มือปราบมหาอุตม์ เมื่อสังคมไทยโหยหาวีรบุรุษ

-

มือปราบมหาอุตม์ เป็นละครที่กำลังจะออนแอร์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เป็นละครที่มิได้ดัดแปลงจากนวนิยาย หากแต่เป็นการพล็อตเรื่องขึ้นใหม่ เพื่อสร้างเป็นละครโทรทัศน์โดยเฉพาะ ความน่าสนใจอยู่ที่ ละครแนวนี้มีการสร้างกันบ่อยมาก แทบจะทุกช่อง และแต่ละครั้งก็ได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวไทยเกือบทุกเรื่อง

ผู้เขียนเลยสงสัยใคร่รู้ว่าละครโทรทัศน์แนวนี้ถูกจริตคนไทยหรืออย่างไร หรือมีนัยอะไรบางอย่าง ‘ซ่อน’ อยู่ จึงเป็นละครที่ไม่ห่างหายไปจากจอโทรทัศน์ ไม่กี่ปีก็เวียนซ้ำมาอีก เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรื่องและรายละเอียดของเรื่อง เพื่อนำเสนอความแตกต่างและความเข้มข้นให้ต่างจากเรื่องอื่นๆ

ชื่อของละครเรื่องนี้แยกออกเป็นสองคำ คือ ‘มือปราบ’ และ ‘มหาอุตม์’ คำแรกน่าจะเกี่ยวข้องกับตำรวจหรือการปราบปรามเหล่าร้าย ส่วนคำหลังใช้กันในวงการไสยเวท และเป็นชื่ออุโบสถที่มีลักษณะเฉพาะคือมีเพียงประตูเดียว มักนิยมสร้างขึ้นเพื่อใช้ปลุกเสกวัตถุมงคล หรือทำพิธีกรรมต่างๆ เมื่อพิจารณาจากคำประสมดังกล่าว ก็จะเห็นแนวของเรื่องอย่างชัดเจน

แนวละครที่ถือเป็นแนวนิยมแนวหนึ่งของผู้ชมชาวไทยก็คือละครบู๊ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบู๊ท้องถิ่น เกี่ยวกับเหล่าเสือร้ายที่ออกปล้นชิงทรัพย์สินของชาวบ้าน ตำรวจจึงต้องแฝงตัวเข้าไปในหมู่บ้านและหาทางปราบเหล่าร้าย ทว่าทั้งเสือร้ายและตำรวจต่างก็มีคาถาอาคม การปราบปรามจึงมิใช่การต่อสู้ด้วยอาวุธและชั้นเชิงหมัดมวยเท่านั้น หากแต่ต่อสู้กันด้วยคาถาอาคมว่าใครจะขลังกว่ากัน

เมื่อพิจารณาถึงที่มา จะเห็นว่าไสยเวท คาถาอาคม และสิ่งลี้ลับต่างๆ ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธของทั้งเหล่าร้ายและฝ่ายดี เรื่องนี้เป็น ‘ราก’ ที่หยั่งลึกในสังคมไทยมาช้านาน  พุทธศาสน์กับไสยศาสตร์ในสังคมไทยมิอาจตัดขาดกันได้ หากแต่ผสมผสานกันเหมือนที่มีคนกล่าวไว้ว่า พุทธในไทยคือพุทธผสมลัทธิผี หรือความเชื่อของท้องถิ่น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพุทธศาสนาเถรวาทที่เมื่อเผยแผ่เข้าไปในสังคมใด ก็ มักจะผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม และอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ชาวพุทธในไทยจึงมิได้ปฏิเสธเครื่องรางของขลัง อาคม และไสยเวท พระภิกษุผู้ทรงอาคมก็ช่วยเป็นขวัญกำลังใจในการทำสงครามโดยปลุกเสกพระเครื่องของขลังต่างๆ เตรียมไว้ให้ชาวบ้านออกรบ แนวปฏิบัตินี้สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน เมื่อไทยต้องเผชิญกับสงครามคราใด ก็จะมีพระเกจิปลุกเสกเครื่องรางไว้ให้ทหารได้ใช้ป้องกันตัว 

นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ‘เรื่องเล่า’ ทั้งที่เป็นมุขปาฐะ และเรื่องเล่าที่มีหลักฐานเป็นเอกสารและวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังเช่น เรื่องเล่ามุขปาฐะ ซึ่งต่อมาได้รับการบันทึกไว้ในเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นหนังสือต่างๆ และต่อมาก็ได้รับการดัดแปลงไปเป็นสื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของขุนพันธรักษ์ราชเดช ซึ่งใช้คาถาอาคมต่อสู้กับเหล่าร้ายจนเป็นที่เลื่องลือ และต่อมาเมื่อออกจากชีวิตราชการแล้ว ก็ได้รับการยกย่องในฐานะมีอาคมแก่กล้า ได้รับเชิญให้ไปปลุกเสกเครื่องรางต่างๆ  รวมถึงเรื่องเล่าของเสือร้ายที่กลับใจมาบวชจนเป็นพระเกจิให้ผู้คนนับถือกราบไหว้ก็มีให้เห็นอยู่ แต่ละคนต่างก็มีเรื่องเล่า และจากเรื่องเล่าในอดีตก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเรื่องเล่าในสังคมสมัยใหม่ ในรูปแบบของสื่อบันเทิง

