จากกากแคดเมียม สมุทรสาคร ย้อนกลับไปจังหวัดตาก

-

“ผงะ! เจอกากแคดเมียมกว่า 1.5 หมื่นตัน ซุกกลางเมืองสมุทรสาคร คาดขนมาจากจังหวัดตาก เร่งหาผู้รับผิดชอบ กลัวกลายเป็นสารก่อมะเร็ง” คือข่าวใหญ่ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ หลังจากมีการค้นพบถุงบิ๊กแบ็กนับพันถุงบรรจุกากแร่แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่มีอันตรายร้ายแรง อยู่ในโรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร

เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร ออกมาแถลงว่า มีผู้ร้องเรียนว่าบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตากได้ขนกากอุตสาหกรรม (หรือตะกรัน) อันเกิดจากการถลุงหลอมแร่สังกะสี และมีธาตุแคดเมียมปนเปื้อนถึง 38% ที่จริงก็เคยฝังอยู่ในบ่อฝังกลบอย่างถาวรและปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว แต่กลับขุดขึ้นมาขายให้แก่บริษัทหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร (บริษัทนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง) เป็นปริมาณมากถึง 15,000 ตัน โดยเริ่มขนย้ายมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 และใช้เวลากว่า 3 เดือนจึงจะขนส่งมาหมด

ถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมากซึ่งพบในโรงงานที่จังหวัดสมุทรปราการ

 ผลการเข้าตรวจสอบของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการนำกากแร่แคดเมียมจากจังหวัดตากมาเก็บไว้ที่โรงงานของบริษัทดังกล่าว ถุงบิ๊กแบ็กกว่า 1 พันถุงถูกเก็บไว้ในอาคารโรงงาน และกองอยู่นอกอาคารอีกนับร้อยถุง จึงสั่งการให้อายัดไว้ พร้อมกับประกาศเป็นเขตที่ห้ามบุคคลใดเข้าไปในอาคาร และให้อุตสาหกรรมจังหวัดออกคำสั่งขนย้ายกากแร่แคดเมียมทั้งหมด ส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก

ข่าวนี้ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้คนในพื้นที่ ไม่แพ้คราวที่เคยมีแท่งบรรจุสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ หายไปจากโรงงานไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี และสุดท้ายก็พบว่าถูกนำไปขายเป็นของเก่าให้แก่โรงงานรีไซเคิล และอาจถูกหลอมถลุงเป็นฝุ่นโลหะแล้ว  เนื่องจากแคดเมียม เป็นธาตุในกลุ่มโลหะหนัก ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ทั้งจากการหายใจเอาไอควันเข้าไป หรือจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสาร อาจสะสมในร่างกายจนมีปริมาณมากพอที่อาการจะกำเริบเป็นโรคร้ายแรง ชื่อว่า โรคอิไต-อิไต ที่ทำให้เจ็บปวดบริเวณข้อและกระดูกอย่างรุนแรง

   แคดเมียมมีสูตรทางเคมีคือ Cd (จาก cadmium) ลักษณะเป็นโลหะสีเงินขาวแวววาว ไม่มีกลิ่น เนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอ และใช้มีดตัดได้ง่าย มีคุณสมบัติทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น นำไปชุบหรือฉาบบนผิวของโลหะจำพวก เหล็ก เหล็กกล้า และทองแดง, นำไปผสมกับโลหะอื่นๆ ให้กลายเป็นอัลลอย (alloy) เพื่อเพิ่มความเหนียวและทนการสึกกร่อน, นำไปใช้ร่วมกับนิกเกิลทำเป็นขั้วไฟฟ้าของแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟใหม่ได้, ใช้ผสมในเม็ดสีอุตสาหกรรม

ลักษณะของแคดเมียมในรูปของแท่งโลหะมันเงา

แต่กว่าที่ผู้คนจะเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของแคดเมียม ซึ่งสามารถปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้นั้น ก็เมื่อมีการรับรองอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) เกี่ยวกับอาการป่วยลึกลับของชาวญี่ปุ่นแถบแม่น้ำจินสุ เขตจังหวัดโทยามะ อยู่ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า โรคอิไตอิไต ซึ่งมาจากภาษาญี่ปุ่นตามเสียงร้องอย่างเจ็บปวดโอดโอยของผู้ป่วย ที่เป็นชาวบ้านประมาณ 200 คน ได้รับแคดเมียมเข้าไปในร่างกาย จนเป็นโรคไต เกิดอาการกระดูกผุ เจ็บปวดบริเวณหลังและเอวอย่างรุนแรง และมีเด็กพิการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงผิดปกติ 

