โศกนาฏกรรมไฟไหม้รถบัส

-

 สังคมไทยต้องประสบเหตุการณ์เศร้าสลดใจครั้งใหญ่ เมื่อรถบัสทัศนศึกษาได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ผู้คนจึงตั้งคำถามและแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะของไทย 

โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานีได้นำนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยม ขึ้นรถบัส 3 คัน ไปทัศนศึกษาที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดนนทบุรี แต่ระหว่างเดินทางกลับ ขณะที่ผ่านบริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต รถบัสคันหนึ่งก็ได้เสียหลักไปชนกับรถคันอื่นและแท่งปูนแบริเออร์ของเกาะกลางถนน เกิดอุบัติภัยและไฟลุกไหม้อย่างรุนแรงเป็นเวลานานกว่า 40 นาที มีผู้เคราะห์ร้ายที่ไม่สามารถหนีลงจากรถได้ทัน เสียชีวิตถึง 23 ราย เป็นคุณครู 3 รายและเด็กนักเรียนถึง 20 ราย! 

ที่น่าตกใจก็คือ นอกจากความประมาทเลินเล่อของคนขับ ซึ่งแม้จะได้ยินเสียงดังผิดปรกติของรถ แต่ก็ไม่ได้จอดเพื่อตรวจสอบ แล้วยังพบว่ารถบัสคันดังกล่าวมีการดัดแปลงติดตั้งถังก๊าซเชื้อเพลิงเกินจำนวนที่ได้รับอนุญาต คือติดตั้งถังก๊าซชนิดซีเอ็นจี (CNG) มากถึง 11 ถัง ทั้งที่จดทะเบียนขออนุญาตไว้แค่ 6 ถัง แสดงว่าแอบติดเพิ่มอีก 5 ถัง 

หลายคนอาจไม่ทราบว่ารถบัสรถทัวร์ที่เห็นวิ่งกันอยู่นั้น จำนวนมากไม่ได้มีระบบเชื้อเพลิงเพียงแค่น้ำมันดีเซล แต่ยังพ่วงการติดตั้งระบบก๊าซเชื้อเพลิงด้วย โดยนิยมใช้ชนิดก๊าซธรรมชาติอัด หรือซีเอ็นจี (ย่อจาก compressed natural gas) หรืออีกชื่อทางการค้าสำหรับเรียกยานยนต์ที่ใช้ก๊าซเชื้อเพลิงชนิดนี้ว่า รถเอ็นจีวี (NGV ย่อจาก natural gas for vehicle) ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มรถขนส่ง รถบรรทุก และรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล ทั้งยังปลอดภัยมากกว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี (LPG ย่อจาก liquid petroleum gas) เพราะติดไฟยากกว่า และมีน้ำหนักเบากว่าอากาศ ถ้าเกิดการรั่วไหล ก็จะลอยขึ้นสูงและแพร่กระจายไปในอากาศได้อย่างรวดเร็ว 

อุบัติเหตุไฟไหม้กับรถทัวร์ทัศนศึกษา และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถบัสทัศนศึกษาคันนี้ คาดว่ามีสาเหตุจากเพลาขับของรถเกิดหัก รถเลยเสียดสีถูกับพื้นถนน จนเกิดประกายไฟขึ้น พร้อมกันนั้นก๊าซ CNG ก็บังเอิญรั่วไหลจากถังก๊าซ 1 ใน 5 ใบที่แอบติดตั้งเอาไว้ทางตอนหน้าของคนขับ (ถังที่ได้รับอนุญาตอีก 6 ใบนั้นติดตั้งอยู่ด้านหลังรถ) ก๊าซเลยติดไฟและไม่สามารถระบายก๊าซที่รั่วนั้นออกนอกรถได้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ปิดทึบ ไฟจึงลุกไหม้ และลามไปทั่วตัวรถอย่างรวดเร็ว 

อันที่จริง รถบัสรถทัวร์ที่วิ่งกันอยู่ ส่วนใหญ่ไม่ใช่รถที่ประกอบสำเร็จทั้งคัน แล้วนำเข้าจากโรงงานรถยี่ห้อต่างๆ แต่มักเป็นรถที่นำเอาโครงรถหรือแชสซี (chassis) ของซากรถเก่า มาดัดแปลงใส่เครื่องยนต์และตัวถังห้องโดยสารใหม่โดยอู่ประกอบรถในประเทศไทยเราเอง ดังเช่นรถบัสคันที่เกิดไฟไหม้นี้ ใช้แชสซีที่มีอายุกว่า 50 ปีแล้ว เอามาดัดแปลง เปลี่ยนเครื่องยนต์ และห้องโดยสารใหม่ รวมถึงแอบติดตั้งถังเชื้อเพลิงซีเอ็นจีเพิ่ม จนเกินจำนวนที่ได้รับอนุญาต 

ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นคือ ร่างของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ไปกระจุกกันอยู่ทางท้ายรถ ใกล้ประตูฉุกเฉิน แต่ประตูฝืดและถูกปิดไว้ จึงหนีไม่ได้ และเมื่อทดสอบสภาพรถบัสคันอื่นๆ ก็พบว่าเปิดยากมาก ต่อให้ใช้เท้าถีบแล้ว 

ประตูฉุกเฉินเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ กรมการขนส่งทางบกระบุว่ารถโดยสารมาตรฐานต้องมีประตูฉุกเฉินอย่างน้อย 1 ประตู อยู่ที่ด้านขวาของห้องโดยสารตรงกลางตัวรถ หรือค่อนไปทางท้ายรถ และต้องเปิดออกได้ทั้งจากภายในรถและภายนอกรถ โดยไม่ต้องใช้กุญแจหรือเครื่องมือใดๆ ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทางออก และมีคำอธิบายหรือสัญลักษณ์แสดงวิธีเปิดให้เห็นอย่างชัดเจน  

ค้อนทุบกระจกหน้าต่าง เครื่องช่วยในการหนีออกจากรถยามฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ตามมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสาร ต้องมีค้อนพิเศษไว้ทุบกระจกหน้าต่างอย่างน้อย 2 อัน ติดตั้งที่ด้านซ้ายและด้านขวาของตัวรถ ใกล้บานกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ (tempered) และต้องมีถังดับเพลิงขนาดไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม ติดตั้งไว้อย่างน้อย 2 ถัง คือด้านหน้ารถ 1 ถังและด้านหลังรถอีก 1 ถัง 

แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เห็นว่ามีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ มาตรฐาน และกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ที่ก้าวหน้ากว่าไทยเรามาก อย่างเช่น ในยุโรปเขาห้ามนำรถเก่าซึ่งมีอายุเกินกำหนดแล้ว มาวิ่งบนท้องถนน เพื่อลดอันตรายจากอุบัติเหตุ อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน UNECE R107 ที่ให้ติดตั้งระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยในจุดล่อแหลมของรถ และระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่บริเวณเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยพ่นน้ำยาออกมาดับไฟไหม้หลังจากเกิดเหตุเพียง 7 วินาที นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ใช้ก๊าซเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นซีเอ็นจี หรือแอลพีจี มาขับเคลื่อนรถบัสโดยสาร เพราะติดไฟได้ง่าย 

ส่วนวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในรถโดยสารก็มีข้อกำหนดให้เป็นวัสดุทนไฟ ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟได้โดยง่าย แม้ว่ามาตรฐานด้านการลุกไหม้นี้ ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2565 แต่ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังได้ จึงมีรถจำนวนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ผ่าน จากจำนวนรถบัสโดยสารไม่ประจำทางทั้งหมดกว่า 1 หมื่นคัน 

ในประเทศสหรัฐอเมริกา รถโดยสารที่ใช้รับส่งนักเรียนได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ เลยมีรูปร่างแตกต่างจากรถทั่วไป สีเหลืองสด สังเกตเห็นได้ชัด และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประตูฉุกเฉิน ซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังของรถ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง แต่รถรับส่งนักเรียนของเด็กไทยกลับด้อยมาตรฐานกว่าอย่างชัดเจน มักเป็นรถตู้ทั่วไปหรือรถกระบะที่นำมาดัดแปลงต่อหลังคาเป็นรถสองแถวรับส่งนักเรียน จึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง จนเด็กได้รับบาดเจ็บ 

รถโดยสารสำหรับนักเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา

หวังว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนี้ จะนำไปสู่การเข้มงวดกวดขัน ตลอดจนปรับปรุงมาตรฐานรถโดยสารให้ใกล้เคียงกับของประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น ไม่ใช่การออกคำสั่งให้ยกเลิกทัศนศึกษา ซึ่งตกเป็นแพะรับบาปแทน 


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ภาพ: อินเทอร์เน็ต 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!