เรื่องเกี่ยวกับเสือปล้น ชุมโจร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว นอกจากนี้ยังมีขบวนการผีบุญซึ่งรวบรวมผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธา ดำเนินการถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อบ้านเมือง โดยใช้อาคมและอ้างว่าตนเป็นผู้มีบุญมาเกิดในโลก เพื่อขจัดทุกข์ภัยต่างๆ ก่อนเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ายุคพระศรีอาริย์

แม้ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัยในยุครัชกาลที่ 5 ก็ยังมีขบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น จนเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดชุมโจรขึ้นทั่วไปในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาง ชุมเสือเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่บ้านเมืองทุกข์ยาก และยังถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาเปรียบสารพัด เรื่องของเสือร้ายเหล่านี้ ได้รับการบันทึกไว้ในรูปแบบนวนิยายที่ผู้อ่านนิยมกันมาก นักประพันธ์ผู้เป็นต้นแบบของแนวเรื่องนี้ก็คือ “ป.อินทรปาลิต” เจ้าของผลงาน ชุดเสือใบ เสือดำ เสือมเหศวรอันลือลั่น

มือปราบมหาอุตม์ คือละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว ทั้งเหล่าร้ายและตำรวจต่างก็มีวิชาอาคม ซึ่งต้องมี ‘คุณธรรม’ กำกับ (เพื่อมารยาทของการวิจารณ์ ขออนุญาตไม่กล่าวถึงเนื้อหาของละครโทรทัศน์เรื่องนี้) ผู้มีคุณธรรมย่อมได้รับการคุ้มครองจากคาถาอาคมและเครื่องรางต่างๆ แต่หากไร้คุณธรรม เช่น ผิดคำสาบาน ผิดลูกผิดเมีย หรือทำอนันตริยกรรมใดๆ ก็จะถึงกาลพินาศ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนมีอยู่ย่อมไม่คุ้มครอง และนำมาซึ่งจุดจบในที่สุด  

คุณธรรมที่กำกับก็คือ ‘ศีล’ นั่นเอง และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมเมืองพุทธอย่างประเทศไทยจึงต้อนรับละครบู๊ล้างผลาญที่ยิงกัน ฆ่ากันแทบทุกตอน ความรุนแรงเหล่านี้มิได้เป็นของต้องห้าม เพราะทั้งผู้ผลิตและคนดูต่างก็รู้คำตอบในบั้นปลายว่า คนชั่วต้องได้รับผลกรรมที่ก่อไว้  เข้าข่ายหลักธรรมทางพุทธศาสนาคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  แม้ว่ากว่าจะถึงตอนสุดท้าย ตัวเอกต้องได้รับความกดดันสารพัด ก็แสดงถึงความอดทนซึ่งเป็นเรื่องของคนที่ไม่ระย่อต่อการทำดี

หากเป็นโจรก็เป็นโจรที่ปล้นคนรวยเพื่อเอาไปแจกคนจน บำบัดความอดอยากให้แก่ผู้ยากไร้ มักเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ มีความสัตย์ เป็นผู้นำ กล้าหาญ ยอมเสี่ยงตายเพื่อคนอื่น และที่สำคัญคือยึดมั่นในความรัก คุณสมบัติเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของ ‘วีรบุรุษ’ หรือ ‘พระเอก’ ในคติไทยๆ นั่นเอง

ตัวเอกที่มีคุณธรรมกำกับ ก็คือตัวละครในอุดมคติของผู้ชมชาวไทย ดังนั้น ละครโทรทัศน์แนวนี้จึงเป็นที่ต้องการของผู้ชม ตราบใดที่สังคมไทยยังต้องการวีรบุรุษมาปราบยุคเข็ญที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งมีเรื่องเครื่องรางของขลังเป็นสีสันให้สนุกตื่นเต้นอีกก็ยิ่งถูกจริตผู้ชมชาวไทย 

ในสังคมที่เป็นจริงย่อมหาวีรบุรุษได้ยาก จึงต้องเสาะหาในละคร เมื่อไม่มีวีรบุรุษในชีวิตจริง คนไทยก็พากันเสาะแสวงหาของดี เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย อุดมด้วยทรัพย์สินเงินทองและคนรัก ตลาดเครื่องรางยังขายดี กูรูสายมูก็พลิกแพลงให้ตัวเองเด่นดัง สร้างการตลาดแบบแปลกๆ มีสานุศิษย์ที่เป็นแฟนคลับล้นหลาม

หากเป็นเช่นนี้ ละครแนวมือปราบมหาอุตม์ก็จะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องไม่เสื่อมคลาย 


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ‘ลำเพา เพ่งวรรณ’

ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ช่อง 3

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!