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคอิไตอิไตนั้น เนื่องจากที่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทำเหมืองแร่ต่างๆ เช่น ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ฯลฯ กันอย่างกว้างขวาง จึงมีแคดเมียมปนเปื้อนออกมาสู่แม่น้ำ ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ดื่มน้ำจากแม่น้ำ กินปลาที่จับจากแม่น้ำ แม้แต่กินข้าวที่เพาะปลูกโดยใช้น้ำจากแม่น้ำ เลยได้รับสารแคดเมียม ตลอดจนสารพิษอื่นๆ เช่น แมงกานีส นิกเกิล โครเมียม เข้าไปสะสมในร่างกาย เริ่มมีรายงานของผู้ที่มีอาการพิษจากแคดเมียมนี้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1912  จนมาได้รับการพิสูจน์และยืนยันโดยคณะแพทย์ในปี 1968 ผู้ป่วยโรคอิไตอิไตได้รับเงินชดเชยไปคนละ 10 ล้านเยนและค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด แต่ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างเจ็บปวดทรมานไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย

ในประเทศไทยเราก็เคยมีเหตุการณ์คล้ายกับที่ญี่ปุ่น กล่าวคือเมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 มีการเปิดเผยผลการเก็บข้อมูลการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในดินและพืชผลการเกษตรในบริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่าง พ.ศ. 2545-2546 พบว่ามีสารปนเปื้อนในพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว กระเทียม และถั่วเหลือง มากเกินกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่กว่า 6 พันคน ต้องเสี่ยงชีวิตจากพิษของแคดเมียมที่สะสมอยู่ในร่างกาย จนอาจทำให้เกิดภาวะไตวาย โรคเลือด โรคตับ และโรคอิไตอิไตได้

ลักษณะก้อนกากตะกรันที่ปนเปื้อนแคดเมียม

ส่วนสาเหตุของการปนเปื้อนสารแคดเมียมในพื้นที่ห้วยแม่ตาวนั้น มีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นผลมาจากการทำเหมืองสังกะสีขนาดใหญ่ 2 แห่งในบริเวณดังกล่าว แล้วเกิดความผิดพลาดในด้านการกรองตะกอนดินทราย ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำแม่ตาว ตลอดจนพวกกองหางแร่ที่ทิ้งเอาไว้ และอาจถูกชะล้างลงแม่น้ำได้เมื่อฝนตก จนถึงปัจจุบันนี้ ปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมในห้วยแม่ตาว จังหวัดตาย ก็ยังคงเป็นเรื่องคาราคาซัง ฟ้องร้องกันไม่จบ

ย้อนมายังกองกากแคดเมียมและสังกะสีซึ่งซุกอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร แม้จะมีการอ้างว่าเป็นกากแร่ที่ผสมด้วยปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ 30% เพื่อให้อยู่ในสถานะแข็งตัวและเสถียรแล้ว ไม่เป็นอันตรายเมื่อเข้าไปใกล้หรือเมื่อขนย้าย แต่ก็ยังมีคำถามค้างคาใจอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อมูลที่ระบุว่ามีการแจ้งขอนำออกจากจังหวัดตากมา 1.3 หมื่นตัน แต่เจอจริงๆ ที่สมุทรสาครเพียงกว่า 2 พันกว่าตัน (และต่อมาพบอีกที่จังหวัดชลบุรี 7 พันตัน) แล้วหายไปไหนอีกหลายพันตัน…

จริงหรือที่บอกว่า กากตะกรันปนเปื้อนแคดเมียมเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดเลยที่ถูกนำไปเผาหลอมถลุงในโรงงานหลอมโลหะดังกล่าว (แล้วจะเสียค่าขุดและค่าขนย้ายนับล้านบาทจากจังหวัดตากมาสมุทรสาครทำไม ถ้าไม่มีผลกำไรที่ดีกว่าการฝังกลบทิ้งไว้ตามปกติ)  


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!