฮัดซ่าที่แทนซาเนียซึ่งอยู่ในป่าแอมะซอนและใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ปลอดอิทธิพลจากแสงและกิจกรรมพิเศษใดๆ ที่มนุษย์ในเมืองสร้างขึ้น พบว่าพวกเขานอนหลับกันวันละ 6 ชั่วโมงในฤดูร้อนและ 7.2 ชั่วโมงในฤดูหนาว แถมพวกเขายังงีบตอนกลางวันราวครึ่งชั่วโมงในฤดูร้อนด้วย ท่านก็ควรได้หลับประมาณนี้เป็นอย่างน้อย จึงจะทำงานได้โดยไม่ต้องเป็นทาสกาแฟทั้งวัน
คอลัมน์: สุขภาพ เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์