แบตเตอรี่กระดุม (button battery) ดูกลมน่ารักเหมือนกระดุมหรือลูกกวาดสะท้อนแสง ปัจจุบันใช้กันอย่างกว้างขวางในเครื่องใช้อิงกระแสไฟฟ้า เช่น นาฬิกาข้อมือ เครื่องคิดเลขขนาดเล็ก กุญแจรถยนต์ รีโมตโทรทัศน์ ก้านถ่ายเซลฟี ฯลฯ แต่ในความสะดวกและเป็นประโยชน์นั้นมีอันตรายแอบแฝงสำหรับเด็กในวัย 0 ถึง 5 ขวบเป็นอย่างมากจนอาจทำให้ถึงชีวิตได้
แบตเตอรี่กระดุมมีชื่อเรียกอย่างอื่นคือ button cell หรือ watch battery หรือ coin battery เป็นแบตเตอรี่ขนาดเล็กที่มีหลายขนาด มีลักษณะเป็นโลหะกลมเหมือนกระดุม มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5 ถึง 25 มิลลิเมตร ฝาด้านบนเป็นขั้วลบ และด้านฐานซึ่งเป็นโลหะไม่เป็นสนิมเป็นขั้วบวก ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานโดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเมื่อมีการสัมผัสทั้งสองขั้วพร้อมกันด้วยตัวนำที่เป็นโลหะหรือของเหลว
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังกังวลใจเรื่องการกลืนแบตเตอรี่กระดุมโดยเด็กเล็กระดับก่อนประถมที่ไร้เดียงสา เด็กอาจหยิบมาจากหลังเฟอร์นิเจอร์ หรือจากพื้นห้องเนื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าตกลงมาและแบตเตอรี่หลุดออก เมื่อกลืนลงไปพ่อแม่ก็ไม่รู้จนกว่าลูกจะมีอาการเจ็บคอ ไอ กลืนน้ำลายไม่ได้ หรือมีอาการกำเริบแล้ว
เมื่อกลืนเข้าไปและติดอยู่ในหลอดอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง แบตเตอรี่ที่ปนอยู่กับของเหลวในร่างกายก็จะทำปฏิกิริยาเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าขึ้น และเป็นความร้อนจนทำร้ายเยื่อบุของหลอดลมและหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะและระบบการกลืนอาหาร ซ้ำร้ายยังทำร้ายเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่จนเป็นผลให้เลือดไหลออกมากและอาจถึงชีวิตได้ นอกจากนี้แบตเตอรี่กระดุมยังประกอบด้วย lithium, alkaline, silver oxide, zinc ซึ่งหลายตัวเป็นพิษแก่ร่างกายอีกด้วย
สำหรับเด็กอายุเกินกว่า 5 ปี หรือผู้ใหญ่ การกลืนแบตเตอรี่กระดุมในทำนองเดียวกันกลับไม่เป็นอันตราย เพราะลงท้ายมันจะเข้าไปอยู่ในระบบขับถ่ายคล้ายกับการนอนกินถั่วเมล็ดขนาดเล็กหรือเศษอาหารชิ้นเล็กของเด็กเล็ก ซึ่งต้องระวังเป็นอย่างมากเพราะอาจหลุดเข้าไปในหลอดลม แต่สำหรับเด็กโตกว่านั้นลักษณะสรีระของร่างกายจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในแบบเดียวกัน
ในสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีมีจำนวนเด็กที่กลืนแบตเตอรี่กระดุมจนเป็นปัญหารุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มขึ้น 9 เท่าตัว ในเนเธอร์แลนด์มี 15 รายที่เกิดกรณีกลืนและ 2 รายเสียชีวิตทุกปี ในออสเตรเลียจะมีกรณีของการกลืนเฉลี่ยหนึ่งรายต่อเดือน และตาย 3 ราย ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ในเมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษตั้งแต่ตุลาคม ปี 2014 มีเด็ก 5 ราย ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงและอีก 2 รายเสียชีวิตจากการกลืน และในเมืองโอกแลนด์ นิวซีแลนด์มีกรณีของเด็กกลืนแบตเตอรี่กระดุมเฉลี่ย 20 รายต่อปี สำหรับบ้านเรายังไม่มีสถิติในเรื่องนี้โดยเฉพาะแต่เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี การคิด “ล้อมคอกก่อนวัวหาย” จึงเป็นเรื่องที่พึงกระทำอย่างยิ่ง
ผู้ใหญ่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันน่ากลัวเหล่านี้ได้อย่างไร? (1) เก็บแบตเตอรี่กระดุมให้พ้นมือเด็ก เก็บไว้ในลิ้นชักที่อยู่สูงเกินกว่าเด็กจะเอื้อมถึงได้ (2) ทิ้งอันที่ไม่ใช้แล้วลงถังขยะโดยเอาเทปเหนียวมาประกบทั้งสองด้านเพื่อทำให้กลืนได้ยากยิ่งขึ้น (3) เช็กที่ใส่แบตเตอรี่ของอุปกรณ์ไฟฟ้าว่าปิดแน่น ถ้าไม่แน่ใจให้เอาเทปเหนียวปิดทับ (4) เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่กระดุมให้พ้นมือเด็ก และรู้ว่ามีอุปกรณ์ใดบ้างในบ้านที่ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กนี้ (5) ถ้าสงสัยว่าแบตเตอรี่กระดุมหายเพราะเด็กกลืนลงไปต้องรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว (ไม่ให้อยู่ในตัวเด็กเกินกว่า 2 ชั่วโมง)
นับวันเราจะใช้แบตเตอรี่กระดุมในอุปกรณ์หลากหลายชนิดและมักมีกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น ดังนั้นอันตรายจึงเพิ่มขึ้นด้วย หากไม่ระมัดระวัง ปล่อยปละละเลย หรือไม่เก็บไว้ให้พ้นจากมือเด็กเล็กแล้ว ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าหวั่นวิตก
คอลัมน์: สารบำรุงสมอง
เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