ฉบับนี้จะพูดถึงสำนวนไทยที่เกี่ยวกับเบื้องสูง ได้แก่ เดือนดาว ท้องฟ้า ซึ่งยังนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ ถ่มน้ำลายรดฟ้า เป็นต้น
เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
ดอกไม้ที่จะเด็ดได้ถึงนั้นจะต้องเป็นไม้ดอกต้นเล็กๆ หรือต้นเตี้ยๆ เช่น ต้นกุหลาบ ต้นพุดตะแคง ต้นมะลิ เป็นต้น ไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือช่วย จึงเป็นงานที่ดูเผินๆ ไม่ยากที่จะทำได้สำเร็จ ไม่เหมือนไม้ดอกต้นใหญ่ๆ
เมื่อมีผู้นำดอกไม้ที่อยู่บนพื้นโลกมาพูดคู่กับเดือนดาวซึ่งอยู่สูงยิ่งบนท้องฟ้าแล้วใช้เป็นสำนวนเปรียบจึงมีความหมายว่า งานหรือกิจกรรมที่ดูเหมือนไม่สำคัญนั้นกลับส่งผลไปถึงหน่วยงานใหญ่อย่างมหาศาลชนิดเกินคาด เช่น เมื่อมีผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลเสนอแนวคิดเรื่องกัญชาเสรี ก็มีกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยและเริ่มดำเนินการขัดขวางโดยวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง มีการแสวงหาแนวร่วมจนเกิดกระแสต่อต้านที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องเล็กจึงจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อนันทภูมิคุยกับสมยศถึงเรื่องดังกล่าว ตอนหนึ่งนันทภูมิพูดขึ้นว่า “เรื่องนี้ถ้าจะจบลงที่กัญชาเสรีจริง รับรองว่าจะต้องเกิดเหตุรุนแรงแน่ๆ เผลอๆ จะกระทบไปถึงความมั่นคงของพรรคใหญ่หรือรัฐบาลที่พรรคนี้สังกัดอยู่ นี่แหละที่เขาว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนไปถึงดวงดาว”
ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ
โดยทั่วไปฝ่ามือมีความกว้างประมาณ 4 นิ้วยาวประมาณ 6 นิ้วฟุต แต่แผ่นฟ้าหรือท้องฟ้านั้นมีความกว้างใหญ่ไพศาลยิ่ง การจะใช้ฝ่ามือปิดท้องฟ้าไม่ให้เห็นฟ้าจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
สำนวน “ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ” ถูกนำมาใช้เปรียบกับการทำความชั่วหรือความผิดครั้งใหญ่หลวงแล้วคิดว่าไม่มีผู้รู้เห็นหรืออำนาจที่ตนมีอยู่จะคุ้มกันตนได้ เช่น ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานของบริษัทใหญ่ระดับชาติแห่งหนึ่ง มีกรรมการผู้หนึ่งเสนอโครงการที่ส่อถึงความไม่โปร่งใสหรือความไม่สุจริตใจ จึงมีการอภิปรายถึงโครงการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ในที่สุดเรื่องก็ได้ถูกระงับไว้ให้เป็นการประชุมสรุปผลในครั้งหน้าโดยประธานที่ประชุม หลังการประชุมก็มีการจับกลุ่มคุยกัน ประพันธ์ศักดิ์พูดขึ้นตอนหนึ่งกับกลุ่มของตนว่า “ผมว่าการจะปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือนั้นทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก ใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้น น่าอดสูชะมัด”
ถ่มน้ำลายรดฟ้า
คำ “ฟ้า” ในที่นี้หมายถึงที่สูง เช่น สถานภาพสูงของคนในสังคม ฯลฯ ปกติคนจะถ่มน้ำลายตกลงยังที่ต่ำกว่าตน ดังนั้นน้ำลายไม่มีทางจะลอยขึ้นข้างบน แต่ถ้าผู้ทำจงใจเงยหน้าถ่มน้ำลายขึ้นเบื้องสูง น้ำลายก็ย่อมจะตกลงที่ร่างหรือใบหน้าของผู้ถ่ม เป็นที่น่ารังเกียจน่าขยะแขยง
“ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ได้ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้มีความหมายว่า ถ้าผู้ใดรู้ตัวว่าตนอยู่ในสถานภาพใด ผู้นั้นก็ย่อมจะกำหนดบทบาทและพฤติกรรมของตนได้อย่างเหมาะสม เช่น วัลลภคุยกับสุทัศน์ตอนหนึ่งหลังเลิกประชุมถึงเรื่องที่มีกรรมการสตรีผู้หนึ่งแสดงกิริยาไม่สุภาพต่อประธานที่ประชุมในขณะที่กำลังประชุมอยู่ โดยลุกขึ้นจากที่นั่งของตนพร้อมกับลากเก้าอี้มานั่งติดกับประธาน ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมพากันประหลาดใจที่กล้าทำอย่างนั้นว่า “เจ้าหล่อนทำไปแล้วได้อะไร มีแต่ทำไปแล้วจะถูกหมิ่นแคลนว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง นี่ไงที่เขาเรียกว่าถ่มน้ำลายรดฟ้า ตัวฟ้าไม่แปดเปื้อนอะไร แต่น้ำลายตกลงมาเลอะตัวเองเละเทะ น่าสงสารนะ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์